วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

(ตอนพิเศษ) พระธรรมเทศนา...หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม



(หมายเหตุ : 
ขอนำเชิญพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อเงินท่าน มาแสดงเป็นมงคลเปิดบล็อกพิมพ์หนังสือชีวประวัติเรื่องราวของท่านให้อ่านกันในครั้งนี้ ... และขอน้อมเป็นพรรับปีใหม่ไทย สำหรับวาระสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ด้วยกันเทอญ)





พระธรรมเทศนา
ของ

พระธรรมวาทีคณาจารย์ 
(หลวงพ่อเงิน)

วัดดอนยายหอม

ในวารดิถีสิ้นปี พุทธศักราช ๒๕๐๒
ต้อนรับปีพุทธศักราช ๒๕๐๓


      

อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร
ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลนฺติฯ

ณ บัดนี้ อาตมาขออนุโมทนาแด่พุทธศาสนิกชน ด้วยพระพุทธจตุรพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ นี้ จงมีแก่ท่านพุทธศาสนิกชนผู้ใคร่ต่อการฟังธรรม  การฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นบุญจริยา เพราะการฟังธรรมเป็นทางให้เกิดปัญญา ความคิดเห็นลึกซึ้ง ได้ความแยบคายอย่างดีในเหตุผล สามารถทำตนให้เปลี่ยนอัธยาศัยใจคอที่หยาบให้ประณีตขึ้น ตลอดจนทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากอุปกิเลส  อุปกิเลสจะเบาบางลงได้ก็เพราะอาศัยการฟังธรรม  ฉะนั้นท่านพุทธศาสนิกชนจึงใคร่ในการฟังธรรม
เนื่องในวาระดิถีส่งท้ายปีเก่า ๒๕๐๒ และอวยพรต้อนรับปีใหม่ พระพุทธศักราช ๒๕๐๓  ในโอกาสที่ปีเก่าจะสิ้นไปและปีใหม่จะมาถึงนี้ จึงมีประเพณีกล่าวคำขวัญ คำอวยพร ความสุขความเจริญให้แก่กัน ตามความปรารถนาของตน   แต่เพราะเหตุที่ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนามาแต่โบราณกาล จึงเติมคำว่าศีลซึ่งเป็นบัญญัติทางพระพุทธศาสนาเข้าด้วย จึงได้กล่าวรวมกันว่า ให้ศีลให้พร  เพราะพรในพระพุทธศาสนา ย่อมให้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา ทั้งผู้ให้ก็ตั้งใจให้ด้วยความเมตตาปรานีหวังดีต่อกัน  ฉะนั้นให้ศีลให้พรเป็นการประกาศความหวังอันดีมีอยู่ในใจ โดยปรารถนาให้ผู้รับมีความสุขความเจริญ  ตามปกติทุกคนก็ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ตนอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ การให้ศีลให้พรจึงเป็นที่ต้องการและสพอัธยาศัยของทุกคน ต่างก็ตั้งใจทำความดีเพื่อให้สมความปรารถนา เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุข ความเจริญ
กาลเวลาได้หมุนเวียนเปลี่ยนไป วัตถุต่างๆ ก็ย่อมเจริญขึ้นเป็นลำดับ แม้มหรสพก็เจริญก้าวหน้าตามกันไป  ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุ คนเราทุกวันนี้ก็หนักไปในทางด้านวัตถุนิยม ส่วนด้านจิตใจนั้นดูไม่ใคร่จะปรับปรุงให้หันเข้าหาพระพุทธศาสนา ดูจะห่างไกลออกไปทุกที และหันหลังให้พระพุทธศาสนายิ่งขึ้น เพราะแรงดันวิวัฒนาการด้านวัตถุนิยม  คนเป็นจำนวนมากมักพูดกันว่าศีลธรรมและศาสนาเสื่อม  ความจริงไม่ใช่ศีลธรรมและศาสนาเสื่อม แต่ประชาชนและเยาวชนต่างหากมีจิตใจเสื่อมจากศีลธรรม  
เมื่อกาลออกจากปีเก่า ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจแก่พี่น้องชาวพุทธทั้งหลายให้รู้ว่า กาลเวลาได้ผ่านไปมิได้ล่วงไปเปล่า ย่อมนำชีวิตของเราไปด้วย  ท่านได้ทำอะไรเป็นความดีของท่านไว้บ้าง หากท่านยังไม่ได้ทำความดีก็จงรีบทำเสีย เพราะความแก่ เจ็บ ตายก็ย่อมขับต้อนอายุของสรรพสัตว์ไปฉะนั้น  เมื่อความจริงมีอยู่เช่นนี้ ท่านทั้งหลาย จงอย่าได้ประมาท จงพยายามสร้างความดีทั้งแก่ตนและส่วนรวม  ในที่สุดของชีวิตต่างคนก็ต้องจากโลกนี้ไป ไม่มีใครที่จะอยู่ในโลกนี้ได้ตลอดไป เพราะจะต้องแตกสลายด้วยกันทั้งนั้น  มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นที่จะดำรงอยู่ในโลกนี้ได้ชั่วฟ้าดินสลาย สิ่งนั้นคือความดีความงามที่เราได้กระทำไว้ ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่  ดังนั้นตัวเราจะเป็นอะไรก็ตามทีเถิด ขอให้เราได้สร้างความดีความงามประดับไว้ในโลกนี้บ้างไม่มากก็น้อย ก่อนจะอำลาชีวิตจากโลกนี้ไป
เมื่อท่านทั้งหลายออกจากปีเก่าแล้ว จงออกจากความชั่วร้ายที่เกิดจากกาย วาจา ใจ  คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน  หากออกจากปีเก่าโดยไม่ละความชั่วออกจากตัวของท่านบ้าง การออกนั้นก็ไม่มีความสำคัญ หรือไม่มีความหมายอะไรเลย   หรือมิฉะนั้น เราจะต้องออกๆ เข้าๆ ปีเก่าปีใหม่กันไม่รู้จักจบ จักสิ้นสุด  ควรจะทำวันออกจากปีเก่าอย่างพระภิกษุสงฆ์ทำปวารณาออกพรรษาบ้าง พระภิกษุสงฆ์เมื่อจำพรรษาครบไตรมาสแล้ว ก็ปวารณาออกพรรษา  การปวารณาออกพรรษาก็คือ การมอบตัวของท่านให้แก่ภิกษุสงฆ์ช่วยว่ากล่าวตักเตือนห้ามปราม ในความประพฤติซึ่งอาจพลั้งเผลอบกพร่องของกันและกัน เป็นการป้องกันและทำลายความชั่วร้ายทุจริตต่างๆ ที่จะเกิดมีขึ้น นี่เป็นการปวารณาของภิกษุสงฆ์  
ส่วนฆราวาสผู้ครองเรือน เมื่อออกจากปีเก่าก็ควรทำปวารณาให้แก่กันแลกันบ้างก็จะดีเหมือนกัน เป็นการมอบตัวหรือเป็นการยอมรับฟังคำตักเตือนของกันและกัน เรื่องที่จะเกิดกระทบกระเทือน ผิดพ้องหมองใจทะเลาะวิวาทกัน ก็จะไม่เกิดขึ้น  ที่ไม่เป็นดังนั้นก็เพราะไม่ฟังคำตักเตือนซึ่งกันและกัน จึงไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ จึงเลยกลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต เช่นสามีกับภรรยา บุตรธิดากับบิดามารดา เพื่อนบ้านกับเพื่อนบ้าน อาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ข้าราชการผู้น้อยกับผู้ใหญ่  การอยู่ร่วมหรือทำงานร่วมกันย่อมจะมีความบกพร่องล่วงเกิน ผิดพลาด เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา  เพราะเรายังเป็นปุถุชน ยังหนาไปด้วยกิเลส เมื่อฝ่ายใดบกพร่องผิดพลาดก็ควรตักเตือนให้สติ แนะนำกันโดยดีและให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเรียกว่า อภัยทาน  เมื่อให้อภัยทานแล้วก็ควรทำปวารณาอีก เพื่อหวังความสงบสุขซึ่งกันและกัน ผู้ถูกตักเตือนก็ยอมรับฟังตามเหตุผล  สังคมที่ได้รับความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะขาดการให้อภัยทานและขาดการปวารณากัน
เมื่อออกจากปีเก่าแล้ว จงทำปวารณากันเถิดพี่น้องชาวพุทธทั้งหลาย  การรู้จักระงับความฉุนเฉียวโหดร้าย รู้จักผ่อนปรนให้อภัยกัน เรียกว่า อภัยทาน  อภัยทานนั้นยิ่งให้มากเท่าไรก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น เพราะทำให้ความโลภ โกรธ หลง เบาบางลง เป็นเหตุให้จิตใจสงบระงับไม่ฟุ้งซ่านพล่านไปในอารมณ์ต่างๆ  
เมื่อเข้าปีใหม่ก็จงพยายามน้อมนำเอาธรรมเข้ามาใส่ตัวของท่านไว้บ้าง เรียกว่า โอปนยิโก คือ น้อมธรรมเข้ามาสู่ตน เป็นต้นว่า ฆราวาสธรรม ซึ่งเป็นธรรมเหมาะสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน มีอยู่ ๔ ข้อ  คือ ๑. สัจจะ ความซื่อตรง  ๒. ทมะ ความข่มใจ  ๓. ขันติ ความอดทน  ๔. จาคะ ความเสียสละ   คุณธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้มีอยู่ในบุคคลใด ครอบครัวใด หมู่คณะใด ย่อมมีแต่ความสุขความเจริญฝ่ายเดียว  
ผู้ที่ได้ทำความดีในปีเก่าก็ควรพยายามทำความดีในปีต่อๆ ไป เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา จะเป็นปีเก่าปีใหม่ปฏิบัติได้ทั้งนั้น  ผู้ที่กำลังเดินทางผิดจากศีลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงกลับตัวกลับใจเสียเถิด พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า สูทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท จงตามคุ้มครองรักษาดวงจิต รับถอนตนออกจากหล่มคือกิเลส เหมือนช้างที่ตกหล่ม รีบถอนตนออกจากหล่ม  เมื่อประพฤติได้ดังนี้ ชีวิตของคนจักมีผลไม่เป็นหมัน  เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า คือ ชีวิตย่อมประกอบด้วยประโยชน์ที่เป็นธรรม ถ้าไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่เป็นธรรม ชีวิตก็ไร้ค่า ไม่สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์   ดังนั้นชีวิตของคนฉลาดจึงไม่ไร้ค่า เพราะตนฉลาดมีธรรมอยู่ในใจ  
แต่คนโง่มีชีวิตฟูขึ้นฟุบลงตามโลกธรรม และดึงรั้นไปตามทิฏฐิ  คนเช่นนี้จะทำอะไรมักจะคำนึงถึงโลกเป็นใหญ่ และหมุนไปตามโลกธรรม ๘ คือ มีลาภ ไม่มีลาภ  มียศ ไม่มียศ  สรรเสริญ นินทา  สุข ทุกข์  ความเป็นไปของชีวิตที่ประกอบด้วยธรรมเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าไม่มีหลักธรรมเป็นเครื่องพยุงใจ ทำอะไรก็สักแต่ว่าทำ เป็นการกระทำของทารก เพราะการกระทำด้วยอารมณ์ที่ชอบใจ ที่น่าปรารถนาของตน ชีวิตที่ทำตามความดึงดันของทิฏฐิมีความเห็นปรารภตนเป็นใหญ่ จะทำอะไรก็ทำเพื่อตน ไม่เลือกว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ปราศจากหลักธรรมในใจ กลายเป็นคนรกโลก
ส่วนชีวิตของคนฉลาดจะทำอะไรมีธรรมเป็นใหญ่ เป็นลักษณะของชีวิตที่มีประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น  การที่ทุกสิ่งที่เป็นไปด้วยธรรม ย่อมปราศจากการเบียดเบียนตนและผู้อื่น  ชีวิตของผู้ประกอบด้วยธรรมเช่นนี้ ย่อมมีความเข้มแข็งเกิดในตน เป็นคนไม่หวั่นไหวไปตามทิฏฐิของตน ชีวิตเช่นนี้ได้ชื่อว่าชีวิตที่เป็นไปตามธรรม เพราะธรรมคือเหตุและผล  คนประกอบด้วยธรรมดังกล่าวมานี้ ย่อมมีแต่ความสุขทั้งตนเองและผู้อื่นด้วย  ส่วนบุคคลที่ไม่อาจหาความสุขกายสบายใจได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแล้วนั้น ก็เป็นเพราะตนของตนได้ประพฤติปฏิบัติไปในทางนอกธรรมนอกวินัยที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนไว้เป็นหลักปฏิบัติ เช่นไปประพฤติทุจริตมิจฉาชีพ เป็นต้น จึงได้รับแต่ความเดือดร้อน
ส่วนผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็ประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีความเพียรชอบ ประกอบกสิกรรมพานิชกรรมเป็นสัมมาอาชีวะด้วยความราบรื่น  บางท่านก็ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งราชการ ด้วยความขยันขันแข็งซื่อสัตย์สุจริต มุ่งความสุขความเจริญแก่ตนและชาติ ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ก็ประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นต้นว่า บริจาคทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ตามความสามารถของตน  ดังนั้นจึงได้รับแต่ความสุขสงบทางกายและใจเป็นผลสนอง ไม่หลงงมงายไปในทางประพฤติผิด ดำเนินชีวิตแต่ในทางที่ถูกที่ควร สำรวมสังวรระวังตั้งอยู่ในปหานปธาน เพียรละความชั่วร้ายเก่าๆ ให้เบาบางจากสันดาน ไม่ประพฤติลามกให้ความชั่วรั่วไหลเข้ารดตน ระวังปิดช่องแห่งหายนะไม่ให้เข้ามาสู่ตนอันเป็นผลเผ็ดร้อน ทุกข์โทษก็จะไม่เกิดขึ้น
เหตุดังนั้นท่านจึงสอนให้พยายามปิดประตู คือทวารทั้ง ๙ อันเป็นทางที่จะนำอกุศลไหลเข้ามาท่วมทับจิตใจ ดังนี้จึงได้ชื่อว่าป้องกันอันตรายภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวน  และยังจะต้องกำจัดอันตรายภายใน คือพยายามระวังความโลก โกรธ หลง ให้เบาบางลงด้วยสังวรปธาน  เมื่อเพียรระวังบาปลามก ๒ ประการให้เบาบางลงแล้ว นับว่าความสงบสุข จะบังเกิดตามสมควร  เมื่อละความชั่วร้าย คือบาปเก่าได้แล้ว ก็บำเพ็ญกุศลใหม่ให้เกิดขึ้น  เมื่อกุศลใหม่เกิดขึ้นแล้วก็เพียรรักษา เรียกว่า อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดแล้วอย่าให้เสื่อม ดุจเกลือรักษาความเค็มของเกลือไว้ฉะนั้น  เมื่อประพฤติได้ดังนี้ก็จะมีแต่ความสุขอันแท้จริง
ส่วนผู้ที่ยังติดอยู่ในโลกธรรม หลงถือว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านี้ที่จะบันดาลความสุขมาสู่ตนเป็นของแท้จริง  ส่วนทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ลาภ ยศ ดังกล่าวแล้วเป็นสุขเทียม เพราะยังมีทุกข์เจือปน  คือ เมื่อหาก็เป็นทุกข์ ได้มารักษาไว้ก็เป็นทุกข์ เมื่อจากไปก็เป็นทุกข์  พระท่านเรียกสุขชนิดนี้ว่า สามิสสุข สุขอิงอามิส คือสิ่งของ  สุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งของเป็นสุขในตัวเอง พระท่านเรียกสุขชนิดนี้ว่า นิรามิสสุข สุขไม่ต้องอิงอามิส  สุขที่เกิดจากอามิสคือสิ่งที่ล่อใจ เช่น มีทรัพย์สมบัติมาก มียศศักดิ์ สรรเสริญ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่ายินดี ก็ล่อใจให้เห็นว่าเป็นสุข  แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน ไม่เที่ยงไม่คงที่อยู่ตามเดิม เมื่อถึงคราวก็ย่อมวิบัติแปรปรวนไป เช่น ทรัพย์สมบัติหมดไป ยศศักดิ์เสื่อมไป ถูกนินทา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เปลี่ยนแปลงไป ก็กลับเป็นทุกข์ขึ้น  สุขอิงอามิสแม้จะเป็นสุขก็เป็นสุขไม่แท้ เป็นสุขเทียม ความจริงก็คือความทุกข์นั่นเอง  ผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญาหลงถือว่าเป็นสุข ก็เสาะแสวงหาโดยไม่คำนึงถึงทุกข์โทษ เห็นแต่ประโยชน์ที่จะได้ด้วยความมืดมน เพราะขาดการเล่าเรียนศึกษา การอ่านการฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ด้วยพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นดวงประทีปสำหรับส่องโลกให้สว่าง ด้วยโลกคือหมู่สัตว์ ย่อมมืดมนอนธการด้วยอำนาจอวิชชา โมหะเข้าครอบงำ ทำให้ปัญญาทุพพลภาพ มุ่งแต่ลาภยศ สรรเสริญ และความสุข  เพราะเมาในวัยว่าตนยังหนุ่มสาว เมาในกายว่าไม่มีโรค เมาในชีวิตไม่คิดถึงความตาย แสวงหาแต่วัตถุที่จะเอาติดตนไปไม่ได้  ข้อนี้ไซร้ เนื่องมาแต่การขาดการฟังธรรม อันเป็นโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฉะนั้น ท่านพุทธศาสนิกชนมาเห็นโทษของการขาดการฟังธรรม จึงไม่ประมาทในการฟังธรรมเทศนา เพื่อจะให้หายหลงหายเมาดังกล่าว  แล้วก็เพราะอาศัยได้สดับฟังธรรมเทศนา จึงได้มีศรัทธาในการฟังและประพฤติปฏิบัติธรรม ดังท่านพุทธศาสนิกชนได้สดับอยู่ ณ บัดนี้ เพื่อหวังจะให้เกิดศรัทธาสติปัญญาอันแก่กล้า พิจารณาเหตุผลแห่งธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็น อปันนกปฏิปทา คือยังผู้ปฏิบัติให้ดำเนินไปในทางที่ถูกไม่ผิดพลาด  เป็นนิยยานิกธรรม คือสามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้จริง เป็นอุปสมิกธรรม คือนำไปสู่ความสงบระงับให้ถึงความดับสนิทไม่เร่าร้อนด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ นำไปสู่ความสุขนิราศภัย  ก็เพราะอาศัยไม่ทำชั่ว ทำแต่สุจริต รักษาจิตให้ผ่องใส เป็นทางไปพระนิพพาน

ในอวสานที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ในวาระดีถีส่งปีเก่ารับปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๓  ขอท่านพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตเป็นกุศลทั้งหลาย จงเจริญด้วยจตุพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละนี้ จงมีแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน  อายุขอให้ท่านมีอายุมั่นยืนยาว วรรณะขอให้มีสีสันวรรณะผุดผ่องทั่วทั้งสรีระกาย ดูเป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้ที่ทัศนาการเห็น สุขะจงตั้งอยู่ในความสุขกายสุขใจ พละขอให้ท่านมีกำลังกายกำลังปัญญาอันเข้มแข็ง สำหรับจะได้ต่อต้านกับกิจการงานทัพพะสัมภาระทั้งปวงให้ลุล่วงสัมฤทธิผล ทั้งทางโลกและทางธรรม สมดังความปรารถนาทั่วกันทุกท่านเทอญ  ซึ่งมีนัยดังรับประทานวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้.




วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม (คำนำ)




พระราชธรรมาภรณ์
หลวงพ่อเงิน
วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม


โดย เทพ สุนทรศารทูล


(คำอุทิศ)

ข้าพเจ้าขออุทิศเรื่องนี้
เพื่อถวายพระอุปัชฌาย์อาจารย์
เนื่องในโอกาสที่ท่านล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว
ครบรอบปีที่ ๒๐
ท่านอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ ปีขาล
ตรงกับวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๓
ท่านล่วงลับดับขันธ์จากโลกนี้ไปแล้ว
เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙
อายุ ๘๖ ปี

เทพ สุนทรศารทูล




คำนำ

หนังสือเรื่องชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม หรือพระราชธรรมาภรณ์ (เงิน จันทสุวัณโณ) นี้  ข้าพเจ้าเขียนเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.. ๒๕๒๙  หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อยู่บ้านมีเวลาว่าง จึงเขียนขึ้นเพื่อบูชาพระคุณของหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ เป็นการศึกษาธรรมะไปด้วย  การเขียนประวัติพระอริยสงฆ์เป็นการเขียนเพื่อปฏิบัติบูชา พระสุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม แก่พระอริยสงฆ์) พระอุชุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติงดงามทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ เหลียว มอง พูด ฉัน ขบ เคี้ยว) เป็นพระญายปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต) พระสามีจิปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยจิตจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า อย่างมอบกายถวายชีวิต ไม่กลัวอดอยาก ไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวตาย) หลวงพ่อเงินเป็นพระอริยสงฆ์ตามบทสรรเสริญพระอริยสงฆ์ที่กล่าวไว้ในบทสุปฏิปันโน ไม่ขาดตกบกพร่องเลย  จึงไม่ต้องสงสัยว่าพระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) เป็นพระอริยสงฆ์หรือเปล่า ท่านเป็นพระอริยสงฆ์แน่นอน แต่จักเป็นชั้นไหนเท่านั้นที่เราไม่รู้ ว่าท่านเป็นพระโสดาบัน หรือ พระสกิทาคามี หรือพระอนาคามีบุคคล เราไม่รู้

ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้จบเมื่อวันที่  มีนาคม พ.. ๒๕๒๙  ใช้เวลา  เดือนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เขียนอย่างรวบรัด เนื่องจากประวัติโดยพิสดารนั้น นายชื่น ทักษิณานุกุล ลูกบุญธรรมของหลวงพ่อได้เขียนไว้แล้ว ตั้งแต่ พ.. ๒๕๐๖ ชื่อหนังสือนั้นว่า "หลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งดอนยายหอม"  

หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเรื่อง นายชื่น ทักษิณานุกูล เขียนไว้  เพราะนายชื่นเป็น "อันเตวาสิก" ศิษย์ก้นกุฏิ รู้อะไรเกี่ยวกับหลวงพ่อโดยละเอียด  ส่วนข้าพเจ้าเป็น "พาหิรวาสิก" ศิษย์ภายนอกที่หลวงพ่อบวชให้เท่านั้น  บวชแล้วก็ไปอยู่เสียที่วัดห้วยจระเข้ ไม่ได้อยู่กับหลวงพ่อโดยใกล้ชิดเหมือน นายชื่น ทักษิณานุกูล  ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับ นายชื่น ทักษิณานุกูล ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยอย่างหนึ่ง และบัดนี้ นายชื่น ทักษิณานุกูล ก็ล่วงลับไปนานแล้ว จึงไม่ต้องขออนุญาตคัดลอกเอาเรื่องของเขามาเขียนใหม่ในคราวนี้  เรามีจุดประสงค์ร่วมกันคือเขียนเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณครูอาจารย์ให้โลกรู้ นายชื่น คงจะอนุโมทนาด้วย   

เขียนเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้นาน ไม่กล้าพิมพ์เผยแพร่ กลัวจะขาดทุนเปล่า เพราะมีคนคัดลอกเอาไปเขียนกันหลายหนหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งเมื่อ พ.. ๒๕๓๕  ฝันเห็นหลวงพ่อเงินยืนอยู่บนภูเขา ข้าพเจ้ากำลังเดินขึ้นไปหาท่าน แต่ไม่กล้าขึ้นไปถึงท่าน กลัวตกภูเขา  ดูเหมือนจะเป็นปริศนาธรรมที่ท่านมาเตือนให้พิมพ์เรื่องนี้ออกเผยแพร่   เมื่อรู้สึกว่าเป็นหนี้ที่ยังมิได้ชดใช้ท่าน จึงได้พิมพ์เรื่องนี้เผยแพร่ในครั้งนี้  *ท่านผู้ใดอ่านแล้วไม่จุใจอยากจะทราบรายละเอียด ขอให้อ่านจากเรื่อง "หลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม"  มีอยู่ที่หอสมุดวัดดอนยายหอมหรือตามร้านหนังสือเก่าคงมีเหลืออยู่บ้าง

เทพ สุนทรศารทูล

๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๗


(*เขียนทิ้งไว้ถึง ๑๐ ปี ตั้งแต่วันที่  มีนาคม ๒๕๒๙ พึ่งพิมพ์เผยแพร่ พ.. ๒๕๓๙)