วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๓๔ พระธรรมเทศนา ปาพจน์ (๒)





พระธรรมเทศนา "ปาพจน์" 

  เมื่อทราบชัดว่า พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่หาได้ยากดังน้ันแล้ว  ก็ควรจะน้อมเข้าไปในตนเพื่อให้คู่ควรแก่ขาติกำเนิดและชีวิตร่างกายของตนที่หาได้ยากและมีค่าอันสูง  ร่างกายและอวัยวะส่วนหนึ่งๆ ล้วนแต่เป็นของมีค่าอันสูง เช่น  เมื่อมีผู้ต้องการลูกนัยน์ตาหรือแขนขาของเราสักข้างหนึ่ง จะให้เงินเราสักหมื่นบาท  เมื่อขณะที่เราจนๆ อยู่อย่างนี้  เราก็คงไม่ต้องการเงินหนึ่งหมื่ีนบาท เมื่อรวมอวัยวะทุกส่วนพร้อมด้วยร่างกาย จะรู้ดีว่ามีค่าราคาเป็นแสนๆ บาท  แต่บางคราวคนที่โง่เขลามักจะตึราคาค่าตัวต่ำ  เอาร่างกายไปแลกกับของที่มีราคาค่างวดต่ำ  เช่น ไปลักเล็กขโมยน้อย  ถึงกับถูกเจ้าทรัพย์ฆ่าตาย  เช่นนี้น่าเสียดายและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทำให้ตนเป็นคนโง่เขลาไร้สติปัญญาเป็นอย่างมาก และเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทำตนให้เป็นคนโง่เขลาไร้สติปัญญาเป็นอย่างมาก  ไม่สมกับที่ได้ชาติกำเนิดมาเป็นมนุษย์อันสูงกว่าเดียรฉาน  ควรมีสติสัมปชัญญะ ระลึกถึงตัวว่าเรามีอายุยืนมาได้ถึงเพียงนี้ ก็นับว่าเป็นบุญลาภไม่ควรจะประมาทในชึวิต ควรจะหันหน้าเข้าหาหนทางทั้งแปดเส้น  คือ อักฐังคิกมรรคที่พระองค์ได้ตรัสไว้ คือ สัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ เห็นว่าคนเรามีกรรมเป็นของตัว ทำดีจักได้รับผลดี  ทำชั่วจักได้รับผลชั่ว  เมื่อทราบว่าความชั่วให้ผลเผ็ดร้อน  จักได้ดำเนินในสัมมาสังกกัปปะ  ดำริออกเสียจากความชั่ว นี่คือองค์ของปัญญา  เมื่ือองค์ของปัญญาเกิดขึ้นแล้ว  ก็จักรู้จักผิดชอบชั่วดี   ก็จะได้ตั้งอยู่ในศีล คือ สัมมาวาจา  เจรจาชอบ  สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ  สัมมาอาชีโว  เลี้ยงชีวิตชอบ  สัมมาวายาโม เพียรชอบ คือเพียรละบาปเก่าที่เคยมีมาแล้วอยู่ให้มีประจำสันดาน เรียกว่า ปะหานะปธาน  เพียรระวังบาปใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นในสันดาน เรียกว่า สังวรปธาน  เมื่อบาปเก่าเบาบางหรือหมดไป บาปใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น จิตสันดานก็ย่อมผ่องใส เมื่อจิตผ่องใสควรกระทำความเพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน เรียกว่า ภาวนาปธาน  เมื่่อกุศลเกิดขึ้นแล้วควรมีอนุรักขณาปธาน  คือ เพียรรักษากุศลที่เกิดแล้วไม่ให้เสื่อม  เมื่อประพฤติปฎิบัติได้ดังนี้ผลคือสุขกายสุขใจก็จะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น  นี่เป็นความเพียรทางพระพุทธศาสนา ถ้าจะนำเอาไปใช้ในทางโลกก็จะใช้ได้ผลเป็นอย่างดี เช่น การทำนา ทำสวน  เราก็จะต้องฆ่าหญ้าเก่าที่เกิดอยู่ในพื้นที่นาที่สวนเสียก่อน ต่อไปก็ควรระวังลูกหญ้าใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น  แต่นั้นที่นาที่สวนก็จะเตียนอยู่ เราก็จะไม่ปล่อยให้เตียนอยู่เปล่า  ก็จะลงมือหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารในที่นาที่สวน เมือหว่านพืชพันธุ์ลงไปแล้วก็หมั่นรักษา เช่น น้ำมาวิดน้ำออก เมือแห้งแล้ว ไม่มีน้ำก็วิดน้ำเข้า  หรือคอยรดน้ำ เมื่อมีข่าวพวกสัตว์หรือแมลงไปรบกวนก็คอยระมัดระวังให้ดี  แต่นั้นพืชผลก็จะงอกงามไพบูลย์ เพราะเราทำการงานถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  และเหมาะสมแก่กาละเทศะหรือภูมิประเทศเหตุการณ์ที่เป็นอยู่  แต่น้ันก็เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ  เมื่อทรัพย์สมบัติไพบูลย์ก็จะตั้งอยู่ในความสุขความเจริญ  จะเห็นได้ว่าคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นของใช้ได้ทั้งทางโลกทางธรรม ฉนั้น ควรจะนำเอาไปปฎิบัติ สัมมาสติ ระลึกชอบ ระลึกไปในทางที่ดี  สัมมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ชอบในที่นี้หมายถึงชอบด้วยธรรมะ ไม่ใช่ชอบตามใจตน  ผู้ใดปฎิบัติตามศีลสมาธิ ปัญญา ได้ดังกล่าวมานี้  ก็จะได้รับความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม  สมตามความปรารถนาอันเป็นจุดหมายปลายทาง  คือ  ความอุดมสมบรูณ์พูนสุขตามอานิสงส์ ศีลที่ท่านกล่าวไว้ว่า  สีเลน สุคติ ยนฺติ  ผู้ที่จะมีความสุขได้ทั้งชาตินี้และชาติหน้าก็อาศัยศีลบริสุทธิ์  สีเลน โภคสัมปทา  ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ก็เพราะมั่นอยู่ในศีล   สีเลน สุคตึ ยนฺติ  ผู้ที่จะมีความสุขได้ทั้งชาตินี้และชาติหน้าก็เพราะมั่นอาศัยศีลบริสุทธิ์  ฉนั้น ขอให้ท่านท้ังหลายจงมั่นอยู่ในศีลและธรรมก็จะได้รับประโยชน์สองประการ  คือ  ทิฎฐิํมมิถัตถประโยชน์  ประโยชน์ในชาตินี้  สัมปรายิกัตถประโยชน์  คือ ประโยชน์ในชาติหน้า  การที่ได้ชาติกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว  ควรจะถือเอาประโยชน์ทั้งสองประการดังพรรณามาแล้ว  อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์   พบพระพุทธศาสนาที่เป็นของหาได้ยาก  จึงควรปฎิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คำสอนในพระพุทธศาสนาถึงจะมีมากมายก็จริง  ถ้าสรุปความให้สั้นก็มีอยู่สองประการ  คือ ละความชั่วหนึ่ง  บำเพ็ญดีหนึ่ง  ตามบาลีกล่าวว่า  สพฺพปาปสฺส  อกรณํ จงละเสียซึงบาปน้อยใหญ่ด้วย  กาย  วาจา  ใจ  กุสลสฺสูปสมมฺทา  จงบำเพ็ญกุศลน้อยใหญ่ด้วย กาย วาจา  ใจ  สจิตฺตปริโยทปนํ   จงตามรักษาจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส  เอตํ พุทธานสาสนํ  นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ทุกๆ พระองค์มาด้วยประการฉะนี้

         อกุศล  กรรมทำได้โดยทุจริต     ย่อมตามติดทุกก้าวเข้าล้างผลาญ
เหมือนเงาดำสนิทติดประจาน             จนวายปราณปรางค์จากสุขทุกข์ประจำ

    กุศลกรรมทำไว้ด้วยสุจริต               ย่อมตามติดชูชุบอุปถุัมภ์
เหมือนร่มเงา ณ สภาสง่างาม             แสนชุ่มฉ่ำเปรมสุขทุกทิวา

                                                                         
                                                                         พระครูทักษิณานุกิจ 

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่๓๔ พระธรรมเทศนา ปาพจน์ (๑)


พระธรรมเทศนา  "ปาพจน์"

     ขอแนะนำให้สติตักเตือนเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายว่า  เราได้ชาติกำเนิดมาเป็นมนุษย์ มีร่างกายบริสุทธิ์ด้วยอวัยวะทุกส่วนไม่บกพร่อง  คือตาหูไม่บอดหนวก จิตใจไม่ใบ้บ้าเสียจริตผิดธรรมดามนุษย์  มีสติปัญญาสามารถทำกิจการงานทั้งปวงให้ลุล่วงสำเร็จผลตามความปรารถนาซึงเป็นวิสัยชองมนุษย์ที่มีชาติอันสูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน  การที่เราได้ชาติกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นของเกิดได้ยาก  มิใช่ของเกิดได้ง่าย ตามบาลีท่านกล่าวไว้ว่า  "กิจฺโฉ  มนุสส ปฎิลาโภ"   การเกิดเป็นมนุษย์ท่านว่าเป็นลาภอันสูงสุด  นับว่าเป็นสิงที่หาได้แสนยาก  ที่ได้ดังนี้ก็เพราะได้สร้างสมอบรมบารมีมาแต่ชาติปางกอ่น  คือคุณงามความดีที่เราเรียกว่า  ปุพเพกตปุญญตา  มาจนเต็มรอบบริบูรณ์แล้ว  จึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์  มีร่างกายบริสุทธิ์สมบูรณ์ทุกส่วน  นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐดังกล่าวแล้ว  ถึงกระนั้น ท่านก็ยังจัดว่ามนุษย์เป็นไปได้หลายจำพวก  คือ  มนุสสธมฺโม บ้าง มนุสฺสเปโต บ้าง มนุสฺสยกฺโข บ้าง  มนุสฺสติรจฺฉาโน  บ้าง  อธิบายว่า   มนุสฺสธมฺโม  นั้นคือ เป็นผู้มีคุณธรรมกรรมบถ ๑๐ ประการ  ประจำสันดาน  จะทำ จะคิด จะพูด สิ่งใดล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น  มนุษย์จำพวกนี้ ท่านจัดดว่าเป็นมนุษย์ที่บริบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน  ย่อมถือเอาประโยชน์สองประการไว้ได้  คือ  ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า   ส่วนมนุษย์ที่ขาดคุณธรรมกรรมบทสิบประการ ท่านจัดว่ายังไม่เป็นมนุษย์ทีแท้จริง  เพราะเป็นมนุษย์แต่ร่างกายเท่านั้น ส่วนจิตใจ นิสัย ความคิด ความเห็นยังตกไปฝ่ายธรรมดาชั้นต่ำ  คือ หายนะ เมื่อจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใด  ก็เป็นไปในทางที่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ยากลำบาก  เดือดร้อนทั้งชาตินี้และชาติหน้า

     ตามคัมภีร์พระมาลัยสูตร  ท่านกล่าวไว้ว่าเปรตในนรก มีมูตรคูถบ้าง มีถ่านเพลิงบ้าง มีน้ำเลือดน้ำเหลืองบ้าง  มีน้ำทองแดงบ้างเป้นอาหาร  เพราะผลอกุศลกรรมทีทำไว้เมื่อชาติยังเป็นมนุษย์ตามสนอง  เพราะเมื่อยังเป็นมนุษย์เลี้ยงชีวิตโดยไม่ชอบธรรม  เรียกว่า มิจฉาอาชีวะ คือ ทำการลักขโมย ปล้นสะดม แย่งชิง  ฉ้อโกงทรัพย์เขามาเลี้ยงชีวิต  เสพสุรายาเมา  เหล้า ฝิ่น กัญชา เป็นเหตุให้ตกอยู่ในความประมาท  อาการที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นบาป ผู้ที่บริโภคอาหารเหล่านี้เหมือนกับบริโภคอาหารของเปรต  ท่านจึงเรียกมนุษย์จำพวกนี้ว่า  มนุสฺสเปโต  จำพวกหนึ่ง
     มนุสฺสยกฺโข  นั้น ร่างกายก็เป็นมนุษย์ ส่วนนิสัยจิตใจ ความคิดความเห็นเหมือนยักษ์ ธรรมดาว่ายักษ์ย่อมเป็นศัตรูต่อมนุษย์  มนุษย์จำพวกนี้เมื่อมีความโกรธเคืองขึ้นมา ชักหน้าเขียวหน้าแดง ขบเขี้้ยวเคี้ยวฟัน หยักรั้ง ตั้งท่า  ตีรันฟันแทง  ฆ่าได้ทั้งนั้นไม่ว่ามนุษย์จำพวกใด เหตุนี้ท่านจึงเรียกว่า มนุสสฺยกฺโข  จำพวกหนึ่ง
     มนุสฺสติรจฺฉาโน  น้ัน  ร่างกายเป็นมนุษย์ ส่วนนิสัยจิตใจ ความคิดความเห็นเหมือนกับดิรัจฉาน  เป็นคนมืดมนอนธการ  หาสติปัญญาที่ดีมิได้ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี  ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์  ตลอดถึงคุณบิดามารดา  และคุณพระรัตนตรัยก็ยังไม่รู้  เป็นผู้อ่อนแอไม่สามารถที่จะทำตนใหเป็นที่พึ่งพาอาศัยแก่ตนและสัตว์อื่น ให้ได้รับความสุขความเจริญเหมือนมนุษย์ที่ดีได้  ดังนั้น ท่านจึงเรียกวา่ มนุสฺสติรจฉาโน
     มนุษย์สามจำพวกนี้น่าเสียดายี่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์มีร่างกายอวัยวะครบทุกส่วนไม่บกพพร่อง  แต่ยังขาดนิสัยใจคอ ความคิดความเห็นที่ดี จึงทำให้เขาไม่เป็นมนุษย์ได้เต็มที่  ถ้ามีสติปัญญา  ศรัทธาที่ดี เหนี่ยวรั้งข่มจิตใจนิสัยให้มีมนุษยธรรมขึ้นในสันดาน  ก็จะกลับเป็นมนุษย์ที่ดีได้บริบรูณ์เต็มที่ไม่บกพร่อง  ท่านกล่าวว่า ส่วนร่างกายน้ันจะสูง ต่ำ ดำ ขาว จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ต้องตกอยู่ในวัสัยของธรรมดา  ส่วนจิตใจนิสัยนั้นเปลี่ยนแปลงได้  เพราะธรรมดามนุษย์ที่ดีมีนิสัยไมชอบอยู่นิ่ง หรืออยู่คงที่ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม  ย่อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ฝึกหัดอบรมนิสัยและการงานให้ก้าวหน้าไปสู่ความสุขความเจริญเสมอ  จะเห็นได้ เช่น  กิจการงานทั้งปวงของโลกที่ประกอบหรือประดิษฐ์ขึ้นให้เหมาะสมแก่ยุคและสมัย  เช่น กสิกรรม  การทำนาทำไร่  พานิชกรรม  คือ ค้าขาย  อุตสาหกรรม คือ การผลิตสินค้า  ประดิษฐ์ศิลปกรรมต่างๆ  อย่างวิจิตพิศดาร ตลอดถึงยานพาหนะ เช่น ทำเหล็กให้วิ่งบนบก คือ รถยนต์ รถไฟ  เหล็กให้วิ่งในน้ำ คือ เรือยนต์ ทำเหล็กให้บินได้ในอากาศ เช่น เครื่องบิน  สิ่งดังกล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ผลิตและแก้ไขปรับปรุงขึ้นด้วยสติปัญญษที่เกิดขึ้นจากจิตใจของมนุษย์ทีดีทั้งน้ัน  นี่เป็นของภายนอกยังทำให้เป็นของวิเศษขึ้นได้
     ส่วนจิตใจนิสัยซึ่งเป็นของภายในด้วยแล้ว ทุกคนก็อาจปรับปรุง อบรมฝึกหัดสำหรับตนให้ดีประณีตยิ่งขึ้น  ให้เป็นของอัศจรรย์ หรือจะทำให้เลวทรามก็ได้  เช่น เรียกว่า เสือนั่น เสือนี่ ก็มีออกดาดดื่น  ฉนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความดีความชั่วเกิดจากตัวของตนเอง  เช่น เราจะทำตนให้เป็นคนดี  คือ ต้องซื่อสัตย์สุจริต ต้ังตนขึ้นได้ในทางโลก  มั่นคงอยู่ในศีลธรรม มีความกรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ทำประโยชน์แก่ตนและเพื่อนมนุษย์ทั่วไปจนเด่นชัด  ผู้นั้นก็ย่อมเป็นที่รักและเคารพนับถือ  กราบไหว้บูชาของประชาชนทั่วไป  ย่อมจะได้รับเกียรติยศปรากฎทั่้วทิศ  ยิ่งกว่าน้ัน มนุษย์อาจจะทำตนของตนให้เป็นเทวดาก็ได้  ให้เป็นพรหมก็ได้  เมือเราอยากเป็นเทวดาก็ให้ตั้งอยู่ในเทวธรรม  คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของเทวดา  มีหิริความละอายต่อบาป  โอตตัปปะ  ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง  ดังนี้ก็จะเรียกว่า มนุสฺสเทโว  คือ มนุษย์กลายเป็นเทวดา  ผู้ใดใคร่จะเป็นพรหมก็ให้ปฎิบัติตนต้ังอยุุ่ในพรหมวิหารสี่  มีเมตตา  กรุณา  มุทิตา อุเบกขา  แก้เพื่อนมนุษย์  และสัตว์ทั่วไปไม่เลือกหน้า  ก็จะเลื่อนจากมนุษย์กลายเป็นพรหมไป ฉนั้น  นักปราชญ์จึงกล่าวว่า  ผู้ใดจะเป็นพรหมก็เป็นได้ไม่เลือกหน้า  แต่ด้วยความปรารถนาอย่างเดียวน้ันเป็นไปไม่ได้   จะเป็นเทวดาหรือพรหม  ก็ต้องอาศัยประพฤติปฎิบัติธรรมนั้นๆ  ให้ถูกต้องต่อหน้าที่ ถ้าปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งน้ันสมปรารถนา   ฉนั้น เราพุทธบริษัททั้งหลายจงต้ังใจปฎิบัติธรรมอของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้รับผลคือ ความสุขความเจริญทั้งชาตินี้และชาติหน้า  อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นชาติที่หาได้ยาก

     อีกประการหนึ่ง  กิจฺฉงฺมจฺจาน  ชีวิตํ การเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ชีวิตก็เป็นของรักษาได้ยาก  จะเห็นได้ว่า  บางคนเกิดมามีอายุสั้นพลันตาย  คือตายเสียในครรภ์มารดาก็มี บางคนคลอดออกมาได้สองสามวันมาตายก็มี  คนเรามักตายเสียแต่เด็กๆโดยมาก  เพราะในเยาว์ยมีร่างกายอ่อนแอไม่สามารถทนทานต่อดินฟ้าอากาศที่หนาวร้อนและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้   หรืออีกนัยหนึ่ง  มีอายุสั้นพลันตาย  ก็เพราะตนมีวาสนาน้อย  คือบารมีทีสร้างไว้แต่ชาติก่อนน้อยเกิดมาจึงมีอายุสั้นพลันตาย   พูดถึงชีวิตและร่างกายแล้ว เป็นของมีค่าราคาอันสูง  และเป็นที่รักสุดยิ่งของสัตว์ทั้งมวล  จะเห็นได้ว่า  มนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนาม  ตื่นขึ้นแต่เช้าต่างคนต่างเที่ยวแสวงหาเครื่องอุปโภคบริโภคออกวุ่นมาบำรุงร่างกายและชีวิต  และเพื่อให้ได้รับความสุขสำราญ  แม้ไม่มีเจตนาก็เป็นการแย่งแข่งขันกันไปในตัว  ประกอบการงานอันชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง จึงได้รับความสุขสมหวังบ้าง ได้รับความทุกข์ยากลำบากบ้าง  เพราะทำไปโดยไม่ถึอเอาแนวทางธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปฎิบัติ ทำไปโดยชอบใจตน  ไม่ทำไปโดยชอบธรรม ฉนั้น  จึงไม่ได้รับความสุขสมดังปรารถนา  ชีวิตและร่างกายจึงได้รับความทุกข์ยากลำบาก  เพราะเหตุนี้แหละ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านผู้รู้แจ้งเห็นจริงในของจริง  คือ รูเหตุผลแห่งความทุกข์และสุข ทรงเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์  พระองค์จึงทรงเอ็นดูกรุณาแก่หมู่สัตว์  จึงได้ทรงแสดงธรรมแนะนำสั่งสอนให้แนวทางไว้ปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์  และปลอดภัยในชีวิตร่างกายทรัพย์สมบัติของสัตว์จะได้ประสบแต่ความสุขสำราญทั่วหน้ากัน  พระองค์จึงทรงบัญญัติตั้งเป็นสิกขาบท ๕ ประการคือ
    ปาณาติปาตาเวรมณี  ให้เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตของกันและกัน เพราะชีวิตเป็นของรักที่สุดยิ่ง  พระองค์จึงทรงบัญญัติไว้เป็นข้อห้ามเบื้องต้น  จะเห็นได้จากตัวอย่างเช่น  เราพกเงินไปในทางเปลี่ยวแต่ผู้เดียวราวแสนบาท  เมื่อมีคนร้ายมาพบเข้า  เอาอาวุธจี้เรา  แล้วถามว่า เธอรักทรัพย์หรือรักชีวิต ถ้าเป็นเราก็ต้องขอชีวิตไว้ยอมให้ทรัพย์ไป นี่จะเห็นได้ว่าชีวิตเป็นของรักสุดยิ่งกว่าสิ่งใดๆ  พระองค์ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทที่หนึ่ง
     อทินาทานาเวรมณี   เว้นจากการถือเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นทีเจ้าของไม่ให้ด้วยอาการแห่งขโมย  ทรัพย์เป็นของรักที่สองจากชีวิต  ตัวอย่างเช่น  ภรรยาหรือบุตรสาวตามชู้หรือคู่รักไป  แต่ได้นำเอาทรัพย์สมบัติไปมาก  ผู้เป็นสามีหรือบิดาเที่ยวตามหาเมื่อไปพบพรรคพวกเข้า เขาถามว่าจะไปไหน  ผู้นั้นจึงเล่าเรืองให้ฟัง พรรคพวกจึงเตือนให้สติว่า  เมื่อเขาไม่สมัครอยู่กับเราก็ตามใจเขา  ผู้เป็นบิดาหรือสามีจึงตอบว่า ลำพังภรรยาหรือบุตรน้ันจะไม่ตามเลย  ที่เที่ยวตามนั้นเพราะเสียดายทรัพย์เพื่อจะได้เอากลับคืน นี่ก็จะเห็นได้ว่ารักทรัพย์มากกว่ารักบุตรภรรยา  พระองค์จึงทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบทที่สอง
     ส่วนบุตรภรรยาน้ันเป็นของรัก  ต่อจากทรัพย์ลงไปเป็นธรรมดาของมนุษย์ ย่อมหวงตระกูลและประเพณี  พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทที่สาม  คือ  กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
     ส่วนความสัตย์นั้น เป็นของรักที่สี่  คือจริงต่อคำพูด  จริงด้วยวาจา  จริงต่อเวลา  จริงต่อหน้าที่การงาน  เพราะความสัตย์จริงที่กล่าวนี้่  เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนา  พระองค์จึงทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบทที่สี่  คือ มุสาวาทาเวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
     ส่วนความไม่เโลเลเหลวไหล  เลอะเลือน  ฟั่นเฟือน  น้ันเป็นความรักที่ห้าต่อจากความสัตย์จริงลงมา  พระองค์จึงทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทที่ห้า   คือ สุราเมรย มัชชลปมาทัฎฐานาเวรมณี  ให้เว้นจากการดืมสุราเมรัย  เครื่องหมักดองของเมาต่างๆ  สงเคราะห์ ฝิ่น  กัญชาด้วย  ถ้าเสพย์เข้าไปเป็นเหตุให้ตกอยู่ในความไม่ประมาทจะทำแต่บาปหยาบช้าร้าย  ทุจริตจักเป็นผลเป็นทุกข์แผดเผาตนและคนอื่นให้เร่าร้อนรำคาญ ชีวิตจักไม่เป็นแก่นสาร เป็นหมันไม่มีผล เหตุนี้แหละพระองค์จึงทรงได้บัญญัติศีล ๕ ประการเพื่อให้มนุษย์ปฎิบัติตามจะได้พ้นเสียจากกองทุกขืได้รับแต่ความสุขเกษมสำราญทั้งภพนี้และภพหน้า
     ฉนั้นเมื่อท่านทั้งหลายปรารถนาความสุข ก็ควรน้อมใจปฎิบัติตามศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตามสติปัญญาศรัทธาความสามารถของตน  จะได้รับ  คือความสุข ความเจริญ ตามกำลังความสามารถทีจะปฎิบัติได้  เมื่อสาธุชนทั้งหลายต้ังใจปฎิบัติธรรมตามพระพุทธศาสนาด้วยความตั้งใจ  คือ ปฎิบัติให้ถึงใจ  อย่าสักแต่ว่านับถือ คือ ถือตามๆกันไปตามธรรมเนียมประเพณี  ถือดังกล่าวมานี้ ท่านว่าได้ผลน้อย  คือ ถือเพียงปากเพียงมือ  เช่นเมื่อระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำจิตเลื่อมใสชั่วขณะหนึ่ง  แล้วจิตใจก็กลับเป็นนิสัยเดิม  เมื่อเข้าไปฟังพระธรรมเทศนา ก็แสดงความเคารพ นั่งพนมมือตามธรรมเนียม  เมื่อจบการฟังพระธรรมเทศนา จิตใจก็กลับเป็นนิสัยเดิม  เมื่อไปพบพระภิกษุสามเณรก็แสดงความเคารพตามสมควร  เมื่อหลีกจากภิกษุสามเณรไปแล้ว  จิตใจก็กลับเป็นนิสัยเดิม  ถ้านับถือพระพุทธศาสนาดังว่ามานี้  ย่อมมีคุณนิสงส์น้อยหรืออาจไม่มีเลยก็ได้  เพราะไม่ได้รับผล  คือ ความสุขกายเจริญใจ  ท่านเปรียบไว้เหมือนกาบินไปเกาะภูเขาทอง  แล้วตัวกาก็กลับดำดังเดิม  การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ควรถือดังนี้ นับถือดังนี้ท่านเรียกว่า  ถือเพียงปาก  เพียงมือ  ย่อมไม่ได้ผล  เพราะขาดความเชื่อถือ  ความเชื่อกับนับถือย่อมต่างกัน  ตัวอย่างเช่น  บุคคลบางคนนับถือพระพุทธศาสนาแล้วเอาพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไปแขวนคอ  เที่ยวไปประพฤติทำทุจริตชั่วร้ายต่างๆ  มีลักขโมย  ปล้นสะดม  เป็นต้น  อย่างนี้เรียกว่า เพียงแต่นับถือ ไม่เชื่อว่าบาปกรรม ฉนั้น นับถือดังนี้ขาดความเชื่อ ย่อมไม่บังเกิดผลดี  มีแต่ผลร้ายฝ่ายเดียว  การนับถือพระพุทธศาสนาจะให้ได้ผลดีนั้น  ต้องทั้งมีความเชื่อและความนับถือคู่กันไปจึงจะได้รับผลดีตามความปรารถนา  ฉนั้น ควรปฎิบัติดังนี้   คือ นับถือใหถึงใจ  ท่านสอนไว้ว่าเมื่อเราเจริญพุทธานุสติ  คือ ระลึกถืงคุณของพระพุทธเจ้าน้ัน คือ ศีลคุณ สมาธิคุณ  ปัญญาคุณ สัจจคุณ บริสุทธิคุณ เมตตาคุณ ต้องน้อมเอาพระคุณย่อๆ เหล่านี้มาสวมไว้ในกาย วาจา ใจของตน  เหมือนเครื่องแต่งกาย คือ คุณของพระพุทธเจ้า เปรียบด้วยหมวก  เมือ่เจริญธรรมานุสติ  ก็ควรน้อมเอาพระธรรมเข้ามาสวมไว้ในกาย  วาจา ใจ  พระธรรมนั้นควรทำความเข้าใจว่า  ตัวธรรมที่จริงแท้ๆ ไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ ธรรมะที่มีอยู่ในคัมภีร์น้ันเป็นแต่ทางดำเนินกาย  วาจา  ใจ  ให้บริสุทธิ์ และหลีกทางอันไม่บริสุทธิ์หรือจะเรียกว่า ตำราสำหรับค้นคว้าหาความรู้  เหตุผลผิดชอบ ชั่วดี ความเสือม ความเจริญในธรรมะเท่านั้น  เปรียบด้วยตำรายาแก้ไข้   นำเอาตำรามาต้มให้คนไข้รับประทานก็จะหายจากโรคไข้  นี่หาเป็นดังนั้นไม่  เมื่อมีโรคหรือมีไข้ขึ้น  ต้องไปเก็บต้นไม้หรือยาที่สำเร็จรูปแล้วมารักษาไข้จึงจะหาย ฉนั้น  จึงว่าตัวยาจริงไม่้ได้อยู่ในตำรา  อยู่ที่ต้นไม้  ใบไม้ เปลือก  ราก เหง้า แก่น ใบ ดอก  เกษร ไม้ และสิ่งอื่นๆ  ฉันใดก็ดี  ธรรมะของพระพทุธเจ้าที่แท้จริงก็คือตัวเรา   ดังนี้  พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนว่า  ธรรมะอยู่ที่ตัวของบุคคลนี่เอง  คือ  ชาติ ชรา พยาธิ  มรณะ  อสุภกัมมัฎฐาน  หรือ  รูปธรรม นามธรรม  เรียกว่า ธรรมกาย เช่น ทำดี พูดดี  คิดดี เรียกว่า  กุสลาธรรมา จัดเป็นกุศลกรรมให้เป็นสุข  เป็นนิฎฐารมณ์  สิ่งที่บุคคลปรารถนา ควรน้อมเข้ามาสวมหรือประดับไว้กับตน  เหมือนเครื่องแต่งกาย  เปรียบด้วยเสื้อ  ส่วนทำชั่ว  คิดชั่ว  เป็นอกุศลาธมฺมา  จัดเป็นอกุศลกรรม  ให้ผลเป็นทุกข์เป็นอนิฎฐารมณ์  สิ่งที่ไม่ปรารถนาควรละทิ้งเสียให้ห่างไกล จากกาย วาจา ใจ  เพราะให้ผลเป็นทุกข์  เมื่อเจริญสัมฆานุสติ ก็ควรน้อมเอาพระคุณของพระสงฆ์เข้ามาสวมไว้เหมือนกางเกง  คุณของสงฆ์นั้นก็คือ ข้อปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ปฎิบัติซื่อตรง  ปฎิบัติธรรม ปฎิบัติสมควร  ได้แก่ ความเป็นผู้ปฎิบัติอันน่านับถือ  ควรน้อมเอาพระคุณอันนี้มาสวมเข้าไว้ในตน  ผู้ใดปฎิบัติได้ดังนี้ย่อมมีคุณาสงส์อันล้ำเลิศประเสริฐยิ่ง  เป็นสิ่งที่งอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา

     ฉนั้น จงทำความเข้าใจว่า ธรรมะอยู่ที่ตัวบุคคล สมตามคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอัครสาวก  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต    ผู้ไดเห็นตถาคต  ผู้นั้นเห็นธรรม  ฉนั้น  ควรประดับคุรพระรัตนตรัยเข้าไว้ในตตน  เปรียบด้วยเครื่องเแต่งกายของทางโลก  คือมีการสวมหมวด สวมเสื้อ สวมกางเกง อย่างสุภาพบุรุษ  สตรี มองดูเรียบร้อยสวยงาม เพราะแต่งเครื่องครบบริบูรณ์ ไม่เดือดร้อน  เช่น ฝนตกก็ไม่หนาว  เพราะมีเครื่องปกคลุม แดดออกก็ไม่ร้อน  เพราะมีเครื่องปกปิดร่างกาย  ถ้าขาดหมวกเสียก็หมดงาม ถ้าขาดเสื้อก็หมดความภาคภูมิ ถ้าขาดกางเกงก็หมดดี  มนุษย์เราถ้าขาดเครื่องแต่งกายในทางโลกมองดูน่าเกลียด น่าชัง จะเข้าไปสังคมใดๆก็เป็นที่รังเกียจแก่สมาคมน้ันๆ  อาจจะถูกติเตียนว่าเป็นผู้เสียจริตก็ได้  ฉันใดก็ดีเครื่องประดับทางพระพุทธศาสนาก็ฉันน้ัน  ถ้าผู้ใดขาดจากคุณพระพุทธเจ้าก็เหมือนขาดหมวก  ถ้าขาดคุณพระธรรมก็เหมือนขาดเสื้อ  ถ้าขาดคุณพระสงฆ์ก็เหมือนขาดกางเกง  ฉนั้น  ถ้าผู้ใดปราศจากคุณพระรัตนตรัย คือ แก้วสามประการเสียแล้ว  ท่านเรียกบุคคลนั้นว่าโมฆปุริโส  เป็นบุรุษผู้เปล่าปราศจากประโยชน์ คือ  ปราศจากคุณงามความดีและเป็นการเสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่พบพระบวรพุทธศาสนา แต่ไม่ปฎิบัติ คล้ายสัุตว์เดรัจฉาน  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติตรัสรู้ขึ้นในโลก แต่ละพระองค์มีเวลาช้านานต้ังแสนกัลป์ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม ตราบใดที่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบุติขึ้นในโลก พระธรรมคำสังสอนของพระองค์ก็ไม่อุบัติขึ้นตามน้ัน  เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสงฆ์ก็ไม่ปรากฎมีขึ้นเนื่องด้วยไม่มีข้อปฎิบัติ เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ปฎิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
     เมื่อทราบชัดว่า พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่หาได้ยากดังน้ันแล้ว  ก็ควรจะน้อมเข้าไปในตนเพื่อให้คู่ควรแก่ขาติกำเนิดและชีวิตร่างกายของตนที่หาได้ยากและมีค่าอันสูง  ร่างกายและอวัยวะส่วนหนึ่งๆ ล้วนแต่เป็นของมีค่าอันสูง เช่น  เมื่อมีผู้ต้องการลูกนัยน์ตาหรือแขนขาของเราสักข้างหนึ่ง จะให้เงินเราสักหมื่นบาท  เมื่อขณะที่เราจนๆ อยู่อย่างนี้  เราก็คงไม่ต้องการเงินหนึ่งหมื่ีนบาท เมื่อรวมอวัยวะทุกส่วนพร้อมด้วยร่างกาย จะรู้ดีว่ามีค่าราคาเป็นแสนๆ บาท  แต่บางคราวคนที่โง่เขลามักจะตึราคาค่าตัวต่ำ  เอาร่างกายไปแลกกับของที่มีราคาค่างวดต่ำ  เช่น ไปลักเล็กขโมยน้อย  ถึงกับถูกเจ้าทรัพย์ฆ่าตาย  เช่นนี้น่าเสียดายและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทำให้ตนเป็นคนโง่เขลาไร้สติปัญญาเป็นอย่างมาก และเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทำตนให้เป็นคนโง่เขลาไร้สติปัญญาเป็นอย่างมาก  ไม่สมกับที่ได้ชาติกำเนิดมาเป็นมนุษย์อันสูงกว่าเดียรฉาน  ควรมีสติสัมปชัญญะ ระลึกถึงตัวว่าเรามีอายุยืนมาได้ถึงเพียงนี้ ก็นับว่าเป็นบุญลาภไม่ควรจะประมาทในชึวิต ควรจะหันหน้าเข้าหาหนทางทั้งแปดเส้น  คือ อักฐังคิกมรรคที่พระองค์ได้ตรัสไว้ คือ สัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ เห็นว่าคนเรามีกรรมเป็นของตัว ทำดีจักได้รับผลดี  ทำชั่วจักได้รับผลชั่ว  เมื่อทราบว่าความชั่วให้ผลเผ็ดร้อน  จักได้ดำเนินในสัมมาสังกกัปปะ  ดำริออกเสียจากความชั่ว นี่คือองค์ของปัญญา  เมื่ือองค์ของปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๓๓ พระอริยสงฆ์


๓๓. พระอริยสงฆ์

     ขอให้ลูกศิษย์หลวงพ่อทุกคน จงเชื่อมันเถิดว่า หลวงพ่อจากไปก็แต่รูปกายเท่าน้ัน  หลวงพ่อดับแต่รูปเท่านั้น  ส่วนนามนี้ยังอยู่  นามที่ว่านี้มิใช่หมายถึงแต่ชื่อเสียงเกียรติคุณ ธรรมคุณของหลวงพ่อเท่านั้น 
     แต่มีความหมายในขั้นปรมัตถธรรมว่า  "จิต - เจตสิก - รูป - นิพพาน" ของหลวงพ่อโดยแก่นแท้
     หมายความโดยฮรรถาธิบายว่า
     หลวงพ่อเกิดมาในโลกนี้โดยรูปกายเป็นมนุษย์ ชื่อ หลวงพ่อเงิน
     หลวงพ่อมีดวงจิตอันแจ่มใสปภัสสรอยู่ภายในรูปกายนั้น 
     ดวงจิตของหลวงพ่อมี เจตสิก คือ กระแสความคิด  พลังจิต อำนาจจิต  ที่ประกอบด้วยคุณธรรม  คือ เมตตา กรุณา
     เมื่อลูกศิษย์รำลึกถึง ส่งดวงจิตไปนอบน้อมนมัสการด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใสด้วยความจดจ่อจริงจังจริงใจแล้ว  พลังงานจิตของหลวงพ่อย่อมจะตอบสนอง  คอยพิทักษ์ คอยอภิบาล คอยปกป้อง คอยคุ้มครอง  คอยป้องกันอุปัทวภยันตรายได้ทุกเมื่อ
     พระเครื่องที่หลวงพ่อสร้างทิ้งไว้ให้เป็นมรดกนั่แหละ  คือสือกลางระหว่างเรากับหลวงพ่อ  ใครมีไว้นำเอาติดตัวไปทกหนทุกแห่ง จะช่วยคุ้มครองป้องกันสรรพภัยให้แก่เรา
     หนังสือประวัติของหลวงพ่อเงินเรื่องนี้ จะทำให้เรามองเห็นรูปธรรมของหลวงพ่อแจ่มชัดขึ้นว่าหลวงพ่อเป็นอย่างไร  มีคุณธรรมอย่างไร
     เมื่อรำลึกถึงหลวงพ่อครั้งคราวใด ก็จะปลื้มใจ ที่เราได้เป็นศิษยานุศิษย์ของพระสุปฎิปันโน พระอุชุปฎิปันโน  พระญายปฎิปันโน พระสามีจิปฎิปันโน
     ๑. หลวงพ่อเงิน  เป็นพระสุปฎิปันโน เป็นพระผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ปฎิบัติเหมาะสม ปฎิบัติสมควรแ่กพระอริยเจ้า ผู้เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุ ปุถุชนจะดูเยี่ยงอย่างโดยแท้จริง
     ๒. หลวงพ่อเงิน  เป็นพระอุชุปฎิปันโน  พระผู้ปฎิบัติงดงามทุกอิริยาบถ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน เหลียว มอง พูด ฉัน
     ๓. หลวงพ่อเงิน เป็นพระญายปฎิปันโน  พระผู้ปฎิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตในการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปดประการ
     ๔. หลวงพ่อเงิน เป็นพระสามีจิปฎิปันโน  พระผู้ปฎิบัติด้วยความจงรักภักดีตอ่พระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างมอบกายถวายชีวิต  บวชจนตายในผ้าเหลืองแบบพระอริยสงฆ์เจ้าโดยแท้จริง

      คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้คือ คุณสมบัติของพระอริยบุคคลต้ังแต่ชั้่นพระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์  หลวงพ่อเงินมีคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ครบถ้วน พร้อมสรรพ  จึงเชื่อมั่นได้ว่าหลวงพ่อเงินเป็นพระอริยสงฆ์  
    สำหรับลูกศิษย์อย่างข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้ม่มีวิจิกกิจฉาเลยแม่แต่น้อย  เพราะวา่สามารถเขียนเรื่องหลวงพ่อได้เพียง ๑ เดือนจบอย่างอัศจรรย์  ประดุจแรงรังสีของหลวงพ่อมาดลบันดาลใจให้เขียนได้อย่างแจ่มใสในดวงจิต 
                                                                                        เทพ  สุนทรศารทูล
     
     

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน บทกวีที่หลวงพ่อแต่งไว้


บทกวีที่หลวงพ่อแต่งไว้

๔๐. สักวาเกิดมาในชาตินี้
        เป็นโชคดีเกินกว่าจะหาไหน
        ได้ประสบพบธรรมอันอำไพ
        คำสอนในพุทธศาสน์ประกาศมา
        ไพเราะงามสามระยะคำพระตรัส
        เพื่อขจัดพัวพันด้วยตัณหา
        ได้แก่ศีลสมาธิและปัญญา
        คือมรรคาวิมุตติที่สุดเอย ฯ

๔๑. สักวาถ้าจะเอาตัวเรารอด
       อย่าอิดออดชักช้าล้าสมัย
       ทำเพียรกันทันทีแต่นี้ไป
       ความตายใกล้เข้ามาทุกนาที
       จะขอผลัดมัจจุราชมิอาจได้
       ความแก่ไข้ล้อมรั้วทั่ววิถี
       ใครจะรู้ว่ากายตายพรุ่งนี้
       คงไม่มีผู้ขันพนันเอย ฯ

๔๒. วันเอ๋ยวันเกิด
        ตรองดูเถิด น่าเบื่อ นั้นเหลือหลาย
        สองชีวิต     แทบปลิด  ออกจากกาย
       เหมือนแหวกว่าย กลางมหา ชลาลัย
       ได้รับทุกข์ เวทนา แสนสาหัส
        บุญบำบัด ให้รอด ปลอดตักษัย
        ถึงวันเกิด เป็นเหตุ สังเวชใจ
        ขออย่าได้ มีเกิด อีกเถิดเอย ฯ

๔๓. วันเอ๋ยวันตาย 
        ใจแห้งหาย เงียบเหงา เศร้าถอดศรี
        แต่ผู้ตาย กลับสบาย สงบดี
        ด้วยไมมี กรำกราก ให้ยากเย็น
        คนอยู่หลัง ตั้งแต่ จะแลลับ
        มิได้กลับ ทนทวบ มาพบเห็น
        เมื่อถึงวัน นั้นเข้า เหล่าคนเป็น
        ควรบำเพ็ญ บุญส่ง โดยตรงเอย ฯ

๔๔.โบราณกล่าวคำเตือนใจ สำหรับเวลาป่วยไข้ 
       (แต่งให้พระภิกษุสงฆ์อาพาธ ร.พ.สงฆ์)
       ๐คราใดรูปร่างนี้            โรคเบียน
          มีแต่ทุกข์อาเกียรณ์     เกลือกกลั้ว
          เจ็บปวดรวดร้าวเหียน  ห่อนห่าง เหินฤา
          คุมสติต่างเป็นรั้ว         รอบกั้น กันใจ

     ๐ ดวงฤทัยอย่าทดท้อ      ถดถอย
        สติมั่นปัญญาคอย         ควบรู้
        เวทนาอย่าให้ลอย        ถอดจิต  เชียวนา
        ยึดมั่นขันติรู้                  สุดสิ้น  ลมปราณ

     ๐ เวทนาปรากฎขึ้น         คราวใด
        กำหนดรู้ดูใจ                จดจ้อง
        เขาเกิดดับเป็นไป         ตามสภาพ  เขานา
        ห้ามจิตเลิกคิดข้อง       เกี่ยวด้วย  ตัณหา

     ๐ เวทนายั้งหยุดด้วย       ปัญญา
         เกิดประทับคือวิชชา    ชอบแล้ว
         ตัดกิเลสและตัณหา     หายขาด
         นั่นแหละคือดวงแก้ว    เก็บไว้  ส่องวิถี

     ๐ ตัณหาพาจิตให้            เวียนวน
        ดุจกระแสสายชล          ควั่งคว้าง
        นำสู่ปฎิสนธิ์                  ภพใหญ่  น้อยนา
        เพราะเหตุเวทนาสร้าง  ส่งเชื้อ  ตัณหา

     ๐ วัตรปฎิบัติเช่นนี้           คือบุญ
        ทั้งช่วยตัดวงหมุน        แน่แท้
        เพียงเพิ่มสติคุณ          ประโยชน์ใหญ่  นักนา
        จะชนะมารแพ้              พ่ายสิ้น  เสื่อมสูญ

     ๐ ยาว  ยืนอย่างมาก       ร้อยปี
        วา     หนึ่งร่างเรียวรี      ทั่วหน้า
        หนา  แน่่นและคลุกคลี  กิเลสท่วม  ทับนา
        คืบ    ย่างสู่ป่าช้า           เช่นนี้  ควรถวิล

     ๐ เวียน   วนทนทุกข์เร้า           รุมรัน
         ว่าย    แหวกสงสารอนันต์    เนิ่นช้า
         ตาย   ถมแผ่นดินพลัน         เพียบเพิ่ม  พูนแฮ
         เกิด    เปื่อยเหน็ดเหนี่อยล้า ห่อนรู้  ทำดี

๔๕. คำปรารภเรื่องการปฎิบัติธรรม
   ๐  คนโดยมาก  ยากแท้     มีแออัด
     หลงบัญญัติ  ติดสมมุติ ฉุดไม่ไหว
     ถอนบัญญัติ  ตัดสมมุติ  ให้หมดไป
     ญาณจะใส    เห็นชัด     อนัตตา
   
     ๐ ทั่วทุกสิ่ง       จริงอยุ่   มีคู่แน่
         แต่ปรวนแปร ควรนึก  หมั่นศึกษา
         มืดมีอยู่         คู่สว่าง  ต่างเวลาา
         สุขมีมา         หมดยุค  ทุกข์ก็มี

     ๐ โลกธรรม           แปดอย่าง  อ้างเป็นหลัก
         เหมือนป้ายปัก  บอกทาง    หว่างวิถี
         อย่ามัวเพลิน     เดินผิด       ติดโลกีย์
         จะเสียที            ลาภเลิศ     เกิดเป็นคน

     ๐ อันสังขาร   มารยา   ไร้สาระ
         มันปนปะ    เกิดดับ  อยู่สับสน
         เป็นอย่างนี้  มีมา      ในสากล
        ไม่ใช่ตน     หรือตัว   อย่ามัวเดา

     ๐ มีแต่ทุกข์        ปลุกปล้ำ  แสนลำบาก
        ต้องตรำตราก  นอกใน     ถูกไฟเผา
        หลงยึดถือ       ดื้อเห็น    ว่าเป็นเรา
        ไม่่รู้เท่า           ธรรมดา    จึงพางง

     ๐ ธรรมชาติ            อาจวรรค์     ปั้นประดิษฐ์
         ให้วิจิตร             รจนา           น่าลุ่มหลง
         คอยหลอกลวง   ออกห่าง     จากทางตรง
         อยู่ในวง             ไตรวัฎ       น่าอัดใจ

     ๐ ธรรมชาติ    ธรรมดา    สภาวะ
         ต้องรู้จะ      แจ้งหมด  ปลดสงสัย
         ไม่ใช่เรา    ไม่ใช่เขา  ไม่ใช่ใคร
          เหตุปัจจัย  สืบต่อ       ก่อให้เป็น

     ๐ ใช้ปัญญา      ผ่าแตก      แยกเป็นส่วน
         คิดทบทวน  ไตร่ตรอง    จะมองเห็น
         พบความจริง สิ่งเท็จ       เด็ดกระเด็น
         จะรู้เช่น         ชาติสังขาร ล้วนมารยา

     ๐ นามธรรม   ทั้งสี่       มีแต่ชื่อ
         จะยุดรื้อ     ดำด้น    เที่ยวค้นหา
          คงไม่พบ   แน่ชัด    ซึ่งอัตตา
          นามทั้งสี่    มีสา      ระเมื่อไร

     ๐ รูปธรรม      น้ันมี       ยี่สิบแปด
        มันติดแฝด  กับนาม  ตามวิสัย
        น้ันก็ไม่       ใช่เรา     จงเข้าใจ
        คือน้ำไฟ     ดินลม    ประสมกัน

     ๐ เมื่อธาตุแตก  แยกย้าย  ทำลายหมด
        โลกสมมุติ      เรียกว่า    ถึงอาสัญ
        แท้ก็ไม่          ใช่ใคร      วายชีวัน
        ความจริงน้ัน   รูปดับ       ไปกับนาม

     ๐ จงทำใจ          ให้ว่าง        อย่างอากาศ
         ใสสะอาด        แจ้งจบ      ภพทั้งสาม
         ว่าเหมือนไฟ   ไหม้ลุก     ทั้งคุกคาม
         จนเกิดความ    เบื่อหน่าย  คลายยินดี

     ๐ จะไปเกิด      เป็นอะไร     เหมือนไฟลุก
        ชาติคือทุกข์  ตัวร้าย        ควรหน่ายหนี
        เกิดเป็นเหตุ  นำทุกข์       มาคลุกคลี
        เกิดไม่มี        ทุกข์ดับ      ระงับไป

     ๐ คิดครวญใคร่    ใจตั้ง        หวังวิมุติ
        ต้องรีบรุด          ก้าวหน้า   อย่าไถล
        ปล่อยรูปนาม    ตามบท    หมดอาลัย
        จะพ้นภัย          ความเกิด  ประเสริฐเอย ฯ

๔๖. กบอยู่ในสระไม่ปะเกสร
๐ คนโมหะเป็นพืชย่อมมึดมิด
    อยู่ใกล้ชิดนักปราชญ์ยังขาดศีล
    ดั่งกบใกล้ปทุมาเป็นอาจิณ
    ไม่ได้กินยอดอ่อนเกษรบัว ฯ

๔๗. แมลงภู่อยู่ไกลได้เกสร
๐ แมลงภู่อยู่ไกลพอได้กลิ่น
    รีบรุดบินเคล้าคลึงจนถึงหัว
    เหมือนผู้มีปรีชาย่อมพาตัว
   ไปเกลือกกลั้วเมธาหารรสธรรม ฯ

๔๘. ยื่นแก้วให้วานร
๐ จะกล่าวธรรมวาทีอันมีค่า
    ต้องคิดหน้าดูหลังจึงสั่งสอน
    ไปสอนไพร่่ใบ้บ้าให้อาทร
     ดั่งวานรหรือจะปองทองมณี ฯ

๔๙. มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่
        ไม่มีเงินไม่มีทองพี่น้องไม่มี
๐ เรามีเงินเขานับรับเป็นน้อง
    เรามีทองเขานับรับเป็นพี่
    หมดเงินทองมองใครมไม่ใยดี
    ทั้งน้องพึ่พลอยหมดหายหดไป ฯ

๕๐. อย่าวางใจคน
๐ คนเดี๋ยวนี้มีมากหลายหลากล้ำ
   บ้างใจต่ำเตี้ยแท้สูงแต่หัว
   ทำอุบายหลายชั้นเข้าพันพัว
   จงเกลียดกลัวอย่าได้วางใจกัน

๕๑. อยู่ร่วมคนชั่ว  คือตัวทุกข์
๐ อยู่ปะปนคนพาลสันดานหยิ่ง
   ไม่รู้สิ่งหนักเบาเจ้าโทโส
   มีเคหาอาศัยถึงใหญ่โต
   อะพิโธ่คับแคบแทบจะครือ

๕๒. อยู่ร่วมคนดีย่อมมีสุข
๐ อยู่ร่วมกับบัณฑิตสนิทสนม
   มีอารมณ์วาจาน่านับถือ
   อยู่กระท่อมลอมฟางพอกางมือ
   นั่นก็คือเป็นสถานวิมานแมน

๕๓. ต้องการน้ำมันไปคั้นเอาแกลบ
๐ อยากมีเงินมีทองได้ครองบ้าน
    แต่เกียจคร้านท้อใจไม่ขยัน
   ไปขอลาภกราบไหว้ไทเทวัญ
   หาน้ำมันในแกลบก็แบบเดียว ฯ

๕๔.พายเรือในอ่าง
๐ คนอาภัพดับจิตคิดไม่โปร่ง
    ไม่ลุโล่งแจ้งชัดเพราะขัดสน
     เฝ้าเวียนนึกตรึกตราเข้าตาจน
     เหมือนเรือวนในอ่างหมดทางจร ฯ

๕๕. ถ่มน้ำลายรดฟ้า
๐ ถ่มน้ำลายหมายพ่นขึ้นบนฟ้า
    กลับถูกหน้าตัวได้ไม่ถลำ
    เช่นคนพาลหาญใจใช้ถ้อยคำ
    กล่าวทิ่มตำท่านที่ผู้มีคุุณ

๕๖. วิ่งนักมักล้ม
๐ วิ่งประจบรบเร้าให้เขาช่วย
    อยากร่ำรวยนับอนันต์เพราะตัณหา
    ยอมเสียเงินเสียทองของบรรณา
    คร้ันพลาดท่าวิ่งซมต้องล้มลง ฯ

๕๗ ฉันเป็นเหมือนต้นโสน
       ใหญ่โตอยู่ในหมู่ต้นหญ้า

๕๘. ฉันเป็นเหล็กขุดได้ในทุุ่งนาตำบลดอนยายหอม
        ไม่ใช่เหล็กวิลาศมาแต่ไหน  แต่หมั่นใช้ หมั่นลับ
         หมั่นเก็บรักษาไว้  มิให้ขึ้นสนิม

๕๙. เป็นกุศลหนหลังสั่งสมไว้
        มีเชาวน์ฺไว แหลมคมสมศักดิ์ศรี
        เหมือนไม้หนามตามพันธ์ุของมันมี
        ไม่ต้องที่เซี่ยมแซมมันแหลมเอง ฯ

๖๐. มีวิชาถ้าไม่ใช้คงไม่เชี่ยว
       มีเฉลียวจึงอาจฉลาดได้
       ถึงสิบรู้ไม่สู้ที่เจนใจ
       เก็บรู้ไว้ขัดลิ่มสนิมกิน

๖๑. คราวบุญมาชะตาช่วยร่ำรวยคล่อง
       ทั้งเงินทองไหลหลั่งนับตั้งแสน
       เก็บไว้หนุนทุนรอนไม่คลอนแคลน
       ยามคับแค้นมีจ่ายได้คลายเบา

๖๒. คนรูปสวยรวยทรัพย์ แต่จิตใจต่ำ
       เหมือนดอกไม้ไร้กลิ่น สู้ดอกมะลิสีขาวไม่ได้

๖๓. คนเราจะอยู่ในโลกนี้ไม่เกิน ๑๐๐ ปี
       อย่าประมาทว่ายังหนุ่มสาวเรายังไม่ตาย
       ความจริงเราเกิดมาก็ตายแล้ว
       เพราะเวลากินอายุของเรา
      อายุของเราหมดไปตามกาลเวลา

๖๔. คนเราเกิดมาถ้าไม่ได้สร้างคุณงามความดีไว้
       แต่ขาติเกิดของเรา ก็เท่ากับเกิดมาเพื่อตายอย่างเดียว
       ตายแล้วก็สูญลับทับถมแผ่นดินไป

๖๕. คนเราเกิดมาสร้างคุณความดีไว้
        แม้จะตายไปแล้ว  ผลงานคุณงามความดีชื่อเสียง
        เกียรติยศก็ยังอยู่  ก็เท่ากับตายเพื่ออยู่ มันต่างกับเกิดเพื่อตาย
.
  ๖๖.   ชาติคือคนที่เกิดได้และตายได้
        ไม่ว่าจะเป็นคนชาติผิวขาวผิวเหลืองอะไรก็ตาม
        ต้องเกิดต้องตาย ต้องเจ็บป่วยเหมือนกัน
        เป็นชาติเดียวกันทั้งนั้น

๖๗. ใครชี้เกียจเป็นแมลงวัน
        ใครขยันเป็นแมลงผึ้ง

๖๘. ทำดีน้ันทำง่าย
        ทำชั่วน้ันทำยาก

๖๙. ผู้ใหญ่เป็นคนที่เขาเคารพนับถือ
        ต้องวางตัวให้เหมาะสม
        ต้องรู้จักปกครองคน
        ต้องรู้จักให้ความเป็นธรรมแก่คน
        ต้องรู้จักปิดปาก  ต้องรู้จักปิดตา ต้องรู้จักปิดหู
        มิฉนั้นจะเป็นคนหูเบา เจ้าอารมณ์ โลเล
        ถ้าให้คนอย่างนี้เป็นนาย
        ก็เท่ากับมีนายเป็นลิง

๗๐. คนโง่ก็เหมือนปลาที่หลงเหยื่อ

๗๑. เวทย์มนต์คาถาไม่มีคุณมีโทษในตัวของมันเอง
        อยู่ที่ใจคน รู้จักใช้ก็ได้คุณได้ประโยชน์
        ไม่รู้จักใช้ก็เกิดโทษ
        ไม่่ใช้ก็ไม่ได้คุณไม่เกิดโทษ

๗๒. จุดหมายปลายทางของชีวิต  คือพระนิพพานอันอมตะ  หมดทุกข์ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย


        อ่านแล้วก็คงจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลวงพ่อเป็นทั้งนักพูดโดยปฎิภาณแตกฉานในภาษา เป็นนักคิด
นักเขียน นักประพันธ์ นักกวีชั้นเลิศ ถ้อยคำภาษาสละสลวยกระชับแน่น  มองเห็นภาพพจน์ ถ้อยคำก็มีสาระ มีแก่นสาร มีถ้อยคำอันลึกซึ้ง หลวงพ่อแตกฉานในธรรมะ ใครอ่านแล้วคงจะไม่สงสัยเลยว่า  หลวงพ่่อเป็นพระอริยสงฆ์หรือไม่  ถ้าหากว่าเอาการละสังโยชน์ ๑๐  มาจับกับคุณธรรมของหลวงพ่อ  เป็นเครื่องวัดคุณสมบัติของพระอริยสงฆ์ดู  ก็จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อก็จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อเป็นพระอริยสงฆ์ องค์หนึ่ง
     

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

     
       
     



        

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๓๒ พระโพธิสัตว์คาถา



๓๒. พระโพธิสัตว์คาถา


     นโม โพธิสัตโต มหาสัตโต อวโลกิเตศวร
     มเหศวร ราเมศวร ปรเมศวร พิฆเณศวร นเรศวร สิเนศวร ทัพเพศวร พุทเธศวร สักกาเรหิ โสตถิสาโภ ชัยโย นิจจัง ชัยยะตุ ภะวัง สัพพะศัตรู วินาสสันติ สัพพะ ทุกขะวินาสสันตุ  สัพพภัยยะ  วินาสสันติ สัพพะโรคะ วินาสสันติ ฯ 

     ต่อไปนี้จะกล่าวสรุปคำสอนของหลวงพ่อเงิน  ที่ได้พูดได้เขียนไว้เท่าที่มีผู้จดจำไว้ได้   รวมทั้้งบทประพันธ์ บทกวี ทีหลวงพ่อแต่งไว้  
๑. รู้จักพอก่อสุขทุกสถาน
๒. กรรมเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานได้
๓. ถึงตัวเราตายแล้ว  กรรมที่เราทำไว้ยังเป็นมรดกที่ยังเหลืออยู่
๔. ถ้าหากรักลูกรักหลาน  รักญาติรักมิตร ก็อย่าประกอบกรรมชั่วอย่างใดเลย  เพราะมันจะตกทอดถึงเขาด้วย
๕. จงอย่าเป็นคนติด   จงเป็นผู้ก้าวหน้า
๖. การศึกษาเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้
     ความรู้เป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์
     การงานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์
     ทรัพย์เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข
     ความสุขเป็นยอดปรารถนาของบุคคล
๗. จิตหาญ ใจพ้นทุกข์  สุขด้วยธรรม
๘. การใช้จ่ายโดยไม่มีประโยชน์เลย  ก็เท่ากับประมาท ดูหมิ่นดูแคลนทรัพย์  ทรัพย์ก็จะค่อยๆหนีเราไปจนหมด  ถ้ารักทรัพย์จะมีมากมีน้อยก็จะมาอยู่เป็นคู่สุขไปกับเราไปตลอดชาติ
๙. คนกะพี้ คือไม่มีแก่น คือความดีที่น่าปรารถนา
๑๐. คนรกในบริษัท ถ้ามีคนชนิดนี้อยู่ในหมู่ใดคณะใด  หรือในประเทศใด ชาติใด  ก็จะรกหมู่รกคณะรกประเทศรกชาตินั้น  ที่สุดก็จะรกโลกนั่นเอง
๑๑. "เราย่อมไม่เล็งเห็น แม้ซึ่งธรรมข้อหนึ่ง  ชนิดอื่นที่เป้นไปเพื่อความฉิบหายอย่างใหญ่หลวง  เป็นเหตุยังอกุศล คือความชั่ว ซึ่งยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น   หรือยังกุศลคือความดี ซึ่งเกิดขึ้นแล้วให้เสือมไปรอบเหมือนกับความเกียจคร้าน   ดังนี้แลภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเกียจคร้านอยู่ในธรรมวินัยอันเราตถาคตกล่าวดีแล้ว  ผู้นั้นย่อมเป็นทุกข์"
๑๒. ถ้าบุคคลเกิดเกียจคร้านขึ้นเวลาใด  คุณสมบัติหรืออะไรอันมีอยู่ เป็นต้องวอดวายไปในเวลานั้น   คนที่มีความรู้ศิลปวิทยาเครื่องดำรงตน  ถ้าเกียจคร้านไม่หมั่นฝึกฝนซักซ้อม  หรือประกอบใช้อยู่เนืองนิจ ความรู้ก็ต้องวิปริตเลอะเลือนเสื่อมคลายจนใช้การไม่่ได้ สมดังนัยพระพุทธภาษิตว่า อสชฺฌาย มลามนฺตา มนต์คือความรู้ทั้งหลาย เป็นมลทินเลอะเลือน  เพราะไม่สังวัธยาย  คือไม่ฝึกซ้อมประกอบใข้อยู่เสมอๆ
๑๓. เชื่อเถอะว่า  คนที่มาลักของๆเราไป  เขาเตรียมตัวไว้สำหรับไปเกิดเป็นบริวารของเราในชาติหน้า ฉันกลัวอย่างเดียวว่า เราจะยากจนไม่มีอะไรจะให้เขาลักขโมยเท่านั้น  ชาติหน้าเราก็จะไม่มีบริวาร เพราะกรรมมันไม่แต่งให้เขามาเป็นบริวารของเรา
๑๔. สังขารคือร่างกายนั้น ก็เหมือนรถยนต์  คนขับก็เหมือนจิต  ถ้าคนขับดี  รถยนต์ก็ปลอดภัยดี  ไม่คว่ำ ไม่ชน ไม่ตกเหว คนขับไม่ดีก็มีอันตราย ฉันใดฉันนั้น  สังขารร่างกายของเรา ซึ่งมีจิตเป็นผู้ขับ  ถุ้าใครจิตไม่ดี ก็อาจจะพาสังขารไปเป็นอันตราย
๑๕. กายยนต์ผุพังชำรุด  จิตก็ต้องไปหากายใหม่ขับขี่ เหมือนคนขับรฃถ เมื่อรถชำรุดผุพังใช้การไม่ได้แล้ว ก็ต้องทิ้งเป็นเศษเหล็ก กระเสือกกระสนไปหารถคันใหม่ขับแทน  ถ้าผู้นั้นมีเงินมีทรัพย์ก็สามารถหารถดีๆ มาขับขี่่ได้อีก ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีทรัพย์ ก็ไม่มีรถคันใหม่มาใช้ หรือมีแต่น้อยก็ต้องหารถเลวๆ ราคาถูกๆ มาขับขึ่ อุปมาเหมือนจิตที่มิได้สร้างกุศลผลบุญไว้เลย  เมื่อออกจากกายยนต์คันเก่าไปแล้ว คือตายจากสังขารเก่า ก็จะหาสังขารใหม่ไม่ได้ หรือถ้าหากจะได้ ก็ได้สังขารเลว เช่นว่า ไม่สวยงาม ไม่แข็งแรงและขี้โรค  สามวันดีสี่วันไข้
๑๖. ธรรมะนั้นจะสอนให้ใครก็ต้องให้เขารับด้วย  ถ้าเขาไม่ยอมรับฟังหรือจดจำ เอาไปปฎิบัติด้วยศรัทธาความเชื่อถือ เพียงแต่เขานิ่งฟังเพราะยังมีความนับถือเท่านั้น  ธรรมะช่วยอะไรไม่ได้เลย เปรียบเเสมือนหนึ่งเราเป็นหมอ เขาเป็นคนไข้ บอกยาให้เขาต้มกิน เขาก็ไม่ต้มกิน  เราสงสารเขาอุตส่าหฺ์ไปต้มมาให้เขาก็ไม่กิน  เราสงสารกลัวเขาจะตายกรอกยาลงไปในปากเขา  เขาบ้วนทิ้งเสียฉะนี้แล้ว  จะไปช่วยคนไช้ได้อย่างไร  ก็ต้องปล่อยให้เขาตายไปตามกรรม
๑๗. ป่าในใจ คือ โลภโกรธหลง  ป่าทั้งสามอย่างนี้มีในใจของใคร ผู้น้ันก็จะกลายเป็นคนไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี  มีความป่าเถื่อน  ถึงกับสิงเอาความโหดร้ายเข้าไว้ในตน  ดุจเอาวิญญาณของเสือสิงห์สัตว์เดรัจฉานทีมีแต่ความดุร้ายไว้ในตน ปล้นฆ่า ลักขโมย ปราศจากคุณงามความดีและอภัยทานใดๆทั้งสิ้น
๑๘.หนอนดอกไม้  ก็ว่าเกสรดอกไม้อร่อยดี  หนอนในส้วมก็ว่าอุจจาระอร่อยหอมหวานดี
๑๙. ถ้าหากลูกเขาจะฆ่ากันเอง  ก็นึกเสียว่าเป็นกรรมเก่าของเขาทั้งสองสร้างกันไว้ไม่ดี เคยให้ทุกขืกันมาแต่ปางก่อน
๒๐. อย่าเกี่ยวแฝกมุงป่าพาฉิบหาย
       เงินทองของมีค่าอย่ามักง่าย
       ยามจนใครจะช่วยเจ้าก็เปล่าตาย
๒๑. ยามมั่งมีพวกพ้องนั่งมองหน้า
       ใครก็ว่าเราดีมีศักดิ์ศรี
       เมื่อยามจนแม้คนที่เคยรัก
       ก็ยังผลักเรากระเด็นเห็นหรือยัง
๒๒. ต้นไม้ก็เหมือนจิตมนุษย์เรา  ลิงบนต้นไม้ก็เหมือน ปาก นัยน์ตาและหู ถ้าต้นไม้ใดมีวานรท้ัง ๓ นี้ไว้ ไม่เชื่องซุกซนกระวนกระวายแล้วไซร้  ต้นไม้น้ันย่อมมีแต่ความอับเฉาตลอดเวลา
๒๓. การที่เหล็กจะมีสนิมหรือไม่  มันอยู่ที่สถานที่เก็บต่างหาก เหล็กดีๆ เอาไปแช่น้ำครำพักเดียวก็สนิมจับ
๒๔. การกระทำความดี  กระทำบุญกุศลอะไรๆ ขอให้กระทำด้วยเจตนาหรือความตั้งใจจริงๆ อยาทำตามๆเขาไป
๒๕. หนึ่งทำนาทำสวน  สองค้าขายหรือรับจ้าง  สามรับราชการ  ใครถนัดทางไหน ก็ต้ังใจทำเถอะ  ร่ำรวยไม่จนหรือ ได้มาก็รู้จักใช้ รู้จักเก็บ  อย่าใช้ในสิ่งที่ไมจำเป็น  แล้วตั้งตัวได้ทุกคน
๒๖. ๑. เคารพวิชาที่เราเล่าเรียนฝึกฝนมา ทำอะไรอย่าทำชุ่ยๆ ทำให้ดีขึ้นเป็นลำดับ
       ๒. ทำอะไรให้คนอื่นก็ต้องทำให้ดี ให้เรียบร้อยสวยงาม เหมือนทำให้กับตัวเราเอง
       ๓. เมตตาสงสารเขา อย่าขูดเลือดเนื้อกันนัก  เอาแต่พอสมควร
       ๔. ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น รักษาน้ำใจ รักษาเวลา  และรักษาคุณภาพของกิจการไว้ให้ดีเสมอ
๒๗.ของขลังน้ันมันเกิดจากความตั้งใจ เมื่อเรามีความตั้งใจ รวมพลัง ๕ พร้อมกันเมื่อไร ก็เกิดพลังขึ้นเรียกว่า "พลธรรม"  ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา  สามารถประกอบกิจการใดๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้  นี่แหละคือความขลัง  คนเราถ้าขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องไปพึ่งพาสิ่งภายนอกแล้วก็ไม่ขลัง  ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่นายโต  จะทำนาค้าขาย จะม่ั่งมีทรัพย์สมบัติล้วนขึ้นอยู่กับพลธรรม ๕ นี้
๒๘. เจอของตกก้มิให้เก็บ  เพราะชาติหน้าต้องไปใช้หนึ้เป็นบริวารเขา
๒๙. เข้าไปในนา ก็ไม่ให้เหยียบข้าวของเขา  จะบาปต้องไปใช้หนึ้เขาในชาติหน้า
๓๐.ลักขโมยของเขาเป็นบาป   ชาติหน้าต้องไปใช้หนี้เป็นขี้ข้าเขา
๓๑. ทรัพย์สมบัติของสถานที่สาธารณะไม่ว่าอะไร  ถ้าเราเอามาละก็เป็นบาปทั้งน้ัน  แม้แต่ดินที่ติดอยู่กับฝ่าเท้า  เวลาจะออกจากวัดก็บาป  เพื่อป้องกันบาปขาเข้าวัด ให้นำดินมาถมวัดก้อนหนึ่ง  แม้จะเล็กเท่าลูกกระสุนหรือเล็กกว่าน้ันก็ยังดี
๓๒. หากมีอาวุธเข้าไปในวัด  จะเป็นมีด ไม้ หรือเป็นอย่างใดก็ตาม ต้องเอาผ้าปิดเสียให้มิดชิด แสดงคารวะสถานที่ธรณีสงฆ์ว่าเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์
๓๓. แม้จะเดินในวัดวา  ก็ต้องมีกิริยาเรียบร้อยสุภาพ นุ่งโสร่ง นุ่งหยักรั้งถกเขมนเข้าวัดนั้นไม่่ดี ไม่เคารพพระพุทธศาสนา ไม่เชิดชูพระพุทธศาสนา เป็นบาป  พูดจาในวัดก็ต้องระมัดระวัง  จะหยาบคายไม่ได้
๓๔. เข้าวัดเห็นโบสถ์วิหาร พระเจดีย์ ต้นโพธฺิ  ให้ภาวนาคาถาว่า
"วันทามิ อามาเม พัทธเสมายัง เจติยัง สัพพังสัพพฐาเน สุปะติฎฐิตัง สารีริกะธาตุ มหาโพธิง พุทธะรูปัง  สักการัง สทา วันทามิ พุทธัง สังฆัง วันทามิ ฯ"

๓๕. ขากลับออกจากวัดให้มองดู พบมูลฝอยสิ่งใดทำให้วัดสกปรก ต้องเก็บติดมือออกไปทิ้งนอกวัด การทำดังนี้ ลูกหลานจะได้บุญ ทั้งชาตินี้ชาติหน้า  จะมีร่างกายสะอาด สวยงาม ผิวพรรณผุดผ่อง
๓๖. พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อม  มิได้อยู่ที่มีวัดน้อยวัดมาก หรือมีคนบวชมาก อยู่ที่คนเข้าใจศาสนา มีการศึกษา มีการปฎิบัติอย่างถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญ
๓๗. เราพากันบวชเรียนเยอะแยะ แต่บวชแล้วมิได้เล่าเรียนศึกษา  หาความรู้ความเข้าใจหลักธรรม แล้วใครเล่าจะเป็นผู้ค้ำจุนศาสนา ก็เท่่ากับศาสนาของเรามีแต่เปลือก มีแต่กระพี้  หาแก่นสารอะไรมิได้
๓๘.ความดีที่เราทำแล้วเขาไม่รู้นี่แหละวิเศษนัก  เพราะเรารู้เองว่าเราทำดีหรือทำชั่วแก่เขา  ความสุขสบายใจเกิดจากใจของคนอื่นเมื่อไรเล่า มันจะสุขใจ ทุกข์ใจ ดีใจ เสียใจ ก็อยู่ที่หัวใจเราต่างหาก
๓๙. ในถิ่นกำแพงแสน  และวัดสามง่ามนั้น  ถ้าไม่มีพระอย่างหลวงพ่อเต๋อยู่ละก็  น่ากลัวคนไทยจะหันเข้าไปพึ่งโรงพยาบาลฝรั่งกันหมด นานไปศาสนาพุทธก็จะไม่มีใครนิยมนับถือ  เพราะเราไม่มีอะไรจะดึงดูด จูงใจให้เขานับถือ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๓๑ ตำแหน่งสมณศักดิ์



๓๑ ตำแหน่งสมณศักดิ์

     พ.ศ.๒๔๕๙   เป็นรองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม 
     พ.ศ.๒๔๖๖   เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม
     พ.ศ. ๒๔๗๒  เป็นพระครูปลัดของพระครูทักษิณานุกิจ   เจ้าคณะอำเภอเมือง 
     พ.ศ. ๒๔๗๓  เป็นเจ้าคณะตำบล
                           เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ 
     พ.ศ.๒๔๗๔   เป็นพระครูทักษิณานุกิจ  เจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม 
     พ.ศ. ๒๔๙๖   เป็นเผยแผ่ของจังหวัด 
     พ.ศ. ๒๔๙๗  เป็นพระธรรมวาทีคณาจารย์
     พ.ศ. ๒๕๐๕   เป็นพระราชธรรมาภรณ์
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๓๐ ดวงกำเนิด ดวงอุปสมบท


๓๐ ดวงกำเนิด

      หลวงพ่อเงิน  เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล  พ.ศ. ๒๔๓๓  เวลาสายพระบิณฑบาตร  ตรงกับวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๓  


ดวงอุปสมบท 

     หลวงพ่อเงิน บวชเมื่อวันที่  ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๓  เวลา ๑๘.๑๕ น.  ตรงกับวันพุธ  ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ 

     หลวงพ่อพูดกับลูกศิษย์ว่า 
     " ฉันก็เป็นเหล็กเมืองไทย  ขุดได้จากดินทุ่งนา  ตำบลดอนยายหอม   แต่ฉันเป็นเหล็กที่หมั่นใช้  หมั่นลับ เก็บรักษาไว้ดี    ไม่ให้มันตากแดดตากฝน จนขึ้นสนิม  ฉันจึงเป็นเหล็กที่คนใช้การได้  ไม่ใช่เป็นเหล็กวิลาศมาจากประเทศเยอรมันหรอก"


     หลวงพ่อเขียนสุภาษิตติดไว้ที่กุฎิริมที่นั่งประจำของท่าน   เป็นป้ายตัวโตๆ ว่า 

     "รู้จักพอก่อสุขทุกสถาน"
     ตรงกับพุทธภาษิตว่า   "สันตุฏฐี    ปะระมัง ธะนัง"  (รู้จักพอก็เหมือนมีทรัพย์มหาศาล) 
     หลวงพ่อเป็นคนรู้จักพอดีทุกอย่าง 
     คาถาของหลวงพ่อที่บอกคนก็คือ   "สัตถา เทวมนุสสานัง"  (เป็นครุของเทวดาและมนุษย์) 
     หลวงพ่อเป็นครูของคนด้วยคำสอน   และด้วยการปฎิบัติเป็นแบบอย่างตลอดชีวิต  
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๒๙ โปรดเกล้า ฯให้เข้าเฝ้าถวายพระพร

โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าถวายพระพร




เมื่อ พ.. 2507 หลวงพ่อได้รับนิมนต์เข้าไปสวดพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จแล้วก็ออกจากวัง มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขับรถตามมา พอทันก็ถามว่า
"หลวงพ่อเงินใช่ไหม?"
"ใช่"
"หยุดก่อน"
"อาตมาทำผิดอะไร?"
"ไม่ผิดอะไรหรอก แต่ในหลวงมีรับสั่งให้หลวงพ่อเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์"
"ไม่ดีหรอก อาตมากระเร่อกะร่าเข้าไปจะแลดูรุ่มร่าม ตะกี้พระองค์ท่านก็พบ อาตมาไม่เห็นว่าจะนิมนต์"
"ทรงระลึกได้ว่าใช่หลวงพ่อเงินหรือเปล่า พอแน่พระทัยก็รับสั่งให้กระผมมานิมนต์"
"กราบทูลท่านได้ไหมว่า จะขอเฝ้าภายหลังในโอกาสหน้า"
"ขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณเถิด รับสั่งให้กระผมมานิมนต์หลวงพ่อ ถ้าพบหลวงพ่อแล้วนิมนต์เข้าไปเฝ้าไม่ได้ กระผมจะกราบทูลยังไง กระผมจะเสียผู้เสียคนคราวนี้เอง หลวงพ่อนึกว่าเมตตากระผมเถิด"
หลวงพ่อสงสารนายตำรวจผู้นั้น จึงยอมกลับไปเฝ้าในหลวง เมื่อทอดพระเนตรเห็นหลวงพ่อแล้ว ก็ทรงดีพระทัยมาก เสด็จเข้ามาประทับใกล้ๆ กราบนมัสการหลวงพ่อ แล้วก็ทรงยื่นพระหัตถ์ทั้งสองมากุมมือหลวงพ่อไว้ ตรัสว่า
"ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว อยากพบหลวงพ่อ อยากรู้จักตัวหลวงพ่อมานานแล้ว"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงกราบหลวงพ่อ ทรงเรียกว่า "หลวงพ่อ" เหมือนประชาชนทั้งหลาย

นี่คือพระราชจริยาวัตรของพระบรมโพธิสัตว์ต่อพระโพธิสัตว์ ผู้อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ได้พบแล้วสนทนาวิสาสะกัน.
พระเจ้าอยู่หัวคือพระบรมโพธิสัตว์
หลวงพ่อเงิน คือพระโพธิสัตว์
อุบัติมาบำเพ็ญพระทศบารมี

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๒๘ ยึดผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์

๒๘. ยึดผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์
หลวงพ่อ บวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อายุครบบวช เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.. 2453 จนกระทั่ง พ.. 2519 รวมเวลา 66 ปี อุทิศชีวิตอยู่ในเพศพรหมจรรย์มาโดยตลอด อย่างบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ไม่เคยเคลื่อนไหวว่าจะสึก โดยกระทำให้ศีลด่างพร้อยมัวหมองเลย แม้แต่สิกขาบทเดียว ไม่เคยพูดถึงเรื่องลาสิกขากับใครเลย มีแต่ลั่นวาจาว่าจะบวชตลอดชีวิต ไม่เคยคิดแม้แต่สักแวบหนึ่งในใจว่าจะลาสิกขา ตั้งใจมุ่งมั่น แน่วแน่แต่จะฝากชีวิตไว้ในผ้าเหลือง ขอยึดเอาผ้าเหลืองเป็น ธงชัยพระอรหันต์
คำนี้เป็นคำโบราณ พูดกันมานานนับร้อยนับพันปี "ผ้ากาสาวพัสตร์ เป็น ธงชัยพระอรหันต์เหมือนทหารยึดเอาธงไชยเฉลิมพลเป็นที่พึ่งที่ระลึกยามเข้าสงคราม การบวชเป็นพระภิกษุนี้ ก็ต้องทำสงครามกับกิเลสตัณหา ความรู้สึกฝ่ายต่ำอยู่ตลอดเวลา คือเรื่อง ราคะ โทสะ โมหะ คนโบราณเข้าใจดี เวลาทอดกฐินเขาจึงทำธง เขียนรูปจระเข้ รูปคลื่น รูปนางมัจฉา 4 ผืนไปปักไว้หน้าวัด
1. ธงรูปจระเข้ คือเรื่องกิน จระเข้นั้นเห็นแก่กิน ตายเพราะกิน เตือนใจพระว่าอย่าเห็นแก่กินเหมือนจระเข้เข้า อย่าเอาแต่กินกับนอน
2. ธงรูปคลื่น นั้นก็คือ อารมณ์โกรธหรือโทสะเหมือนคลื่นในทะเลพัดเรือจม การบวชเป็นพระนั้น ท่านว่าเป็น "ผู้ชายพายเรืออยู่ในทะเลและมหาสมุทร ให้ระวังคลื่นลมพัดเรือจม เรือแตก จะไปไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน จะไม่ได้มรรคผล นิพพานอะไรเลย
3. ธงรูปนางมัจฉา นั้น หมายถึงราคะ หรือสตรีเพศ เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ พระภิกษุบวชอยู่ไม่ไหว ร้อนผ้าเหลืองเป็นไฟ ก็เพราะสตรี จึงให้สำรวมระวังอย่าเข้าใกล้ อย่าเผลอปล่อยกายปล่อยใจ อย่าพ่ายแพ้แก่อิตถีเพศ
4. รูปวังน้ำวน หมายถึง วัฏสงสารที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะกิเลสตัณหา อุปาทาน
ชาวบ้านสอนพระไม่ได้ เขาจึงทำธง 4 ผืนไปปักหน้าวัดเวลาทอดกฐิน เป็นประเพณีมาแต่โบราณกาล เขาปักธงไว้สอนพระ
แต่สำหรับหลวงพ่อเงิน ดูเหมือนธงทั้ง 4 ธงนี้ ไม่มีความหมายอะไรแก่ท่านเลยก็ว่าได้
เพราะท่านยึดเอาผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์อยู่ในชีวิตจิตใจ ถึงแม้ว่าชาตินี้จะมีบุญวาสนาไม่สำเร็จมรรคผล เป็นพระโสดา พระสกิทาคามี พระอานาคามี หรือพระอรหันต์ แต่ก็มีผ้าเหลืองเป็นจุดมุ่งหมาย เป็นธงชัยพระอรหันต์ ที่มุ่งหมายจะบำเพ็ญสมณธรรมให้บรรลุในที่สุด ถ้าไม่บรรลุในชาตินี้ก็ขอบรรลุในชาติต่อ ๆ ไป
หลวงพ่อเงินเป็นพระมหานิกาย โดยเฉพาะก็คือ เป็นพระสงฆ์ที่เชื่อถือลัทธิพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นความเชื่อถือสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยแล้ว หลักฐานก็คือ หนังสือไตรภูมิพระร่วงนั่นแหละ ที่พระเจ้าลิไทยธรรมราชาแต่งขึ้น ก็แสดงความเชื่อถือเรื่อง ลัทธิพระโพธิสัตว์อย่างชัดแจ้งที่สุด
ลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ที่ย่อที่สุดก็คือเชื่อว่า ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อตายในชาตินี้ แต่ยังมีชีวิตสืบเนื่องต่อไปหลังความตาย จะต้องไปเกิดใหม่ในชาติหน้า จะต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสารนี้ไม่รู้จักสิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์ตัดกิเลสสิ้นขาดแล้ว แต่พระอรหันต์ที่ดับขันธ์ไปสู่นิพพาน ก็ใช่ว่าจะสิ้นสูญ ยังคงมีชีวิตสถิตอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้วนั้นเอง เป็นชีวิตอมตะไม่รู้จักตาย เป็นชีวิตนิรันดร เที่ยงแท้ไม่แปรผัน ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่ยังคงมี "ชีวิต" อยู่ในพระนิพพานชั่วนิรันดร
ชีวิตของคนผู้ยังไม่บรรลุพระอรหันต์นั้น จะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ต้องตายเกิด ตายเกิด อยู่เช่นนี้ตลอดไป ไม่รู้จักสิ้นสุด ต้องทนทุกข์เวทนา เพราะการเกิดแก่เจ็บตายนี้ ไม่รู้จักสิ้นเวรกรรมลงได้เลย พระพุทธองค์เห็นทุกข์ เห็นภัย ในวัฏสงสารเช่นนี้ จึงแสวงหาโมกขธรรม แสวงหาพระนิพพาน ความหลุดพ้นโลก เป็นโลกุตระ (เหนือโลก พ้นโลกไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงสถิตอยู่ในพระนิพพานนั้น ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ยังมีพระพุทธานุภาพอยู่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ประดุจพลังงาน ไฟฟ้ามีอยู่คู่โลกธาตุ
ชีวิตอมตะ หรือชีวิตนิรันดรนั้นมีอยู่ทุกศาสนา ศาสนาฮินดูตายแล้วก็ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาคริสต์ ตายแล้วก็ไปอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า ศาสนาอิสลาม ตายแล้วพระผู้เป็นเจ้าก็รับไปอยู่ในสวรรค์ ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อตายร่างกายแตกดับ ถ้าหากว่าพระนิพพานสูญสิ้นเชื้อ ไม่เหลือเลย คนก็กลัวนิพพาน
แต่ชาวพุทธที่นับถือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระพุทธองค์สอนไว้มากมายนักหนา ในเรื่องชาดกต่างๆ 500 ชาติ ว่าพระองค์ก็เคยเกิดเสวยพระชาติเป็นสัตว์น้อย ๆ ตั้งแต่นกกระจาบ นกคุ่ม จนกระทั่งถึงสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง พญาฉัททันต์ จนกระทั่งเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นเสนาอำมาตย์ เป็นพราหมณ์ เป็นฤๅษี เป็นกษัตริย์ เป็นพระเวสสันดรชาติสุดท้าย ก่อนจะอุบัติเกิดมาเป็นพระพุทธองค์ในชาตินี้ นี่คือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ อันเป็นพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ มากกว่า 2000 ปีแล้ว
หลวงพ่อเงินท่านบวชในนิกายสยามวงศ์ หรือนิกายพระโพธิสัตว์นี้ เหมือนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้นิพนธ์เรื่องปฐมสมโพธิกถาไว้ ในหนังสือเรื่องนี้ ก็สอนเรื่องพระโพธิสัตว์ไว้ตลอดเรื่อง ทรงเรียกพระนิพพานว่า
"พระอมตะมหานิพพาน"
แปลว่า พระนิพพานอันเป็นอมตะอย่างยิ่ง คือ พระพุทธเจ้านั้นสถิตอยู่ในพระอมตะมหานิพพาน ท่านไม่ได้สูญหายไปไหน ท่านเป็นอมตะ ยังอยู่ในพระนิพพานชั่วนิรันดร
ขอยืนยันว่า ปฏิปทาของหลวงพ่อก็ดี จริยาวัตรของหลวงพ่อก็ดี คำสอนของหลวงพ่อก็ดี หลวงพ่อเชื่อถือเรื่องพระโพธิสัตว์ หลวงพ่อเชื่อว่าตัวท่านคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาบำเพ็ญบารมี เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย และชาติสุดท้าย ท่านจะได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ในอนาคตกาลอีกแสนไกล