วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่๓๔ พระธรรมเทศนา ปาพจน์ (๑)


พระธรรมเทศนา  "ปาพจน์"

     ขอแนะนำให้สติตักเตือนเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายว่า  เราได้ชาติกำเนิดมาเป็นมนุษย์ มีร่างกายบริสุทธิ์ด้วยอวัยวะทุกส่วนไม่บกพร่อง  คือตาหูไม่บอดหนวก จิตใจไม่ใบ้บ้าเสียจริตผิดธรรมดามนุษย์  มีสติปัญญาสามารถทำกิจการงานทั้งปวงให้ลุล่วงสำเร็จผลตามความปรารถนาซึงเป็นวิสัยชองมนุษย์ที่มีชาติอันสูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน  การที่เราได้ชาติกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นของเกิดได้ยาก  มิใช่ของเกิดได้ง่าย ตามบาลีท่านกล่าวไว้ว่า  "กิจฺโฉ  มนุสส ปฎิลาโภ"   การเกิดเป็นมนุษย์ท่านว่าเป็นลาภอันสูงสุด  นับว่าเป็นสิงที่หาได้แสนยาก  ที่ได้ดังนี้ก็เพราะได้สร้างสมอบรมบารมีมาแต่ชาติปางกอ่น  คือคุณงามความดีที่เราเรียกว่า  ปุพเพกตปุญญตา  มาจนเต็มรอบบริบูรณ์แล้ว  จึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์  มีร่างกายบริสุทธิ์สมบูรณ์ทุกส่วน  นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐดังกล่าวแล้ว  ถึงกระนั้น ท่านก็ยังจัดว่ามนุษย์เป็นไปได้หลายจำพวก  คือ  มนุสสธมฺโม บ้าง มนุสฺสเปโต บ้าง มนุสฺสยกฺโข บ้าง  มนุสฺสติรจฺฉาโน  บ้าง  อธิบายว่า   มนุสฺสธมฺโม  นั้นคือ เป็นผู้มีคุณธรรมกรรมบถ ๑๐ ประการ  ประจำสันดาน  จะทำ จะคิด จะพูด สิ่งใดล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น  มนุษย์จำพวกนี้ ท่านจัดดว่าเป็นมนุษย์ที่บริบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน  ย่อมถือเอาประโยชน์สองประการไว้ได้  คือ  ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า   ส่วนมนุษย์ที่ขาดคุณธรรมกรรมบทสิบประการ ท่านจัดว่ายังไม่เป็นมนุษย์ทีแท้จริง  เพราะเป็นมนุษย์แต่ร่างกายเท่านั้น ส่วนจิตใจ นิสัย ความคิด ความเห็นยังตกไปฝ่ายธรรมดาชั้นต่ำ  คือ หายนะ เมื่อจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใด  ก็เป็นไปในทางที่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ยากลำบาก  เดือดร้อนทั้งชาตินี้และชาติหน้า

     ตามคัมภีร์พระมาลัยสูตร  ท่านกล่าวไว้ว่าเปรตในนรก มีมูตรคูถบ้าง มีถ่านเพลิงบ้าง มีน้ำเลือดน้ำเหลืองบ้าง  มีน้ำทองแดงบ้างเป้นอาหาร  เพราะผลอกุศลกรรมทีทำไว้เมื่อชาติยังเป็นมนุษย์ตามสนอง  เพราะเมื่อยังเป็นมนุษย์เลี้ยงชีวิตโดยไม่ชอบธรรม  เรียกว่า มิจฉาอาชีวะ คือ ทำการลักขโมย ปล้นสะดม แย่งชิง  ฉ้อโกงทรัพย์เขามาเลี้ยงชีวิต  เสพสุรายาเมา  เหล้า ฝิ่น กัญชา เป็นเหตุให้ตกอยู่ในความประมาท  อาการที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นบาป ผู้ที่บริโภคอาหารเหล่านี้เหมือนกับบริโภคอาหารของเปรต  ท่านจึงเรียกมนุษย์จำพวกนี้ว่า  มนุสฺสเปโต  จำพวกหนึ่ง
     มนุสฺสยกฺโข  นั้น ร่างกายก็เป็นมนุษย์ ส่วนนิสัยจิตใจ ความคิดความเห็นเหมือนยักษ์ ธรรมดาว่ายักษ์ย่อมเป็นศัตรูต่อมนุษย์  มนุษย์จำพวกนี้เมื่อมีความโกรธเคืองขึ้นมา ชักหน้าเขียวหน้าแดง ขบเขี้้ยวเคี้ยวฟัน หยักรั้ง ตั้งท่า  ตีรันฟันแทง  ฆ่าได้ทั้งนั้นไม่ว่ามนุษย์จำพวกใด เหตุนี้ท่านจึงเรียกว่า มนุสสฺยกฺโข  จำพวกหนึ่ง
     มนุสฺสติรจฺฉาโน  น้ัน  ร่างกายเป็นมนุษย์ ส่วนนิสัยจิตใจ ความคิดความเห็นเหมือนกับดิรัจฉาน  เป็นคนมืดมนอนธการ  หาสติปัญญาที่ดีมิได้ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี  ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์  ตลอดถึงคุณบิดามารดา  และคุณพระรัตนตรัยก็ยังไม่รู้  เป็นผู้อ่อนแอไม่สามารถที่จะทำตนใหเป็นที่พึ่งพาอาศัยแก่ตนและสัตว์อื่น ให้ได้รับความสุขความเจริญเหมือนมนุษย์ที่ดีได้  ดังนั้น ท่านจึงเรียกวา่ มนุสฺสติรจฉาโน
     มนุษย์สามจำพวกนี้น่าเสียดายี่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์มีร่างกายอวัยวะครบทุกส่วนไม่บกพพร่อง  แต่ยังขาดนิสัยใจคอ ความคิดความเห็นที่ดี จึงทำให้เขาไม่เป็นมนุษย์ได้เต็มที่  ถ้ามีสติปัญญา  ศรัทธาที่ดี เหนี่ยวรั้งข่มจิตใจนิสัยให้มีมนุษยธรรมขึ้นในสันดาน  ก็จะกลับเป็นมนุษย์ที่ดีได้บริบรูณ์เต็มที่ไม่บกพร่อง  ท่านกล่าวว่า ส่วนร่างกายน้ันจะสูง ต่ำ ดำ ขาว จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ต้องตกอยู่ในวัสัยของธรรมดา  ส่วนจิตใจนิสัยนั้นเปลี่ยนแปลงได้  เพราะธรรมดามนุษย์ที่ดีมีนิสัยไมชอบอยู่นิ่ง หรืออยู่คงที่ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม  ย่อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ฝึกหัดอบรมนิสัยและการงานให้ก้าวหน้าไปสู่ความสุขความเจริญเสมอ  จะเห็นได้ เช่น  กิจการงานทั้งปวงของโลกที่ประกอบหรือประดิษฐ์ขึ้นให้เหมาะสมแก่ยุคและสมัย  เช่น กสิกรรม  การทำนาทำไร่  พานิชกรรม  คือ ค้าขาย  อุตสาหกรรม คือ การผลิตสินค้า  ประดิษฐ์ศิลปกรรมต่างๆ  อย่างวิจิตพิศดาร ตลอดถึงยานพาหนะ เช่น ทำเหล็กให้วิ่งบนบก คือ รถยนต์ รถไฟ  เหล็กให้วิ่งในน้ำ คือ เรือยนต์ ทำเหล็กให้บินได้ในอากาศ เช่น เครื่องบิน  สิ่งดังกล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ผลิตและแก้ไขปรับปรุงขึ้นด้วยสติปัญญษที่เกิดขึ้นจากจิตใจของมนุษย์ทีดีทั้งน้ัน  นี่เป็นของภายนอกยังทำให้เป็นของวิเศษขึ้นได้
     ส่วนจิตใจนิสัยซึ่งเป็นของภายในด้วยแล้ว ทุกคนก็อาจปรับปรุง อบรมฝึกหัดสำหรับตนให้ดีประณีตยิ่งขึ้น  ให้เป็นของอัศจรรย์ หรือจะทำให้เลวทรามก็ได้  เช่น เรียกว่า เสือนั่น เสือนี่ ก็มีออกดาดดื่น  ฉนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความดีความชั่วเกิดจากตัวของตนเอง  เช่น เราจะทำตนให้เป็นคนดี  คือ ต้องซื่อสัตย์สุจริต ต้ังตนขึ้นได้ในทางโลก  มั่นคงอยู่ในศีลธรรม มีความกรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ทำประโยชน์แก่ตนและเพื่อนมนุษย์ทั่วไปจนเด่นชัด  ผู้นั้นก็ย่อมเป็นที่รักและเคารพนับถือ  กราบไหว้บูชาของประชาชนทั่วไป  ย่อมจะได้รับเกียรติยศปรากฎทั่้วทิศ  ยิ่งกว่าน้ัน มนุษย์อาจจะทำตนของตนให้เป็นเทวดาก็ได้  ให้เป็นพรหมก็ได้  เมือเราอยากเป็นเทวดาก็ให้ตั้งอยู่ในเทวธรรม  คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของเทวดา  มีหิริความละอายต่อบาป  โอตตัปปะ  ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง  ดังนี้ก็จะเรียกว่า มนุสฺสเทโว  คือ มนุษย์กลายเป็นเทวดา  ผู้ใดใคร่จะเป็นพรหมก็ให้ปฎิบัติตนต้ังอยุุ่ในพรหมวิหารสี่  มีเมตตา  กรุณา  มุทิตา อุเบกขา  แก้เพื่อนมนุษย์  และสัตว์ทั่วไปไม่เลือกหน้า  ก็จะเลื่อนจากมนุษย์กลายเป็นพรหมไป ฉนั้น  นักปราชญ์จึงกล่าวว่า  ผู้ใดจะเป็นพรหมก็เป็นได้ไม่เลือกหน้า  แต่ด้วยความปรารถนาอย่างเดียวน้ันเป็นไปไม่ได้   จะเป็นเทวดาหรือพรหม  ก็ต้องอาศัยประพฤติปฎิบัติธรรมนั้นๆ  ให้ถูกต้องต่อหน้าที่ ถ้าปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งน้ันสมปรารถนา   ฉนั้น เราพุทธบริษัททั้งหลายจงต้ังใจปฎิบัติธรรมอของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้รับผลคือ ความสุขความเจริญทั้งชาตินี้และชาติหน้า  อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นชาติที่หาได้ยาก

     อีกประการหนึ่ง  กิจฺฉงฺมจฺจาน  ชีวิตํ การเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ชีวิตก็เป็นของรักษาได้ยาก  จะเห็นได้ว่า  บางคนเกิดมามีอายุสั้นพลันตาย  คือตายเสียในครรภ์มารดาก็มี บางคนคลอดออกมาได้สองสามวันมาตายก็มี  คนเรามักตายเสียแต่เด็กๆโดยมาก  เพราะในเยาว์ยมีร่างกายอ่อนแอไม่สามารถทนทานต่อดินฟ้าอากาศที่หนาวร้อนและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้   หรืออีกนัยหนึ่ง  มีอายุสั้นพลันตาย  ก็เพราะตนมีวาสนาน้อย  คือบารมีทีสร้างไว้แต่ชาติก่อนน้อยเกิดมาจึงมีอายุสั้นพลันตาย   พูดถึงชีวิตและร่างกายแล้ว เป็นของมีค่าราคาอันสูง  และเป็นที่รักสุดยิ่งของสัตว์ทั้งมวล  จะเห็นได้ว่า  มนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนาม  ตื่นขึ้นแต่เช้าต่างคนต่างเที่ยวแสวงหาเครื่องอุปโภคบริโภคออกวุ่นมาบำรุงร่างกายและชีวิต  และเพื่อให้ได้รับความสุขสำราญ  แม้ไม่มีเจตนาก็เป็นการแย่งแข่งขันกันไปในตัว  ประกอบการงานอันชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง จึงได้รับความสุขสมหวังบ้าง ได้รับความทุกข์ยากลำบากบ้าง  เพราะทำไปโดยไม่ถึอเอาแนวทางธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปฎิบัติ ทำไปโดยชอบใจตน  ไม่ทำไปโดยชอบธรรม ฉนั้น  จึงไม่ได้รับความสุขสมดังปรารถนา  ชีวิตและร่างกายจึงได้รับความทุกข์ยากลำบาก  เพราะเหตุนี้แหละ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านผู้รู้แจ้งเห็นจริงในของจริง  คือ รูเหตุผลแห่งความทุกข์และสุข ทรงเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์  พระองค์จึงทรงเอ็นดูกรุณาแก่หมู่สัตว์  จึงได้ทรงแสดงธรรมแนะนำสั่งสอนให้แนวทางไว้ปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์  และปลอดภัยในชีวิตร่างกายทรัพย์สมบัติของสัตว์จะได้ประสบแต่ความสุขสำราญทั่วหน้ากัน  พระองค์จึงทรงบัญญัติตั้งเป็นสิกขาบท ๕ ประการคือ
    ปาณาติปาตาเวรมณี  ให้เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตของกันและกัน เพราะชีวิตเป็นของรักที่สุดยิ่ง  พระองค์จึงทรงบัญญัติไว้เป็นข้อห้ามเบื้องต้น  จะเห็นได้จากตัวอย่างเช่น  เราพกเงินไปในทางเปลี่ยวแต่ผู้เดียวราวแสนบาท  เมื่อมีคนร้ายมาพบเข้า  เอาอาวุธจี้เรา  แล้วถามว่า เธอรักทรัพย์หรือรักชีวิต ถ้าเป็นเราก็ต้องขอชีวิตไว้ยอมให้ทรัพย์ไป นี่จะเห็นได้ว่าชีวิตเป็นของรักสุดยิ่งกว่าสิ่งใดๆ  พระองค์ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทที่หนึ่ง
     อทินาทานาเวรมณี   เว้นจากการถือเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นทีเจ้าของไม่ให้ด้วยอาการแห่งขโมย  ทรัพย์เป็นของรักที่สองจากชีวิต  ตัวอย่างเช่น  ภรรยาหรือบุตรสาวตามชู้หรือคู่รักไป  แต่ได้นำเอาทรัพย์สมบัติไปมาก  ผู้เป็นสามีหรือบิดาเที่ยวตามหาเมื่อไปพบพรรคพวกเข้า เขาถามว่าจะไปไหน  ผู้นั้นจึงเล่าเรืองให้ฟัง พรรคพวกจึงเตือนให้สติว่า  เมื่อเขาไม่สมัครอยู่กับเราก็ตามใจเขา  ผู้เป็นบิดาหรือสามีจึงตอบว่า ลำพังภรรยาหรือบุตรน้ันจะไม่ตามเลย  ที่เที่ยวตามนั้นเพราะเสียดายทรัพย์เพื่อจะได้เอากลับคืน นี่ก็จะเห็นได้ว่ารักทรัพย์มากกว่ารักบุตรภรรยา  พระองค์จึงทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบทที่สอง
     ส่วนบุตรภรรยาน้ันเป็นของรัก  ต่อจากทรัพย์ลงไปเป็นธรรมดาของมนุษย์ ย่อมหวงตระกูลและประเพณี  พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทที่สาม  คือ  กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
     ส่วนความสัตย์นั้น เป็นของรักที่สี่  คือจริงต่อคำพูด  จริงด้วยวาจา  จริงต่อเวลา  จริงต่อหน้าที่การงาน  เพราะความสัตย์จริงที่กล่าวนี้่  เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนา  พระองค์จึงทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบทที่สี่  คือ มุสาวาทาเวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
     ส่วนความไม่เโลเลเหลวไหล  เลอะเลือน  ฟั่นเฟือน  น้ันเป็นความรักที่ห้าต่อจากความสัตย์จริงลงมา  พระองค์จึงทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทที่ห้า   คือ สุราเมรย มัชชลปมาทัฎฐานาเวรมณี  ให้เว้นจากการดืมสุราเมรัย  เครื่องหมักดองของเมาต่างๆ  สงเคราะห์ ฝิ่น  กัญชาด้วย  ถ้าเสพย์เข้าไปเป็นเหตุให้ตกอยู่ในความไม่ประมาทจะทำแต่บาปหยาบช้าร้าย  ทุจริตจักเป็นผลเป็นทุกข์แผดเผาตนและคนอื่นให้เร่าร้อนรำคาญ ชีวิตจักไม่เป็นแก่นสาร เป็นหมันไม่มีผล เหตุนี้แหละพระองค์จึงทรงได้บัญญัติศีล ๕ ประการเพื่อให้มนุษย์ปฎิบัติตามจะได้พ้นเสียจากกองทุกขืได้รับแต่ความสุขเกษมสำราญทั้งภพนี้และภพหน้า
     ฉนั้นเมื่อท่านทั้งหลายปรารถนาความสุข ก็ควรน้อมใจปฎิบัติตามศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตามสติปัญญาศรัทธาความสามารถของตน  จะได้รับ  คือความสุข ความเจริญ ตามกำลังความสามารถทีจะปฎิบัติได้  เมื่อสาธุชนทั้งหลายต้ังใจปฎิบัติธรรมตามพระพุทธศาสนาด้วยความตั้งใจ  คือ ปฎิบัติให้ถึงใจ  อย่าสักแต่ว่านับถือ คือ ถือตามๆกันไปตามธรรมเนียมประเพณี  ถือดังกล่าวมานี้ ท่านว่าได้ผลน้อย  คือ ถือเพียงปากเพียงมือ  เช่นเมื่อระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำจิตเลื่อมใสชั่วขณะหนึ่ง  แล้วจิตใจก็กลับเป็นนิสัยเดิม  เมื่อเข้าไปฟังพระธรรมเทศนา ก็แสดงความเคารพ นั่งพนมมือตามธรรมเนียม  เมื่อจบการฟังพระธรรมเทศนา จิตใจก็กลับเป็นนิสัยเดิม  เมื่อไปพบพระภิกษุสามเณรก็แสดงความเคารพตามสมควร  เมื่อหลีกจากภิกษุสามเณรไปแล้ว  จิตใจก็กลับเป็นนิสัยเดิม  ถ้านับถือพระพุทธศาสนาดังว่ามานี้  ย่อมมีคุณนิสงส์น้อยหรืออาจไม่มีเลยก็ได้  เพราะไม่ได้รับผล  คือ ความสุขกายเจริญใจ  ท่านเปรียบไว้เหมือนกาบินไปเกาะภูเขาทอง  แล้วตัวกาก็กลับดำดังเดิม  การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ควรถือดังนี้ นับถือดังนี้ท่านเรียกว่า  ถือเพียงปาก  เพียงมือ  ย่อมไม่ได้ผล  เพราะขาดความเชื่อถือ  ความเชื่อกับนับถือย่อมต่างกัน  ตัวอย่างเช่น  บุคคลบางคนนับถือพระพุทธศาสนาแล้วเอาพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไปแขวนคอ  เที่ยวไปประพฤติทำทุจริตชั่วร้ายต่างๆ  มีลักขโมย  ปล้นสะดม  เป็นต้น  อย่างนี้เรียกว่า เพียงแต่นับถือ ไม่เชื่อว่าบาปกรรม ฉนั้น นับถือดังนี้ขาดความเชื่อ ย่อมไม่บังเกิดผลดี  มีแต่ผลร้ายฝ่ายเดียว  การนับถือพระพุทธศาสนาจะให้ได้ผลดีนั้น  ต้องทั้งมีความเชื่อและความนับถือคู่กันไปจึงจะได้รับผลดีตามความปรารถนา  ฉนั้น ควรปฎิบัติดังนี้   คือ นับถือใหถึงใจ  ท่านสอนไว้ว่าเมื่อเราเจริญพุทธานุสติ  คือ ระลึกถืงคุณของพระพุทธเจ้าน้ัน คือ ศีลคุณ สมาธิคุณ  ปัญญาคุณ สัจจคุณ บริสุทธิคุณ เมตตาคุณ ต้องน้อมเอาพระคุณย่อๆ เหล่านี้มาสวมไว้ในกาย วาจา ใจของตน  เหมือนเครื่องแต่งกาย คือ คุณของพระพุทธเจ้า เปรียบด้วยหมวก  เมือ่เจริญธรรมานุสติ  ก็ควรน้อมเอาพระธรรมเข้ามาสวมไว้ในกาย  วาจา ใจ  พระธรรมนั้นควรทำความเข้าใจว่า  ตัวธรรมที่จริงแท้ๆ ไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ ธรรมะที่มีอยู่ในคัมภีร์น้ันเป็นแต่ทางดำเนินกาย  วาจา  ใจ  ให้บริสุทธิ์ และหลีกทางอันไม่บริสุทธิ์หรือจะเรียกว่า ตำราสำหรับค้นคว้าหาความรู้  เหตุผลผิดชอบ ชั่วดี ความเสือม ความเจริญในธรรมะเท่านั้น  เปรียบด้วยตำรายาแก้ไข้   นำเอาตำรามาต้มให้คนไข้รับประทานก็จะหายจากโรคไข้  นี่หาเป็นดังนั้นไม่  เมื่อมีโรคหรือมีไข้ขึ้น  ต้องไปเก็บต้นไม้หรือยาที่สำเร็จรูปแล้วมารักษาไข้จึงจะหาย ฉนั้น  จึงว่าตัวยาจริงไม่้ได้อยู่ในตำรา  อยู่ที่ต้นไม้  ใบไม้ เปลือก  ราก เหง้า แก่น ใบ ดอก  เกษร ไม้ และสิ่งอื่นๆ  ฉันใดก็ดี  ธรรมะของพระพทุธเจ้าที่แท้จริงก็คือตัวเรา   ดังนี้  พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนว่า  ธรรมะอยู่ที่ตัวของบุคคลนี่เอง  คือ  ชาติ ชรา พยาธิ  มรณะ  อสุภกัมมัฎฐาน  หรือ  รูปธรรม นามธรรม  เรียกว่า ธรรมกาย เช่น ทำดี พูดดี  คิดดี เรียกว่า  กุสลาธรรมา จัดเป็นกุศลกรรมให้เป็นสุข  เป็นนิฎฐารมณ์  สิ่งที่บุคคลปรารถนา ควรน้อมเข้ามาสวมหรือประดับไว้กับตน  เหมือนเครื่องแต่งกาย  เปรียบด้วยเสื้อ  ส่วนทำชั่ว  คิดชั่ว  เป็นอกุศลาธมฺมา  จัดเป็นอกุศลกรรม  ให้ผลเป็นทุกข์เป็นอนิฎฐารมณ์  สิ่งที่ไม่ปรารถนาควรละทิ้งเสียให้ห่างไกล จากกาย วาจา ใจ  เพราะให้ผลเป็นทุกข์  เมื่อเจริญสัมฆานุสติ ก็ควรน้อมเอาพระคุณของพระสงฆ์เข้ามาสวมไว้เหมือนกางเกง  คุณของสงฆ์นั้นก็คือ ข้อปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ปฎิบัติซื่อตรง  ปฎิบัติธรรม ปฎิบัติสมควร  ได้แก่ ความเป็นผู้ปฎิบัติอันน่านับถือ  ควรน้อมเอาพระคุณอันนี้มาสวมเข้าไว้ในตน  ผู้ใดปฎิบัติได้ดังนี้ย่อมมีคุณาสงส์อันล้ำเลิศประเสริฐยิ่ง  เป็นสิ่งที่งอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา

     ฉนั้น จงทำความเข้าใจว่า ธรรมะอยู่ที่ตัวบุคคล สมตามคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอัครสาวก  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต    ผู้ไดเห็นตถาคต  ผู้นั้นเห็นธรรม  ฉนั้น  ควรประดับคุรพระรัตนตรัยเข้าไว้ในตตน  เปรียบด้วยเครื่องเแต่งกายของทางโลก  คือมีการสวมหมวด สวมเสื้อ สวมกางเกง อย่างสุภาพบุรุษ  สตรี มองดูเรียบร้อยสวยงาม เพราะแต่งเครื่องครบบริบูรณ์ ไม่เดือดร้อน  เช่น ฝนตกก็ไม่หนาว  เพราะมีเครื่องปกคลุม แดดออกก็ไม่ร้อน  เพราะมีเครื่องปกปิดร่างกาย  ถ้าขาดหมวกเสียก็หมดงาม ถ้าขาดเสื้อก็หมดความภาคภูมิ ถ้าขาดกางเกงก็หมดดี  มนุษย์เราถ้าขาดเครื่องแต่งกายในทางโลกมองดูน่าเกลียด น่าชัง จะเข้าไปสังคมใดๆก็เป็นที่รังเกียจแก่สมาคมน้ันๆ  อาจจะถูกติเตียนว่าเป็นผู้เสียจริตก็ได้  ฉันใดก็ดีเครื่องประดับทางพระพุทธศาสนาก็ฉันน้ัน  ถ้าผู้ใดขาดจากคุณพระพุทธเจ้าก็เหมือนขาดหมวก  ถ้าขาดคุณพระธรรมก็เหมือนขาดเสื้อ  ถ้าขาดคุณพระสงฆ์ก็เหมือนขาดกางเกง  ฉนั้น  ถ้าผู้ใดปราศจากคุณพระรัตนตรัย คือ แก้วสามประการเสียแล้ว  ท่านเรียกบุคคลนั้นว่าโมฆปุริโส  เป็นบุรุษผู้เปล่าปราศจากประโยชน์ คือ  ปราศจากคุณงามความดีและเป็นการเสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่พบพระบวรพุทธศาสนา แต่ไม่ปฎิบัติ คล้ายสัุตว์เดรัจฉาน  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติตรัสรู้ขึ้นในโลก แต่ละพระองค์มีเวลาช้านานต้ังแสนกัลป์ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม ตราบใดที่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบุติขึ้นในโลก พระธรรมคำสังสอนของพระองค์ก็ไม่อุบัติขึ้นตามน้ัน  เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสงฆ์ก็ไม่ปรากฎมีขึ้นเนื่องด้วยไม่มีข้อปฎิบัติ เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ปฎิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
     เมื่อทราบชัดว่า พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่หาได้ยากดังน้ันแล้ว  ก็ควรจะน้อมเข้าไปในตนเพื่อให้คู่ควรแก่ขาติกำเนิดและชีวิตร่างกายของตนที่หาได้ยากและมีค่าอันสูง  ร่างกายและอวัยวะส่วนหนึ่งๆ ล้วนแต่เป็นของมีค่าอันสูง เช่น  เมื่อมีผู้ต้องการลูกนัยน์ตาหรือแขนขาของเราสักข้างหนึ่ง จะให้เงินเราสักหมื่นบาท  เมื่อขณะที่เราจนๆ อยู่อย่างนี้  เราก็คงไม่ต้องการเงินหนึ่งหมื่ีนบาท เมื่อรวมอวัยวะทุกส่วนพร้อมด้วยร่างกาย จะรู้ดีว่ามีค่าราคาเป็นแสนๆ บาท  แต่บางคราวคนที่โง่เขลามักจะตึราคาค่าตัวต่ำ  เอาร่างกายไปแลกกับของที่มีราคาค่างวดต่ำ  เช่น ไปลักเล็กขโมยน้อย  ถึงกับถูกเจ้าทรัพย์ฆ่าตาย  เช่นนี้น่าเสียดายและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทำให้ตนเป็นคนโง่เขลาไร้สติปัญญาเป็นอย่างมาก และเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทำตนให้เป็นคนโง่เขลาไร้สติปัญญาเป็นอย่างมาก  ไม่สมกับที่ได้ชาติกำเนิดมาเป็นมนุษย์อันสูงกว่าเดียรฉาน  ควรมีสติสัมปชัญญะ ระลึกถึงตัวว่าเรามีอายุยืนมาได้ถึงเพียงนี้ ก็นับว่าเป็นบุญลาภไม่ควรจะประมาทในชึวิต ควรจะหันหน้าเข้าหาหนทางทั้งแปดเส้น  คือ อักฐังคิกมรรคที่พระองค์ได้ตรัสไว้ คือ สัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ เห็นว่าคนเรามีกรรมเป็นของตัว ทำดีจักได้รับผลดี  ทำชั่วจักได้รับผลชั่ว  เมื่อทราบว่าความชั่วให้ผลเผ็ดร้อน  จักได้ดำเนินในสัมมาสังกกัปปะ  ดำริออกเสียจากความชั่ว นี่คือองค์ของปัญญา  เมื่ือองค์ของปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น