๘.หลักธรรมบางประการ
หลวงพ่อที่ดีมีชื่อเสียงนั้น
มักจะมีลูกศิษย์ดี การที่มีลูกศิษย์ดีเพราะหลวงพ่อดี การที่หลวงพ่อดี ก็เพราะมีหลักธรรมดี
การที่จะรู้ว่ามีหลักธรรมดี ก็รู้ที่การปฏิบัติของท่าน
และรู้จากคำสั่งสอนของท่านที่จะออกมาจากจิตใจของท่าน มิใช่สอนคนอื่นอย่างหนึ่ง
ประพฤติตนอีกอย่างหนึ่ง หลวงพ่อหรือครูอย่างนี้ไม่มีคนนับถือ แต่หลวงพ่อเงินมีคนนับถือ มีคนพูดสรรเสริญ
มีคนเขียนสดุดียกย่องไว้ ก็เพราะหลวงพ่อเป็นพระดี มีหลักธรรมดี ประพฤติปฏิบัติดี
เป็นพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ดีพร้อมทั้ง ๔ ประการ คือ
๑. สุปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะ ปฏิบัติสมกับสมณะ
๒. อุชุปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติงดงามตรงตามพระธรรมวินัย น่าดูน่าชม ทุกอิริยาบถ
ทุกย่างก้าวเดิน ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ตลอดชีวิต สม่ำเสมอ ไม่บกพร่อง
ไม่ขาดไม่เกิน ครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์
๓. ญายปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติด้วยความสำนึกมีสติกำกับตน
รู้อยู่เสมอว่า ปฏิบัติอย่างนั้นเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร จะได้ผลอย่างไร ไม่ใช่ปฏิบัติไปโดยงมงาย ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร
แบบที่เรียกกันว่า เถรส่องบาตร
๔. สามีจิปฏิปันโน - ปฏิบัติด้วยความจงรักภักดีอย่างมอบกายถวายชีวิต
ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความกตัญญู ด้วยความกตเวที ด้วยความภักดีในพระศาสนาที่ได้เข้ามาบวชดำรงชีพอยู่อย่างเป็นสุข
คำทั้ง ๔ คำนี้แหละคือคำอธิบายถึงหลวงพ่อดีอย่างหลวงพ่อเงิน
เป็นคุณลักษณะพระอริยสงฆ์ หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ดีแท้
ดีจริง ไม่มีอะไรจะต้องระแวงสงสัยเลย กราบได้ ไหว้ได้ บูชาได้
เป็นปูชนียบุคคลของผู้ที่ได้พบเห็นจริงๆ
มีหลักธรรมบางประการที่หลวงพ่อเงินนำมาอบรมภิกษุสามเณรอยู่เสมอ
สมควรจะนำมากล่าวไว้เป็นตัวอย่างบางเรื่อง คือ
หลัก ๓ ประการในการปฏิบัติของภิกษุ
๑. สำรวมอินทรีย์
๒. ปลงอสุภกรรมฐาน
๓. เจริญวิปัสสนา
"ให้ระงับกาย วาจา ใจ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน
ให้สำรวมระวังอันได้แก่การสำรวมกาย"
"การพูดจา ให้ระวัง พูดแต่น้อย พูดแต่คำสุภาพ พูดแต่คำสัตย์คำจริง
คำที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตนและเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่พูดพล่อย ๆ ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล
ไม่พูดส่อเสียด ยุยง ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดโป้ปดมดเท็จ
ไม่พูดให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน เสียหาย ได้แก่การสำรวมวาจา"
"สำรวมใจนั้น คือระมัดระวังใจ
ไม่ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง มาครอบงำจิตใจ ไม่ให้ยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
ทั้งหลาย เช่นเห็นหญิงสาวสวยเดินมาก็มิให้มองด้วยความใคร่ พูดด้วยความยินดี
คิดไปในทางก่อให้เกิดราคะดังนี้ เป็นต้น"
เรื่องปลงอสุภกรรมฐาน หรือนมัสการพระกรรมฐานด้วยคำโบราณนั้น
หลวงพ่อสอนว่า
"ให้ระลึกถึงอสุภะในร่างกาย
เกสา, โลมา, นะขา, ทันตา, ตะโจ
อันเรียกว่าปัญจกรรมฐาน เป็นของไม่สวยงาม เน่าเปื่อย มีแต่เลือดและหนอง อุจจาระ
ปัสสาวะ เป็นที่อาศัยของหมู่หนอน"
เรื่องเจริญวิปัสสนา นั้น หลวงพ่อสอนว่า
"ให้พิจารณาสังขาร
แยกออกเป็นขันธ์ ๕ คือ
รูปร่างกาย – เวทนา – สัญญา – สังขาร - วิญญาณ อันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ตั้งอยู่ไม่ได้นาน
ไม่ใช่ตัวตน กิเลสกาม คือความรักใคร่ยินดี
ตัณหาคือความทะยานอยากได้ อยากเป็น อยากมี
ไม่อยากเป็น ไม่อยากมี ราคะความกำหนัดยินดี ,โทสะคือความขึ้งเคียดเดียดฉันท์ จัดว่าเป็นมารมาล้างผลาญ
คุณงามความดีของมนุษย์ทำให้คนเสียคน"
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น