สมัยนั้น ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐ เศษ นับว่ายังเป็นยุคสมัยโบราณอยู่ ถนนหนทาง รถยนต์โดยสาร วิทยุ หนังสือพิมพ์
ไฟฟ้ายังไม่มีเหมือนปัจจุบันนี้ ตามชนบทบ้านนอก
ยังมีสภาพเป็นสังคมไทยแท้แต่โบราณ ประชาชนก็ทำไร่ทำนากันไปพอเลี้ยงชีพ
เลี้ยงครอบครัว ไม่ได้ทำเพื่อขายเอาเงินมากมายมั่งคั่งร่ำรวยอะไร
เรียกว่าทำมาหากินกันจริงๆ เสร็จจากหน้านา
ก็ไม่มีเครื่องหย่อนใจอะไร วัดต่างๆ จึงมักจะจัดให้มีมหรสพ
แสดงในวัดบ้างเป็นครั้งคราวในฤดูตรุษสงกรานต์
พอให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนอารมณ์บ้าง พวกนักล่ำนักเลงก็กินเหล้า
เล่นการพนัน ตีไก่ กัดปลา สูบฝิ่นกินยา เล่นโปเล่นถั่วกันไปบ้าง พวกนี้เป็นพวกรักชั่วหามเสา ที่รักดีหามจั่ว
หวังจะบรรเทาเบาบางความทุกข์ในชีวิต ก็มักจะเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ถือศีลอุโบสถ
หรือที่มีอุปนิสัยแก่กล้าในทางบุญ ก็บวชเรียนกันคนละ ๓ – ๔ – ๕ พรรษา
คนที่บวชนี้ก็มีอยู่ ๒ พวกใหญ่ๆ พวกหนึ่งหวังทางลาภยศ ชื่อเสียง ก็เรียนนักธรรมบาลี
เพื่อจะเป็นนักปราชญ์ในทางศาสนา เป็นนักเทศน์ เป็นเจ้าคุณ มียศศักดิ์
มีลาภทานสักการะไปทางหนึ่ง อีกพวกหนึ่งก็มุ่งทางปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐาน เรียนเวทมนต์คาถา
เรียนเพ่งฌานภาวนาสมาบัตินั่งทางใน แต่คนที่เรียนทางนี้มีน้อย
ต้องมีอุปนิสัย มีใจรัก ต้องเสียสละ ต้องยอมลำบากลำบน ออกธุดงค์เดินป่า
ต้องเคร่งครัดในศีลในวินัยปฏิบัติ จะหาคนที่ใจจริง ยอมอุทิศตน อุทิศชีวิต
เพื่อบำเพ็ญบารมีอย่างนี้หายาก
ในจำนวนพระภิกษุที่หายากนี้
ก็มีหลวงพ่อเงินอยู่องค์หนึ่ง เมื่อบวชได้ ๕ พรรษาพ้นนิสัยมุตก์แล้ว
ก็ตั้งใจปรารถนาจะออกธุดงค์ เดินป่าไปต่างบ้านต่างเมือง หลวงพ่อเงินจึงได้เตรียมเครื่องอัฐบริขาร
สำหรับธุดงค์เดินป่าพร้อมตามแบบแผนของครูอาจารย์
แล้วก็ออกเดินธุดงค์เท้าเปล่ามุ่งแสวงบุญไปยังภาคเหนือ ได้เดินทางไปจนถึงสระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ สมัยนั้นยังเป็นป่าดง ถนนหนทางไม่มี ต้องเดินป่า
ทุ่งนา ป่าละเมาะลัดเลาะเรื่อยไป ค่ำไหนนอนนั่น เหมือนนกขมิ้นเหลืองอ่อน การธุดงค์เดินป่านี้
ต้องตั้งจิตอธิษฐานแต่แรกเดินทางด้วยสัตยาธิษฐานอันมั่งคงว่า “จะเดินธุดงค์เพื่อเอาบุญเอากุศล
บูชาพระบรมศาสดา สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกอบรมจิตอย่างยิ่งยวดกวดขัน
ต้องตั้งใจอุทิศชีวิตร่างกายให้เป็นทานแก่สัตว์ ถ้าจะมีสัตว์เสือสิงห์ตัวใดหิวอาหาร
จะมากัดกินเสียก็ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ไม่อาลัยแก่ชีวิต ตั้งใจอุทิศเพื่อเป็นทานบารมี
ดังเช่นพระเวสสันดรยอมเสียสละเป็นทานได้ทั้งช้างคู่บ้านคู่เมือง บุตรธิดา
และพระมเหสี” การเดินธุดงค์จะต้องไม่ห่วงกังวลเรื่องที่อยู่และอาหาร
ว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารที่ไหนเลี้ยงชีวิต จะมีผู้ตักบาตร ถวายอาหารหรือไม่ ถ้อยคำของหลวงพ่อที่กล่าวแก่ผู้ไต่ถามระหว่างเดินธุดงค์
ก็คือ
"อาตมาได้ตั้งใจอุทิศสังขารให้เป็นทานแก่สัตว์ที่หิวกระหายอยู่แล้ว
จึงไม่กลัวภัยอันตรายจากสัตว์ร้าย"
"อีกอย่างหนึ่งอาตมาเชื่อว่า จิตที่เป็นกุศลด้วยการแผ่เมตตาอยู่เสมอ
สัตว์ทั้งหลายก็ต้องไม่มีแก่ใจมาปองร้ายอาตมา"
คราวหนึ่งหลวงพ่อเงินเล่าว่า ได้ธุดงค์เข้าไปในบริเวณสนามยิงเป้าของทหาร
ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งทหารกำลังซ้อมยิงเป้ากันอยู่ เมื่อรู้ก็ตกเข้าไปอยู่ในท่ามกลางอันตรายเสียแล้ว
หลวงพ่อเงินจึงหยิบเอาพระเครื่องของหลวงพ่อรุ่งขึ้นมา
แล้วน้อมจิตอธิษฐานถึงคุณพระรัตนตรัยว่า
"ด้วยบารมีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากอาตมามีวาสนา ที่จะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกต่อไปภายหน้า
ขออย่าให้อาวุธมาต้องกายอาตมาเลย"
ด้วยสัตยาธิษฐาน
และบุญกุศลของหลวงพ่อเงิน กระสุนมิได้ต้องกายเลย เพียงเฉียดไปเท่านั้น
สักครู่หนึ่งทหารก็ควบม้าเข้ามาหาท่าน
แล้วถามว่า
"ทำไมท่านจึงเข้ามาในเขตยิงเป้าของทหาร"
หลวงพ่อเงินตอบเรียบ ๆ ว่า
"อาตมาไม่ทราบเลยว่า บริเวณนี้มีอันตราย จึงเดินเรื่อยเข้ามาโดยไม่รู้
เมื่อรู้ก็ตกอยู่ท่ามกลางอันตรายเสียแล้ว แต่เมื่อปลอดภัยก็เป็นความสวัสดีของเราทั้ง
๒ ฝ่าย"
เข้าฤดูฝน หลวงพ่อเงิน จึงได้เดินทางกลับวัดดอนยายหอม
เมื่อถึงวัดนั้น แม้แต่พี่ชายก็จำท่านไม่ได้
เพราะผอมและดำไปด้วยตรากตรำเดินธุดงค์
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น