วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๒๖ กรมตำรวจส่งคนมาศึกษา

๒๖. กรมตำรวจส่งคนมาศึกษา
เรื่องการช่วยราชการบ้านเมืองของหลวงพ่อนั้น ท่านทำมานาน เช่น เรื่องการปราบหวยเถื่อน ปราบโจร สร้างโรงเรียน สร้างสถานีอนามัย รวมทั้งการสร้างถนน สายพระปฐม - ดอนยายหอม ซึ่งต่อมาก็สร้างถึงอำเภอบ้านแพ้วด้วยนั้น ก็เกิดจากผู้หลักผู้ใหญ่ไปหาหลวงพ่อที่วัด แล้วให้การสนับสนุนอีกทางหนึ่งจึงเกิดถนนสายนี้ขึ้น
เรื่องการช่วยราชการบ้านเมืองของหลวงพ่อนี้ เป็นที่รู้กันทั่วไปมานานแล้ว ราชการกรมกองไหนที่จะทำการพัฒนาบ้านเมือง ก็ต้องนึกถึงหลวงพ่อเงิน รู้จักหลวงพ่อเงินทั้งนั้น กรมตำรวจก็รู้ดีว่า โจรผู้ร้ายสงบ เพราะบารมีของหลวงพ่อช่วยอยู่ทางอ้อม
เมื่อ พ..2497 สมัย พล..เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ก็เคารพนับถือหลวงพ่อมาตั้งแต่ครั้งปราบเสือผาด ทับสายทอง เคยนิมนต์หลวงพ่อไปพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง "สมเด็จเผ่า" ที่วัดบางขุนพรหม นิมนต์หลวงพ่อไปทำพุทธาภิเษก เหรียญ 25 พุทธศตวรรษ
นอกจากนั้น สมัยนั้นเริ่มการโอนอำนาจการสอบสวนจากอำเภอไปให้ตำรวจ ได้ประชุมพิจารณากันเมื่อวันที่ 4มิถุนายน พ..2497 ท่านอธิบดีกรมตำรวจได้กล่าวว่า
"ต่อไปข้างหน้า การสอบสวนจะเป็นของตำรวจ ปลัดอำเภอจะให้ไปทำงานด้านเศรษฐกิจ จึงควรชี้แจงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทราบ เพราะการเศรษฐกิจเป็นของสำคัญที่สุด ถ้าประชาชนอยู่ดีกินดีแล้ว โจรผู้ร้ายหัวลักหัวขโมยก็จะไม่มี เช่น สมภารวัดดอนยายหอม ท่านมีวิธีการอย่างไร จึงสอนคนให้ตั้งอยู่ในสัมมาอาชีพได้ ท่านเรียกเอานายทุนมาชุมนุมกัน เรียกเอาอันธพาลมาชุมนุม แล้วชี้แจงประกาศตัวคนร้าย คนร้ายก็ไม่มี เพราะประชาชนรู้จักตัว และคอยปราบปราม ท่านชี้แจงว่านายทุนต้องอาศัยคนจน คนจนก็ต้องอาศัยนายทุน ห้ามสูบฝิ่นกินเหล้า จึงรวมความว่า อำเภอควรรับหน้าที่ทางด้านเศรษฐกิจและคงให้มีอำนาจในทางสอนสวนบ้างเหมือนกัน
เรื่องสมภารวัดดอนยายหอม ให้ พ...สุนทร พันธุมณี และ พ...กว้าง โรหิตรัตน์ ไปสืบเสาะเขียนมา จะได้พิมพ์แจกนายอำเภอเดือนหน้าให้เสร็จ"
เรื่องนี้ พ...สุนทร พันธุมณี ได้ไปหาหลวงพ่อ และเขียนวิธีการปกครองของหลวงพ่อตามคำสั่ง พล...เผ่า ศรียานนท์ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตำรวจ ฉบับพิเศษ วันตำรวจเล่ม 20 ประจำปี พ.. 2497 ผู้สนใจจะค้นหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือนั้น
เล่าเรื่องนี้ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าทางราชการกรมตำรวจก็ทราบดีว่าหลวงพ่อได้ช่วยราชการบ้านเมืองอยู่อย่างไร และเรื่องที่ช่วยราชการนั้น ก็ไม่ได้มีใครไปไหว้วานหลวงพ่อเลย
คำกล่าวที่ว่า หลวงพ่อเป็นพระโพธิสัตว์มาอุบัติในโลกนี้ เพื่อบำเพ็ญบารมี เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย จึงไม่เกินความจริง แต่ตรงกับจริยาวัตรของหลวงพ่อตามปกติธรรมดาเท่านั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๒๕ ช่วยราชการบ้านเมือง

๒๕. ช่วยราชการบ้านเมือง
พระเจ้าตากสินมหาราช เคยตรัสกับพระสงฆ์ว่า
"เรื่องอาณาจักรเป็นเรื่องของโยม
เรื่องพุทธจักรเป็นธุระของพระผู้เป็นเจ้า"
หมายความว่า ภาระหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองนั้น เป็นเรื่องของฆราวาสญาติโยม แต่เรื่องภาระธุระทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์
คำว่า พระผู้เป็นเจ้า นั้นหมายถึง พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เจ้าทั้งหลายทั้งปวง
ความหมายที่ลึกลงไปกว่านี้ก็คือ การปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั้น จะต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายพุทธจักร จึงจะสามารถรักษาชาติศาสนาไว้ได้
สมัยโบราณท่านถือว่า แม้พระยาช้าง พระยาม้า ก็รับราชการ เป็นเครื่องมือในการปกครองรักษาพระราชอาณาจักร พระสงฆ์เจ้าคณะทั้งปวง ตลอดจนพระครูสอนพระธรรม ก็รับราชการด้วย ท่านจึงถวายเงินนิตยภัต พัดยศ ตราตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นข้าราชการนั่นเอง
หลวงพ่อเงินดูเหมือนว่าจะถือคติโบราณอันนี้มาตลอดเวลา ตลอดชีวิตของท่าน ท่านถือว่า ตัวท่านมีภาระหน้าที่ ต้องช่วยราชการบ้านเมือง ไม่ต้องบอกไม่ต้องนิมนต์ ไม่ต้องสั่ง ท่านก็ทำอยู่โดยปกติธรรมดา
เมื่อทางราชการขอร้องท่านก็ทำสิ่งใดการใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง แก่พระศาสนา หรือเป็นประโยชน์สุขแก่มหาชน หลวงพ่อทำ หลวงพ่อรับภาระ หลวงพ่อช่วยเหลืออย่างเต็มสติปัญญาไม่เคยหลีกเลี่ยง ไม่เคยเกี่ยงงอน ไม่เคยรีรอ ไม่เคยเล่นแง่ ไม่เคยต้องให้ขอร้อง ไม่เคยคิดเอาหน้าเอาชื่อ ไม่เคยวางใหญ่ ว่างานนี้ร้อง ฉันต้องเป็นหัวหน้า ฉันเป็นประธาน ฉันเป็นผู้ชี้ขาด ฉันต้องมีอำนาจคุม ไม่มีเลยในเรื่องเหล่านี้
ดูเหมือนหลวงพ่อจะถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วย จะต้องทำไปหมดทุกเรื่อง ไม่ต้องรอให้ผีเห็น คนเห็น ไม่ต้องรอให้คนยกย่อง ไม่ต้องรอเอาชื่อเอาหน้าอะไรทั้งสิ้น คนที่รู้จักหลวงพ่อจะต้องยอมรับในเรื่องนี้ บางทีลูกศิษย์คิดค้านก็มี ว่าเรื่องนี้หลวงพ่อไปรับทำทำไม ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของหลวงพ่อเลย แต่หลวงพ่อเฉย หลวงพ่อทำต่อไปตามปกติ
จะขอยกตัวอย่างให้เห็นสักเรื่องหนึ่ง
คือเรื่องโรงพยาบาลนครปฐม แต่เดิมนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในที่ดินคับแคบ มีอาคารไม้หลังเล็ก ๆ มีไม่กี่เตียง อยู่ในบริเวณทิศตะวันตกขององค์พระปฐมเจดีย์
ต่อมานายพล วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด น..สมใจ สุชาดำ สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษากันว่า ควรจะย้ายไปสร้างใหม่ในที่ราชพัสดุ หน้าโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ซึ่งเดิมเป็นของโรงเรียนนายร้อยนครปฐม เมื่อได้ที่ดินซึ่งกว้างขวางพอสมควรแล้ว ก็มาถึงงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งจะต้องใช้เงินนับสิบล้าน จะได้มาอย่างไร
แน่นอนส่วนใหญ่จะต้องได้มาจากการบริจาคของประชาชน แต่การที่ประชาชนจะบริจาคนั้นเขาจะต้องมีสิ่งที่เขาเลื่อมใสศรัทธา จะต้องมีแกนกลางของการบุญกุศล หยิบยกเอามาเป็นประธาน เป็นจุดศูนย์กลาง เป็นจุดดึงดูดบุญบริจาค มองดูจนทั่วทิศรอบองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ไม่มีใครจะวิเศษเท่าหลวงพ่อเงินเลย จึงตกลงจะให้หลวงพ่อเงิน เป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ โดยวิธีหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อเงินขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นของสมนาคุณผู้บริจาคเงิน
ได้กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบ หลวงพ่อก็ยินดีอนุญาตให้ทำได้ตามความประสงค์ จึงได้ดำเนินการกันต่อมา มีผู้บริจาคทรัพย์จำนวนมาก พอที่จะสร้างโรงพยาบาลได้ โดยยกหลวงพ่อเงินเป็นประธานโรงพยาบาลแห่งนี้ จึงสร้างต่อมาได้ดังความประสงค์ ด้วยเงินจำนวนมาก และทางกรรมการก็ได้สร้างอาคารตึกพยาบาลขึ้นหลังหนึ่ง ตั้งชื่อว่า "อาคารราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน)" พ่อค้าขายดีก็บริจาคทรัพย์กันรายละมาก ๆ เป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสนก็มีมาก
นี่คือบารมีของหลวงพ่อเงินที่ได้ช่วยชาติบ้านเมืองเรื่องหนึ่ง ซึ่งยังมีหลักฐาน ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
และดูเหมือนจะเป็นต้นแบบที่เกิดโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ที่สุพรรณบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนโรงพยาบาลหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ในเวลาต่อมาด้วย กล่าวเช่นนี้คงจะไม่เกินความจริงอะไร เพราะโรงพยาบาลนครปฐมของหลวงพ่อเงินเกิดก่อนแห่งอื่น ๆ ทุกแห่ง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๒๔ บารมีแผ่ไพศาล

๒๔. บารมีแผ่ไพศาล
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงสอนเรื่อง สันโดษ ให้พอใจในสิ่งที่มี ที่ได้ที่เป็นที่เราแปลกันว่า "มักน้อย" อันที่จริงแปลไม่ตรงความหมายแท้ของคำสอนนี้ทีเดียว ต้องศึกษาทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ต่อไป เพราะพระพุทธองค์นั้น ไม่เคยทรงสันโดษในบุญกุศล หรือคุณความดีเลย พระองค์มีพระหทัยเหมือนทะเล ไม่อิ่มน้ำ ในเรื่องการบำเพ็ญบุญกุศล ไม่เคยหยุด ไม่เคยพอเลย ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา พระองค์ไม่เคยหยุดพักการโปรดสัตว์แม้วันสุดท้าย จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอยู่แล้ว ยังโปรดให้สุภัททะปริพาชกเข้าเฝ้า เพื่ออุปสมบทให้เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้าย ในวันเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้นเอง
ถ้าดูปฏิปทาของหลวงพ่อเงิน ก็ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทพระบรมศาสดา เหมือนหลวงพ่อทำงานตามหน้าที่ตลอดเวลา ไม่มีพัก ไม่มีหยุด ไม่มีย่อท้อ ไม่มีเบื่อหน่าย ยินดีในการสร้างบุญสร้างกุศลอยู่ตลอดเวลา จับงาน ทำงาน รับทำ อยู่ตลอดเดือน ตลอดปี รับแขกอยู่ตลอดวัน รับนิมนต์ไปทำกิจอยู่ตลอดปี จนมองดูกว้างขวางออกไปทุกที ๆ จะพรรณนาไปก็ไม่หมดสิ้น เพระไม่มีใครติดตามจนจำได้หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่อง คงพูดกันได้ เขียนได้ เล่ากันได้ เฉพาะเรื่องที่รู้เห็นเท่านั้น เพราะหลวงพ่อบวชมาตั้งแต่ปี พ.. 2453-2519 รวมเวลา 66 ปี นับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมาก เหลือกำลังที่ใครผู้ใดจะติดตามจดจำมาเล่ากันได้หมดสิ้น เพราะหลวงพ่อทำงานให้แก่พระศาสนามาตลอดเวลา 66 ปีนั้น ไม่เคยหยุดเลย ไม่เคยพักเลย
งานที่หลวงพ่อทำนั้น ถ้าหากจะแยกประเภทออกไปตามหลักของกิจการพระสงฆ์ก็คงจะได้ 10 อย่างคือ
1. การบริหาร   หรืองานปกครองพระสงฆ์
2. สาธารณูปการ หรืองานการบูรณปฏิสังขรณ์ หรืองานก่อสร้างอาคารวัตถุ
3. การศึกษา   หรืองานด้านพระปริยัติธรรม
4. การเผยแผ่   หรืองานเผยแพร่พระศาสนา
5. การสังคมวัฒนธรรม   คืองานที่เกี่ยวกับเรื่องสังคมท้องถิ่นและวัฒนธรรมประเพณี
6. การอุปสมบท    ให้กุลบุตร ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา
7. การช่วยราชการ   คืองานช่วยบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ เช่นทำถนนสร้างโรงเรียน
8. การพระธรรมวินัย   คือการรักษาศีล รักษาธรรม ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน
9. การสงเคราะห์ประชาชน  ในด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล การรักษาความสงบ ความปลอดภัย
10. งานเบ็ดเตล็ดอื่น  อันเป็นเรื่องปลีกย่อย และนอกเหนือหน้าที่ เช่น งานเจิมรถ เจิมป้าย งานพุทธาภิเษก งานของทางราชการต่างๆ งานของเอกชน ที่มาขอร้องให้ช่วย
งานทั้ง 10 ประเภทนี้ หลวงพ่อรับทำ รับธุระ เอามาเป็นภาระธุระทุกสิ่ง ทุกอย่าง ไม่เคยหลีกเลี่ยง ไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยย่อท้อ ไม่เคยออกปากบ่นเลย
บารมีหลวงพ่อจึงแผ่ไพศาลครอบคลุมไปทั่วบ้านเมือง
สร้างอาคารเรียนราคาล้าน
Description: http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-ngern-wat-don-yai-hom/lp-ngen-pic-06-02.jpgเมื่อ พ..2496 หลังจากสร้างอุโบสถเสร็จได้ 3 ปีเต็ม หลวงพ่อก็เริ่มงานก่อสร้างใหม่อีก ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารเรียนประชาบาล ขนาดใหญ่ เป็นตึกคอนกรีตตามรูปแบบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ เป็นตึก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 80 เมตร 18 ห้องเรียน ไม่ใช่ตึกก่ออิฐถือปูนธรรมดา แต่เป็นตึกเทคอนกรีตทั้งหลัง หลังคาทรงไทยสวยงาม นับเป็นอาคารเรียนตึกคอนกรีตหลังแรกของจังหวัดนครปฐม ไม่มีสมภารเจ้าวัดองค์ใด จะกล้าหาญชาญชัย ทำการก่อสร้างตึกขนาดนี้มาก่อน แม้โรงเรียนมัธยมของรัฐบาล ก็ยังไม่มีขนาดนี้
อาคารเรียนหลังนี้ได้รับเงินงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ 200,000 บาทโดยพลอากาศเอก หลวงเชิดวุฒากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ได้ไปหาหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอม เมื่อเห็นกำลังลงมือทำการก่อสร้างอยู่ ก็ได้สอบถามหลวงพ่อว่า สร้างด้วยเงินอะไร สิ้นเงินไปเท่าไร เมื่อทราบว่า ไม่ได้เงินงบประมาณเลย ก็รับปากว่าจะจัดสรรเงินงบประมาณให้ 400,000 บาท แต่เมื่อกลับไปแล้ว ก็จัดสรรเงินมาสมทบทุนก่อสร้างได้เพียง 200,000 บาท
หลวงพ่อได้ทำการก่อสร้างคิดเป็นค่าวัสดุที่จำเป็นต้องซื้อ เช่น หิน ทราย เหล็ก ปูน ประตู หน้าต่าง และตัวไม้อื่น ๆ ประมาณ 1,600,000 บาท ในสมัยนั้น ส่วนค่าแรงนั้น ชาวตำบลดอนยายหอมได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำงาน ขุดหลุม ตอกเข็ม ขนดิน ขนทราบ แบกหาม โดยไม่คิดค่าแรงงานเลย จนแล้วเสร็จ
อาคารเรียนหลังนี้ ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมสมัยนั้นได้ตั้งชื่อว่า "โรงเรียนหลวงพ่อเงินอุปถัมภ์" เป็นอาคารเรียนที่ชาวตำบลดอนยายหอมภาคภูมิใจมาก เพราะได้ลงมือสร้างร่วมบุญร่วมกุศลกับหลวงพ่อ ทั้งบริจาคเงินและแรงงาน โดยมีหลวงพ่อเป็นประธานในงานบุญนี้ เป็นอาคารซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดี และพลังแห่ง ความรักสามัคคีของผู้คนจำนวนมาก สมกับพระพุทธวัจนะ แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ตรัสไว้ว่า
พลัง สังฆัสสะ สามัคคี
(สามัคคีก่อให้เกิดพลังแก่หมู่คณะ)
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี
(สามัคคีก่อให้เกิดความสุขแก่หมู่คณะ)
แต่ความสามัคคีจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีแกนแห่งความสามัคคี สามัคคีจะก่อให้เกิดขึ้นได้ เพราะมีแกนรวมน้ำใจ และแกนแห่งความสามัคคีนั้นก็คือบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมมา ด้วยพลังแห่งศีล พลังแห่งธรรมหลายสถาน เช่น เมตตาธรรม เป็นต้น หลวงพ่อเงินคือ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติดังว่านี้ คนทั้งหลายจึงเชื่อมั่นว่า หลวงพ่อเงินคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาเกิดเพื่อบำเพ็ญเพียรบารมี เป็นที่พึ่งพำนักแก่สัตว์โลกทั้งหลาย
สร้างสถานีอนามัย
ก่อนหน้านี้หลังจากสร้างอุโบสถ เป็นตึกคอนกรีตเสร็จลงใน พ.. 2492 ซึ่งเป็นโบสถ์คอนกรีตหลังแรกในจังหวัดนครปฐม ราคาล้านนั้นแล้วก็มาสร้างตึกคอนกรีตอาคารเรียน ยาว 2 เส้น จนแล้วเสร็จอีกเมื่อ พ.. 2496 นั้น ช่วง 3 ปี ที่เว้นว่างนั้น ที่จริง มิได้เว้นว่างเลย เพราะหลวงพ่อได้สร้างสถานีอนามัยขึ้นข้างวัดดอนยายหอมหลังหนึ่ง โดยหลวงพ่อได้จัดซื้อที่ดิน ติดต่อวัดทางด้านใต้ขยายออกไปอีก 1 ไร่ นายอยู่ ด้วงพูล พี่ชายของหลวงพ่อได้บริจาคเงินให้ครั้งหนึ่ง นอกนั้นยังมีผู้ขายบ้านและถวายห้องแถวให้ ชาวตำบลดอนยายหอมก็ช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุน ช่วยแรงงาน สร้างสถานีอนามัยจนสำเร็จ ในปี พ..2495 เมื่อทำพิธีเปิดป้ายและมีงานฉลองก็มีคณะกรรมการ จังหวัด เช่น ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ศึกษาธิการจังหวัด และนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการอำเภอมาร่วมงานด้วยมาก แม้ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตอะไรมากนัก แต่ก็เป็นสถานที่อำนวยความสุขให้แก่ประชาชน ตำบลดอนยายหอม ชาวตำบลนี้จึงถือว่าหลวงพ่อเงินเกิดมาเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมี ช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของประชาชนตำบลนี้ จึงมีแต่ความเคารพบูชา จงรักภักดี โดยทั่วหน้า
ข้าพเจ้าเคยไปนั่งอยู่หน้ากุฏิหลวงพ่อ ขณะที่หลวงพ่อยังไม่โผล่หน้าออกมานั่ง มีชายคนหนึ่งแสดงอาการมึนเมาส่งเสียงพูดดังลั่น เอะอะอยู่ พอหลวงพ่อโผล่หน้าออกมาเท่านั้น ชายขี้เมาคนนั้นจึงเงียบกริบ ไม่กระดุกกระดิกเลย มองเหมือนตุ๊กตาจีนทาหน้าสีแดงเรื่อ ๆ แม้แต่คนขี้เมายังรู้สึกตัวเกรงกลัวหลวงพ่อเหมือนถูกสะกดจิต หรือถูกมนต์ "นะจังงัง" เข้าฉะนั้น
ตั้งโรงเรียนสหศึกษาบาลี
หลวงพ่อมิได้คิดการแต่เพียงภายในอาณาเขตของวัดดอนยายหอมเท่านั้น แต่หลวงพ่อคิดการโดยกว้างขวาง ออกไปนอกอาณาเขตของวัดด้วย หลวงพ่อเงินเห็นว่า เมืองนครปฐมเป็นเมืองต้นตระกูล แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่โบราณเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว ประจักษ์พยานก็คือ พระปฐมเจดีย์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ..235 สมัยเมื่อพระโสณเถระ และพระอุตระเถระ มาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ณ เมืองท่าแห่งนี้
แต่ปัจจุบันนี้ ในเมืองนครปฐม ไม่มีสำนักศึกษาพระบาลีเลย พระมหาเปรียญ ที่เป็นคนเลือดเนื้อเชื้อไข คนนครปฐมไม่ค่อยมี หลวงพ่อจึงคิดว่าน่าจะหาทางส่งเสริมการศึกษาพระบาลีขึ้น จึงได้ปรึกษาหารือกับบุคคลสำคัญต่างๆ ไปตามจังหวะเวลาและโอกาสเหมาะเช่น ..แอ๊ด กลกิจ นางสะอาด ตู้จินดา นายมาลัย บุญวัฒน์ และขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากร เป็นต้น ท่านเหล่านี้ก็เห็นดีเห็นชอบ ปวารณาตัวว่าจะช่วยเหลือหลวงพ่อให้ทำการต่อไป หลวงพ่อจึงตกลง ตั้งโรงเรียนสหศึกษาบาลี ขึ้นที่วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.. 2494
ครั้นถึง พ.. 2496 ทางการคณะสงฆ์เห็นคุณงามความดีของหลวงพ่อ ที่เอาเป็นธุระในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของจังหวัดเป็นส่วนรวม ไม่คิดเอาธุระอยู่แต่ภายในวัดดอนยายหอมเท่านั้น จึงได้แต่งตั้งท่าน ให้เป็นคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ในตำแหน่งเผยแพร่จังหวัดนครปฐม ตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์สมัยนั้น ซึ่งแบ่งหน้าที่ออกเป็น ปกครองจังหวัด, ศึกษาจังหวัด, เผยแผ่จังหวัด, สาธารณูปการจังหวัด มี เจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน น่าเสียดายที่การแบ่งงานบริหารการคณะสงฆ์ นี้ได้ถูกยกเลิกเสีย โดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับต่อมาใน พ..2505 เหลือแต่เจ้าคณะจังหวัดเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น
ทำหน้าที่เผยแผ่จังหวัด
งานในหน้าที่เผยแผ่พระธรรมวินัย หรือเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานั้น อันที่จริงหลวงพ่อทำหน้าที่อยู่แล้วตามปกติ ถึงจะไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเผยแผ่จังหวัด หลวงพ่อก็เป็นเผยแผ่จังหวัดอยู่แล้วตลอดมา เพราะจะมีผู้ไปนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ อยู่เสมอมา หลวงพ่อจึงเทศน์ทั้งในวัดและนอกวัด
การเทศน์ของหลวงพ่อก็ทันสมัย ทันโลก จะนิมนต์ขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ หลวงพ่อก็ถือพระธรรมคัมภีร์เทศน์ใบลานไว้ในมือ หลับตาอ่าน หลับตาเทศน์ได้คล่องแคล่ว จะให้เทศน์ปากเปล่า หลวงพ่อก็เทศน์ได้แบบปาฐกถาธรรมะ ภาษาที่ใช้ ก็เป็นภาษาชาวบ้านพูดง่าย ๆ ตรงไปตรงมา พูดให้คนมองเห็นจริง มีแทรกถ้อยคำที่ขำขัน น่าขบน่าคิด น่าหัวเราะลงไปด้วย
แต่หลวงพ่อมักจะพูดสำรวมวาจา ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดตลกคะนอง ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเยาะเย้ย ไม่พูดถากถาง ไม่พูดเสียดสี ไม่พูดยกตน ไม่พูดข่มท่าน ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดเลอะเทอะ ไม่พูดน้ำท่วมทุ่ง ไม่พูดตามอารมณ์เหมือนดังพระเปรียญบางองค์ บางรูปคำพูดหลวงพ่อเด็กฟังได้ ผู้ใหญ่ฟังดี ไม่พูดแบบคาดคะเน ไม่พูดแบบยกเมฆ ไม่พูดแบบข่าวเขาเล่าว่า จระเข้มาที่ท่าน้ำ อะไรทำนองนี้ หลวงพ่อมีปฏิภาณเอาเหตุการณ์เฉพาะหน้าเฉพาะเรื่อง เฉพาะประชุมชน เฉพาะกาล เฉพาะสมัย ขึ้นมาพูดได้เสมอ มีประจักษ์พยานอยู่หลายเรื่อง
จะพูดสอนนักโทษก็พูดได้ จะพูดสอนโจรก็พูดได้ จะพูดสอนพ่อค้าออกหวยเถื่อนก็ได้ จะสอนคนกำลังบ้าดีเดือด ถือมีดจะทำร้ายตนอยู่ก็พูดได้ จะพูดโต้ตอบบาทหลวงนอกศาสนาก็ได้ จะพูดจูงใจคนนอกศาสนาให้เห็น ให้เข้ามานับถือพุทธศาสนาก็ได้ จะพูดอวดของดีเมืองนครปฐมก็พูดได้ดีไม่มีใครเหมือน หลวงพ่อพูดออกมาแล้วมากมายนับหนไม่ถ้วน นับเรื่องไม่ถูก ไม่มีใครได้กำหนดจดจำไว้ได้ หลวงพ่อเองก็จำไม่ได้ว่าเทศน์เรื่องอะไร เทศน์ที่ไหน เทศน์ว่าอย่างไร มีแต่คนที่เคยฟังหลวงพ่อพูดก็จำได้กระท่อนกระแท่น นำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง คนละนิดคนละหน่อย ดังจะได้เล่าต่อไปสักเรื่องหนึ่ง
หลวงพ่อพูดครั้งนี้ เป็นการพูดในตำแหน่งเผยแผ่จังหวัด ไปพูดที่วัดธรรมศาลา พูดให้คณะทอดผ้าป่า ซึ่งมีคุณหญิงประจญปัจนึก ภรรยาของพระยาประจญปัจนึก ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนำมาทอด เพื่อสมทบทุนสร้างโรงเรียนเมื่อปี พ..2497 มีคนฟังประมาณ 600 คน ส่วนมากเป็นนักเรียน เรียกว่าหลวงพ่อเทศน์ให้เด็กนักเรียนชั้นประถมฟัง ซึ่งค่อนข้างพูดยาก ในการที่จะพูดให้เด็กวัยนี้ฟังได้
วันนั้นหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์เทศน์ปากเปล่าเรื่อง "ลูก 4 คน" ดำเนินความว่า
"เด็กที่โรงเรียนวัดธรรมศาลานี้มี 600 คน ถ้าได้รับการศึกษาดี มีความฉลาด มีความประพฤติดีเพียง 100 คน อีก 500 คนโง่ เป็นขโมยขะโจร อีก 100 คนนั้นจะมีความสุขได้อย่างไร จึงต้องช่วยกันทำให้เด็กอีก 500 คนนั้น ประพฤติดีมีความฉลาดด้วย จะทำให้เด็กเป็นคนดีต้องให้การศึกษาอบรม มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นลูก 4 ลูก ต่อไปนี้
1. ลูกลาก ลูกชนิดนี้เป็นลูกลากพ่อแม่ ใช้พ่อแม่ก็ต้องลากโครงเลี้ยงลูกไป เติบโตขึ้นก็ลากเอาแต่ความทุกข์ร้อนมาให้ เอาความฉิบหายมาสู่พ่อแม่ ลูกอย่างนี้ทำให้พ่อแม่มีเคราะห์กรรม
2. ลูกหลง พ่อแม่คู่หนึ่งมีลูก 2 คน คนหนึ่งเป็นหญิง คนหนึ่งเป็นชาย ลูกชายไปได้เมียอยู่ฟากตรงข้าม แม่ป่วยหนัก ลูกชายก็ไม่มาเยี่ยม น้องสาวต้องไปตาม เอาเรือไปรับ จึงข้ามฟากคลองมาดูใจ แม่จึงสั่งเสียก่อนตายว่า
     "ลูกเอ๋ย ลูกมาก็ดีแล้ว แม่กำลังจะจากลูกไปอย่างไม่มีวันกลับ แม่เห็นจะไม่ได้อยู่ดูแลความทุกข์สุขของลูกต่อไปแล้ว แม่ขอฝากน้องด้วย ขอให้ตั้งใจทำมาหากิน เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียให้ดี"
    แม่ยังสั่งไม่ขาดคำ ฝั่งโน้นก็ตะโกนเรียกมาว่า เมียเจ็บท้องจะคลอดลูก ลูกชายก็กระโดดน้ำว่ายข้ามคลองไปหาเมียเสียแล้ว ลูกอย่างนี้คือลูกหลง คือหลงไปว่าคนอื่นดีกว่าแม่ หลงเมียจนลืมแม่ แม่ป่วยต้องเอาเรือไปรับ จึงมาเยี่ยมแม่ เมียเจ็บท้องก็ข้ามน้ำไปเองโดยไม่ต้องเอาเรือรับ ทั้ง ๆ ที่แม่เจ็บจวนตาย เมียเพียงแค่เจ็บท้อง
3. ลูกเลิก คือลูกที่เบียดเบียนพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรก็จะเอาเสียให้หมด เมื่อได้ข้าวของไปจนพ่อแม่หมดเนื้อหมดตัวแล้ว ลูกก็หายหน้าไป ครั้นพ่อแม่จะพึ่งพาอาศัยบ้างก็ไม่ได้ มีความรังเกียจ เลิกเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกันตอนหมดทรัพย์สมบัตินี่เอง
4. ลูกหลีก คือลูกที่เห็นแก่ตัวจัด เอาเปรียบพ่อแม่ เมื่อไม่มีเงินทอง หรือขนมติดมือมาก็แวะบ้านพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรก็หยิบกินฉวยกิน ถือว่าเป็นบ้านพ่อแม่ มีอะไรก็หยิบเอาไป ถือว่าเป็นของลูก แต่พอตัวมีเงินทอง ทรัพย์สิน ก็หายหน้า กลัวพ่อแม่จะไปเบียดเบียน มีขนมติดมือมาก็อุตส่าห์เดินหลีกบ้านพ่อแม่ไปเสีย รีบหลีกหนีเอาไปฝากลูกเมีย จะแวะบ้านพ่อแม่ก็กลัวว่าจะต้องแบ่งให้พ่อแม่กิน ลูกอย่างนี้เรียกว่าลูกหลีก
พอเทศน์จบเรื่องลูก 4 ลูก คุณหญิงประจญปัจนึก ก็ยกมือขึ้นสาธุ ร้องว่า
"สาธุ หลวงพ่อเทศน์มีคติดีแท้ ๆ"
จะเห็นว่าการเทศน์ของหลวงพ่อนี้ เป็นเทศน์แบบปฏิภาณ เทศน์ให้เด็กฟังได้ เป็นอย่างดี เด็กก็ฟังกันรู้เรื่องดี เป็นที่จับใจตั้งแต่ต้นจนจบ
พระที่เทศน์ได้อย่างนี้ ก็เห็นมีพระอริยสงฆ์อีกองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
มีคนไปนิมนต์ว่า ให้เทศน์เรื่อง นักษัตร เพราะเขาฟังนายสั่งไม่เข้าใจ นายสั่งว่า ให้นิมนต์สมเด็จเทศน์เรื่อง "อริยสัจจ์" เขาก็ไปนิมนต์สมเด็จให้เทศน์เรื่อง "นักษัตร" เสีย สมเด็จท่านก็ไม่ว่ากระไร ไปถึงบ้านก็เทศน์
"ชวดฉันว่าหนู ฉลูฉันว่าวัว ไปตามลำดับ เอาธรรมะสอดแทรกและสรุปลงเป็นธรรมะ ว่า วันเดือนปีเคลื่อนคล้อยไป คนก็แก่และเจ็บตายกันไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ จะดับทุกข์ได้ด้วย การบำเพ็ญบารมี 10 ประการ จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ชาติสุดท้ายก็จะได้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี 10 ทัศ แล้วอุบัติเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตายไปเกิดเป็นวิสุทธิเทพอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้วไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายให้เกิดทุกข์เวทนาต่อไป"
ท่านก็เทศน์เข้าเรื่องอริยสัจจ์จนได้ นี่คือแบบอย่างการเทศน์ของพระโสดาบันบุคคลผู้ได้ธรรมจักษุ ได้ดวงตาเห็นแจ้งธรรมะปรุโปร่งตลอด
(โปรดติดตามต่อไป)

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

ตอนที่ ๒๓ พระข้าราชการที่ดี

๒๓. พระข้าราชการที่ดี
ปฏิปทา หรือการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานของหลวงพ่อเงินนั้น ถ้าหากจะติดตาม ศึกษาด้วยความสังเกตพิจารณาโดยตลอดแล้ว ก็จะแลเห็นชัดได้ อย่างหนึ่งคือ
หลวงพ่อเป็นพระข้าราชการที่ดี
คือหลวงพ่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศเวลาทั้งชีวิต อุทิศจิตใจ ทุ่มเทเสียสละมาตลอดชีวิต เพื่อช่วยชาติบ้านเมือง ช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ไม่ได้หวังผลอะไรเป็นส่วนตัวในชาตินี้เลย
ถ้าหากหลวงพ่อหวังผลบ้าง ก็คือเป็นพระโพธิสัตว์ อุบัติมาสร้างบารมีเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ เพื่อจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณในอนาคตกาลอีกแสนไกล ตามปณิธานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ข้าพเจ้าเคยทราบมาว่า พระศาสดาของศาสนาฮินดูองค์หนึ่ง ในปัจจุบันนี้อยู่ที่ประศานตินิลยัม ประเทศอินเดีย ซึ่งมีคนเคารพบูชาทั่วโลก มีสานุศิษย์นับจำนวนล้านทั่วโลก ท่านผู้นี้คือ ท่านภควัน ศรีสัตยา ไสบาบา มีสาวกเป็นคนไทยก็มากมาย ท่านได้ตรัสไว้คำหนึ่งว่า
"Work is worship"
แปลเป็นภาษาไทยยาก แต่พอแปลได้ว่า
"ทำงานเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า"
หรือ
"ทำงานเพื่ออุทิศแด่พระผู้เป็นเจ้า"
หรืออาจจะแปลว่า
"ทำงานเพื่องาน"
หรือ
"ปฏิบัติงานเพื่อการปฏิบัติธรรม"
อะไรทำนองนี้
หมายความว่า ทำงานโดยไม่หวังผลบุญ ไม่หวังความดีความชอบตอบแทนด้วยลาภ ทาน สักการะ ยศศักดิ์ ชื่อเสียง เกียรติ คำสรรเสริญเยินยอ เพื่อหาพรรคหาพวก หาลูกศิษย์ ลูกหา คนเคารพนับถืออะไรทั้งสิ้น
เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงสละราชสมบัติ สละมเหสี สละราชโอรส ออกผนวช เพื่อตรัสรู้พระอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วก็ทรงพระอุตสาหะวิริยะภาพเสด็จด้วยพระบาทเปล่า เที่ยวเผยแพร่พระธรรมจนตลอดพระชนม์ชีพนั้นแหละ
หลวงพ่อเงินก็ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของพระบรมศาสดา สละบ้านเรือน ออกบวช อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา
ทำตนเป็นข้าราชการที่ดี ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความอุตสาหะวิริยะภาพมิได้ย่อหย่อน วางใจเป็นกลางได้ ในคนจน คนดีคนชั่ว ทำหน้าที่โดยเที่ยงตรง ตรงไปตรงมา ไม่คดเคี้ยว ไม่มีเล่ห์กระเท่ ไม่มีมารยาสาไถยอะไรเลย ทั้งภายนอกภายใน ไม่มีอะไรซ่อนเร้นปิดบัง ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความขาวสะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีใครจะผิดตาผิดใจ สงสัยแคลงใจอะไรได้เลย แม้แต่น้อย
แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก็หาใช่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความปลอดโปร่งไร้อุปสรรค ไม่มีผู้ขัดขวาง ไม่มีผู้ลองดีก็หาไม่ แต่ด้วยความสัตย์ความจริง ความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ จึงดำเนินชีวิต ปฏิบัติหน้าที่มาได้โดยตลอด
หลวงพ่อไม่ใช่พระอรหันต์
คราวหนึ่งมีคนแก่เรียนแก่ปัญหา เข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็ตั้งปัญหาถามว่า
"ทำไมพระภิกษุสมัยนี้ จึงไม่มีใครสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เหมือนครั้งพุทธกาล ?"
คล้าย ๆ จะพูดเป็นเชิงสบประมาทว่า หลวงพ่อเงินนี้ถึงจะเก่งยังไง ก็ไม่ใช่พระอรหันต์
หลวงพ่อตอบเรียบ ๆ ว่า
"คนสมัยนี้กับคนโบราณแตกต่างกันด้วยธรรมชาติ คือคนสมัยโบราณร่างกายแข็งแรงกว่า จิตใจเข้มแข็งกว่าคนสมัยนี้
ข้อสอง ศรัทธา ความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีศรัทธาเชื่อมั่นมากกว่าคนสมัยนี้
ข้อสาม สติปัญญา คนสมัยก่อนมีสตินำหน้า มีปัญญาตามหลัง คนสมัยนี้มีปัญญานำหน้า มีสติตามหลัง มีความคิดอันฟุ้งซ่าน แต่ไม่มีสติกำกับใจของตนเอง
ข้อสี่ ความเพียร คนสมัยก่อนมีความเพียรมากกว่าคนสมัยนี้และมีขันติ ความอดทนมากกว่าคนสมัยนี้"
หลวงพ่อไม่ได้รับสมอ้างว่าสำเร็จโสดาบัน หรือเป็นพระอริยบุคคลอะไรเลย แต่พูดตามตรงว่า คนสมัยนี้สู้คนสมัยก่อนไม่ได้ในเรื่องคุณสมบัติที่จะเป็นพระอรหันต์
ทำนอกรีต
คราวหนึ่ง มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่งตัวภูมิฐานแบบขุนนางสมัยเก่า เดินอย่างสง่าเข้าไปหาหลวงพ่อ เมื่อเชิญให้นั่ง เขาก็เอ่ยขึ้นมาว่า
"นี่ท่านเป็นหมอด้วยหรือ เห็นมีหยูกยาเยอะแยะ ?"
"อาตมาไม่ได้เป็นหมด ยาที่มีอยู่นี้ มีไว้ใช้เองยามป่วยไข้ แต่ถ้าชาวบ้านมาขออาตมาก็แจกไปเป็นทาน"
"อ้าวก็เมื่อท่านไม่มีวิชาทางการแพทย์แล้ว จะแจกยาส่งเดชไปได้ยังไงคนไข้เอาไปกินผิดหยูกผิดยา เป็นอันตรายเกิดตายขึ้นมาจะไม่ผิดกฎหมายรึ ท่านทำนอกรีตแล้วละ"
"ถึงแม้อาตมาจะทำนอกรีตนอกลู่นอกทางก็ไม่มีเจตนาทำร้ายใคร มีแต่เจตนาดีจะช่วยเขา จึงไม่ถือว่าผิดศีลธรรมผิดวินัย"
"กฎหมายนั้นถึงจะวางบทไว้อย่างไร แต่ก็ไม่เคยช่วยคนไข้คนป่วยในตำบลนี้ เท่าที่อาตมาเคยช่วย"
"นายแพทย์และยาหลวง ก็มีอยู่แต่ในเมือง ช่วยได้แต่คนในเมือง"
"ส่วนคนในตำบลนี้ รัฐบาลก็ไม่เคยช่วย ไม่ได้ตั้งสุขศาลาขึ้น ไม่มียา ไม่มีแพทย์ คนที่ยากจนก็ต้องยอมตายอยู่กับบ้านกันทั้งนั้น"
"อาตมาเห็นว่า เพื่อนมนุษย์ตาดำ ๆ ป่วยไข้ได้ทุกข์ต้องช่วยกันไปตามมีตามเกิด จะว่าอาตมาทำผิดกฎหมายก็ยอมละ แต่จะให้อาตมาผิดศีลผิดธรรมยอมนิ่งดูดาย ไม่ช่วยเหลือคนอื่นนั้นอาตมาทนอยู่ไม่ได้"
"อาตมานึกอยู่เสมอว่า ตำรายาของอาตมาไม่ใช่ตำรายาพิษ หากเป็นยาพิษ บรรพบุรุษของอาตมาคงไม่สืบอายุกันมาถึงอาตมาได้ คงตายกันหมดสิ้นไปแล้ว"
"อ้ายไข้ต่าง ๆ นี่ ท่านรู้หรือเปล่าว่า มันมีอยู่กี่ร้อยกี่พันชนิด ?"
"มี 3 ชนิด"
"เอ๊ะ โรคอะไรของท่านมี 3 ชนิด ?"
"หนึ่งโรครักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย
สองรักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย
สามโรครักษาจึงหาย"
ชายผู้นั้นนิ่งไปสักครู่ แล้วถามต่อไปอีก
"ที่ท่านรดน้ำมนต์ไล่ผีนั้นน่ะ ท่านเชื่อหรือว่าผีมีจริง ?"
"ผีมีจริง"
"รู้ได้ยังไงว่าผีมีจริง ?"
"พระพุทธเจ้าบัญญัติว่าภิกษุองค์ใดผีเข้าสิงไม่ต้องทำสังฆกรรม ผีเข้าสิงภิกษุเวลาสวดพระปาฏิโมกข์ให้หยุดสวดพระปาฏิโมกข์ได้ ก็ต้องเชื่อว่าผีมีจริง เหมือนที่เขาว่าพระพุทธเจ้ามีจริง"
หลวงพ่อสำทับว่า
"ถ้าเราไม่เชื่อพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนก็เท่ากับเราไม่เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้า เท่ากับเราไม่มีศาสดา"
ชายผู้นั้นเขาว่าเป็นเจ้าเมืองนครปฐมสมัยนั้น มีศักดิ์เป็นพระองค์เจ้ามีพระนามว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ภายหลังก็มาเป็นสานุศิษย์ของหลวงพ่อเงิน
ลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน จึงมีพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา พระองค์หนึ่ง เป็นเจ้าเมืองนครปฐม.
บาทหลวงถอยทัพ
ตำบลดอนยายหอม เป็นตำบลใหญ่ตำบลหนึ่ง มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่จำนวนมาก และค่อนข้างจะมีฐานะเป็นปึกแผ่นไม่ยากจน จึงเป็นที่หมายตาของคณะคาทอลิค ตั้งใจจะไปโบสถ์คริสตัง เผยแพร่ศาสนาอยู่ที่นั่นเหมือนที่เคยตั้งสำเร็จมาแล้วในท้องที่อื่น ๆ ในจังหวัดนครปฐม แต่บาทหลวงเหล่านี้เขามักจะมีความรอบคอบ มีการสำรวจ วางแผน อย่างมีขั้นตอนตามลำดับ ก่อนจะตั้งโบสถ์ที่ไหน เขาจะต้องสำรวจพื้นที่ และสำรวจศาสนาอื่นที่มีอยู่แล้วว่า มีความมั่นคงคลอนแคลนอย่างไร มีใครเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในท้องถิ่นนั้น
ครั้งหนึ่ง มีบาทหลวงคนหนึ่ง ได้เดินทางไปสำรวจศึกษาดอนยายหอม แล้วได้เข้าไปสังเกตการณ์ที่วัดดอนยายหอม ได้พบและสัมภาษณ์หลวงพ่อเงินเป็นการหยั่งดูท่าทีก่อน
"ศาสนาต่าง ๆ ในโลกนี้ ถ้าพูดอย่างเป็นธรรมแล้ว ท่านเห็นว่าศาสนาไหน ดีที่สุด ดีในแง่ไหน ?"
หลวงพ่อเงินตอบว่า
"อาตมาไม่มีความรู้ในเรื่องศาสนาอื่น แต่อาตมาสันนิษฐานว่าไม่ว่าศาสนาใด ก็ดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะถ้าผู้ต้นบัญญัติพระศาสดาไม่ดีแล้ว คงไม่มีมหาชนนับถือศาสนาของเขา ศาสนาจึงดีเท่า ๆ กัน เพราะสอนให้คนเป็นคนดีมีความรู้ ฉะนั้น คนที่นับถือศาสนาอะไร ก็ควรจะเรียกว่าเป็นคนดี คือเป็นคนมีศาสนา"
บาทหลวงคนนั้น ไม่พบจุดอ่อนหรือปมด้อยของหลวงพ่อเงินเลย จึงถอยทัพกลับไป ไม่มาตั้งโบสถ์เผยแพร่ศาสนาในตำบลดอนยายหอม

คริสตังมานับถือพุทธ
เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน อัยการจังหวัดนครปฐม ควรจะถูกบันทึกไว้ในเรื่องนี้ด้วย เพราะเจ้าพงศ์ธาดา ผู้นี้เดิมนับถือศาสนาคริสต์อยู่ก่อน เมื่อมาเป็นอัยการจังหวัดนครปฐม ก็ได้เดินทางไปวัดดอนยายหอมด้วยธุระราชการ ได้สนทนากับหลวงพ่อ ได้พูดถึงหลักธรรม ในศาสนาได้เห็นบุคลิกลักษณะอันน่าเคารพของหลวงพ่อ ได้เห็นธรรมะอันมีค่าอยู่ในตัวหลวงพ่อ เช่น พรหมวิหารธรรม ความเมตตา ความกรุณา มุทิตาจิต และอุเบกขาธรรม อันมีอยู่ในจิตใจ ของหลวงพ่อ เขาจึงเปลี่ยนใจมานับถือศาสนาพุทธได้ปฏิญาณเป็นพุทธมามกะ ต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อหน้าหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอมนั้นเอง
บุคคลอีกคนหนึ่ง เป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนบำรุงวิทยา อันเป็นโรงเรียนของคริสตัง และเขานับถือคริสต์ศาสนาอยู่ก่อน ได้ไปโต้ตอบธรรมะกับหลวงพ่อเงินอยู่ก่อน แต่แล้วก็ยอมแพ้อย่างศิโรราบ คือ ขอเข้าบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ที่วัดดอนยายหอม ยอมให้หลวงพ่อเงิน โกนหัว บวชให้เลยทีเดียว บวชอยู่จนตลอดชีวิต
สองท่านนี้แหละคือเครื่องยืนยันว่า หลวงพ่อเป็นข้าราชการที่ดีของพระพุทธเจ้า รับราชการอยู่ในฝ่ายพุทธจักร

ไม่หนีชั่วไม่กลัวตาย
เป็นประเพณีของสมภารเจ้าวัดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไป คือ
เมื่อวัดใดสร้างอุโบสถขึ้นสำเร็จแล้ว จะทำพิธีฝังลูกนิมิต สมภารเจ้าวัดนั้นจะต้องหลีกหนีออกไป ให้ไกลสุดเสียงกลอง เมื่อเวลาทำพิธีผลักลูกนิมิตลงหลุม สมภารเจ้าวัดองค์ใดขืนอยู่ร่วมในพิธีนั้น จะต้องอาถรรพ์ลงหลุมเหมือนลูกนิมิต คือจะถึงกาลมรณภาพไปสู่พรหมโลก เพราะเทวดาได้เล็งเห็นแล้วว่า สมภารเจ้าวัดองค์นั้น ได้กระทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ไว้ในพุทธศาสนาเสร็จสิ้นหมดกิจแล้ว ไม่สมควรจะอยู่ในโลกนี้ต่อไป จำเป็นจะต้องอัญเชิญวิญญาณไปสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นพรหมโลก
สมภารเจ้าวัดทั่วไป ก็เชื่อถือคตินี้ สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล สมภารวัดใดใจแข็ง ดื้อ ไม่ยอมหลีกหนีออกไป ญาติโยมก็จะจัดการนิมนต์ให้ออกไปให้สุดเสียงกลองจนได้ ถึงแก่แบกขึ้นบ่าให้ขี่คอออกไป
แต่กลับปรากฏว่า หลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอม ไม่ยอมปฏิบัติตามประเพณีโบราณ เมื่อวัดดอนยายหอมมีงานฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ..2492 อย่าว่าแต่จะยอมออกไปให้สุดเสียงกลองเลย หลวงพ่อกลับเข้าร่วมทำพิธีทำสังฆกรรมสวดมนต์ แล้วก็ลงมือผลักลูกนิมิตลงหลุมเองเรียบร้อย ยังความพิศวงสงกาแก่ประชาราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งสมภารเจ้าวัดที่ไปร่วมพิธีในครั้งนั้น ว่าหลวงพ่อช่างไม่รักตัวกลัวตายเสียดายแก่ชีวิตบ้างเลย ช่างกล้าฝืนประเพณีแต่โบราณ ที่เชื่อถือกันมาช้านานหนักหนา
คราวนั้นท่านสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารีสมัยยังเป็นพระธรรมปิฎก ได้ไปร่วมในพิธีด้วย ท่านก็ทราบประเพณีนี้ดี จึงได้ถามหลวงพ่อว่า ท่านถือหลักปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้
หลวงพ่อตอบว่า
"ผู้บัญญัติในเรื่องนี้ อาจแยกออกได้ 2 อย่าง คือ ถ้าไม่ฉลาดเลิศก็ต้องโง่งมงาย"
"ฉลาดเลิศ หรือโง่งมงายอย่างไร ?"
"ฉลาดเลิศเพราะเป็นเพียงนโยบายอันหลักแหลม ที่จะให้สมภารบางองค์ที่ไม่บริสุทธิ์ในศีล และเป็นที่รังเกียจของภิกษุในอาราม ไม่ให้เข้าร่วมในพิธีสังฆกรรมอันสำคัญนี้ จนถึงแต่ต้องออกกลวิธีไล่ออกไปเสียจากพิธีทางอ้อม บัญญัติขึ้นเพื่อไล่สมภารที่ศีลไม่บริสุทธิ์ออกไปเท่านั้นเอง"
"ที่ว่าโง่งมงาย ก็เพราะว่าสมัยก่อนนี้ มักจะหนักไปทางเชื่อถือมากจนขาดเหตุผล เชื่อว่าทำบุญสร้างโบสถ์เป็นบุญอย่างเยี่ยมยอดในโลกมนุษย์ จนผู้ทำจะอยู่เป็นมนุษย์ต่อไปไม่ได้ ความจริงถ้าหากว่าการทำความดีถึงขนาดแล้ว จะทำให้เสียชีวิตก็เชื่อว่า ไม่มีนักบุญคนใดที่จะอุทิศชีวิต เพื่อความดีจะต้องหวาดกลัวเลย เพราะพระพุทธศาสนาก็สอนว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วจะมากลัวอะไรเล่ากับความตาย
อีกอย่างหนึ่ง การทำบุญสร้างโบสถ์ ก็จัดว่าเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลอันสูงส่ง ไม่น่าจะบัญญัติว่าการทำความดีจะได้ชั่ว คือทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตของผู้กระทำบุญนั้น จะว่าตายไป เกิดเป็นพระพรหมเป็นของดีก็ไม่ใช่ เพราะว่าชีวิตของใคร ๆ ก็รัก อยากจะมีอายุยืนยาว พระพุทธองค์ก็ทรงบัญญัติพร 4 ประการไว้ว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ ดังนั้นผมจึงไม่เชื่อ"
ดูเหมือนว่านับแต่นั้นมาสมภารเจ้าวัดทั้งหลายรู้เรื่องนี้แล้ว ก็เลิกเชื่อถือเรื่องนี้กันต่อมา โดยหลวงพ่อเงินเป็นผู้ปฏิวัติความเชื่อถือเรื่องนี้เป็นองค์แรก
หลวงพ่อเชื่อมั่นว่า ทำดีต้องได้ดี ไม่ใช่ว่าทำดีที่สุด แล้วจะต้องตาย
หลวงพ่อเชื่อมั่นในศีลของตัวท่านเองว่าบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีด่างพร้อย ไม่ต้องหนีชั่วเพราะกลัวตาย หรือไม่ต้องหนีตาย เพราะเป็นชายชั่ว เพราะไม่ได้ทำชั่วจึงไม่กลัวตาย
ความจริงเป็นอย่างนี้ต่างหากเล่า
คนชั่ว กลัวหลวงพ่อแช่ง
ความจริงนั้น คนบาป คนชั่ว กลัวหลวงพ่อ เพราะเขารู้ว่าหลวงพ่อเป็นพระบริสุทธิ์ ปากศักดิ์สิทธิ์ เขากลัวหนักหนาคือว่า กลัวหลวงพ่อสาปแช่ง ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อไม่เคยแช่งใคร ยิ่งเขารู้ว่าไม่เคยแช่งใคร เขาก็ยิ่งกลัวว่า ถ้าหลวงพ่อแช่ง เขาเจ๊งแน่ ๆ เรื่องนี้มีตัวอย่างหลายเรื่อง
เรื่องหนึ่งก็คือ มีคน ๆ หนึ่ง เป็นคนเกเรมากมีคนบอกหลวงพ่อ หลวงพ่อก็พูดปรารภว่า
"เขาเป็นคนบาปหนา ห้ามเขาไม่เชื่อหรอก ไม่ช้าเขาก็ติดคุก"
อยู่ต่อมาไม่นาน นายคนนั้นไปคบเพื่อนโจร เอาคนมาปล้นบ้านชาวบ้าน ถูกตำรวจจับไปติดคุก คนก็รู้กันทั่วไป เป็นเรื่องแรกว่า หลวงพ่อปากศักดิ์สิทธิ์นัก
เถ้าแก่เสียงก็กลัว
คราวหนึ่ง เถ้าแก่เสียง เจ้าของโรงสี ได้ออกหวยจับยี่กีขึ้น มีคนแทงหวยกันมาก รู้ถึงหูหลวงพ่อก็เดินไปเยี่ยมเถ้าแก่ถึงโรงสี ถามถึงทุกข์สุขการทำมาหากิน
"คนที่มีปัญญาหากิน และขยันอย่างเถ้าแก่เสียง ไม่มีวันจนแน่นับวันมีแต่จะมั่งคั่งร่ำรวย"
หลวงพ่อพูดไปเรื่อยๆ
"คนบ้านนี้เขารักใคร่นับถือเถ้าแก่เพราะเป็นคนดีมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่"
เถ้าแก่ดีใจมากที่หลวงพ่อมาเยี่ยมถึงบ้าน แล้วก็ชมเชยให้ศีลให้พร
"เขาลือกันหนาหูว่า เถ้าแก่ออกหวยจับยี่กี ฉันไม่เชื่อหรอก คนรวย ๆ อย่างเถ้าแก่ จะมาตั้งบ่อยออกหวยจับยี่กี จะคิดสั้นอย่างนั้นเชียวหรือ ?"
หลวงพ่อพูดต่อไป
"เพราะถ้าคนบ้านนี้เล่นหวยกัน เขาก็ต้องพากันยากจน ก็จะกลายเป็นคนลักขโมยปล้นสะดม เถ้าแก่ก็จะถูกปล้น"
แล้วหลวงพ่อก็เทศน์ว่า
"ถ้าเถ้าแก่คิดจะตั้งบ่อนจริง ๆ ฉันก็ขอร้องว่าเลิกเสียเถอะ ถ้าเถ้าก็ไม่ยากจนหมดทางหากินอย่างอื่นแล้ว ฉันก็จะไม่ขอร้องให้เลิกเลย"
ตั้งแต่วันนั้นมา หวยจับยี่กีก็เลิกออก
เถ้าแก่เสียงพูดว่า
"แหม-อั้วอายหลวงพ่อแท้ ๆ อีว่าอั้วหมดปัญญาหากินแล้วออกหวยจับยี่กี"
แต่ที่จริงเถ้าแก่เสียงกลัวถูกปล้น ตามคำของหลวงพ่อ
เถ้าแก่เสียงจะถูกปล้นจริง ๆ ด้วย ถ้าไม่เลิกออกหวยจับยี่กี
พระแม่คงคาก็กลัว
เมื่อปี พ..2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ น้ำท่วมในถนนราชดำเนิน พายเรือเล่นได้ นครปฐมก็ท่วมไร่นาเสียหายทั่วไป ต้องขนย้ายวัวควายไปอยู่ตามถนนหนทาง วัว ควาย หมู หมา ไก่ ก็ถูกภัยน้ำท่วมล้มตายกันมาก หน้าที่ว่าการอำเภอกำแพงแสน ก็น้ำท่วมจนต้องพายเรือไปอำเภอ
แต่น่าประหลาดปีนั้น น้ำไม่ท่วมวัดดอนยายหอม น้ำไหลอ้อมไปทางบ่อตะกั่ว โคกพระเจดีย์ ไปทางบางแขม บางแพ
คนจึงเล่าลือกันต่อ ๆ ไปว่า หลวงพ่อเงินแสดงปาฏิหาริย์กันน้ำท่วมได้ มีคนไปถามหลวงพ่อเงินว่าจริงหรือเปล่า หลวงพ่อตอบว่า
"ฉันจะไปกั้นน้ำได้หรือ ? ความจริงฉันได้ให้เด็กพายเรือออกไปดูน้ำว่าไหลแรงแค่ไหน ท่วมไร่นาเสียหายไปเพียงไร ในระหว่างที่แล่นเรือไป ฉันก็เป็นห่วงชาวบ้านดอนยายหอม จึงได้ตั้งใจอธิษฐานว่า ขออย่าให้น้ำท่วมข้าวปลาของคนดอนยายหอมเลย ถ้าชาวบ้านยากจนโบสถ์ที่สร้างไว้ จะสำเร็จช้าออกไป เพราะไม่มีใครจะทำบุญ เป็นการเผอิญที่น้ำไหลออกตำบลดอนยายหอมไปได้จริง ๆ"
หลวงพ่อไม่ได้คุยรับสมอ้างอะไร แต่หลวงพ่อบอกว่าเป็นห่วงผู้คน จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขออย่าให้น้ำท่วมเลย พระแม่คงคากลัวว่า โบสถ์หลวงพ่อจะสำเร็จช้า จึงไหลอ้อมตำบลดอนยายหอมไป ไม่ท่วมเหมือนตำบลอื่น ๆ
แต่ข่าวเล่าลือกันไปทั่วว่า หลวงพ่อมีบุญบารมีคุ้มครองป้องกันภัยน้ำท่วมก็ได้
แม้แต่พระแม่คงคายังเกรงใจ คนทั้งหลายจะไม่เกรงใจหลวงพ่ออย่างไร
เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจอะไรนัก เพราะพระเจ้าตากสินท่านยังตั้งพิธีขอให้ฝนตกฤดูแล้ง จนน้ำท่วมขอนลอยในป่า สมัยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ทหารอดน้ำ ท่านกลับตอบว่า
"อย่าปรารมภ์เลย คืนนี้พ่อจะให้ฝนตกลงมาให้จงได้"
ครั้นแล้วก็โปรดให้ตั้งศาลเพียงตา บวงสรวงสังเวยเทพยดา อ้างเอาบุญบารมีที่เคยสั่งสมแต่ปุเรชาติ จงมาเป็นพลังคุ้มครองปกป้องไพร่พลขอให้ฝนตกมาในคืนนี้ให้จงได้
คืนนั้นเพลาห้าทุ่มเศษ ฝนก็ตกใหญ่จนน้ำท่วมนองในป่า จนขอนลอยไปในป่านั้น
พระโพธิสัตว์ย่อมอุบัติมาบำเพ็ญพระบารมี เป็นที่พึ่งแก่ฝูงสัตว์ทั้งหลายในแผ่นดินโลกมนุษย์นี้ ท่านจึงอธิษฐานจิต เพื่อคุ้มครองปวงสัตว์ได้จริง อย่าได้ วิจิกิจฉา อะไรเลย
(โปรดติตตามต่อไป)