๒๔. บารมีแผ่ไพศาล
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงสอนเรื่อง สันโดษ ให้พอใจในสิ่งที่มี ที่ได้ที่เป็นที่เราแปลกันว่า "มักน้อย" อันที่จริงแปลไม่ตรงความหมายแท้ของคำสอนนี้ทีเดียว
ต้องศึกษาทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ต่อไป เพราะพระพุทธองค์นั้น
ไม่เคยทรงสันโดษในบุญกุศล หรือคุณความดีเลย พระองค์มีพระหทัยเหมือนทะเล ไม่อิ่มน้ำ
ในเรื่องการบำเพ็ญบุญกุศล ไม่เคยหยุด ไม่เคยพอเลย ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา พระองค์ไม่เคยหยุดพักการโปรดสัตว์แม้วันสุดท้าย
จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอยู่แล้ว ยังโปรดให้สุภัททะปริพาชกเข้าเฝ้า
เพื่ออุปสมบทให้เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้าย ในวันเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้นเอง
ถ้าดูปฏิปทาของหลวงพ่อเงิน
ก็ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทพระบรมศาสดา เหมือนหลวงพ่อทำงานตามหน้าที่ตลอดเวลา ไม่มีพัก ไม่มีหยุด
ไม่มีย่อท้อ ไม่มีเบื่อหน่าย ยินดีในการสร้างบุญสร้างกุศลอยู่ตลอดเวลา
จับงาน ทำงาน รับทำ อยู่ตลอดเดือน ตลอดปี รับแขกอยู่ตลอดวัน รับนิมนต์ไปทำกิจอยู่ตลอดปี
จนมองดูกว้างขวางออกไปทุกที ๆ จะพรรณนาไปก็ไม่หมดสิ้น
เพระไม่มีใครติดตามจนจำได้หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่อง คงพูดกันได้ เขียนได้
เล่ากันได้ เฉพาะเรื่องที่รู้เห็นเท่านั้น เพราะหลวงพ่อบวชมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453-2519 รวมเวลา 66 ปี นับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมาก
เหลือกำลังที่ใครผู้ใดจะติดตามจดจำมาเล่ากันได้หมดสิ้น เพราะหลวงพ่อทำงานให้แก่พระศาสนามาตลอดเวลา 66 ปีนั้น ไม่เคยหยุดเลย ไม่เคยพักเลย
งานที่หลวงพ่อทำนั้น
ถ้าหากจะแยกประเภทออกไปตามหลักของกิจการพระสงฆ์ก็คงจะได้ 10 อย่างคือ
1. การบริหาร หรืองานปกครองพระสงฆ์
2. สาธารณูปการ หรืองานการบูรณปฏิสังขรณ์ หรืองานก่อสร้างอาคารวัตถุ
3. การศึกษา หรืองานด้านพระปริยัติธรรม
4. การเผยแผ่ หรืองานเผยแพร่พระศาสนา
5. การสังคมวัฒนธรรม คืองานที่เกี่ยวกับเรื่องสังคมท้องถิ่นและวัฒนธรรมประเพณี
6. การอุปสมบท ให้กุลบุตร ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา
7. การช่วยราชการ คืองานช่วยบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ เช่นทำถนนสร้างโรงเรียน
8. การพระธรรมวินัย คือการรักษาศีล รักษาธรรม ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน
9. การสงเคราะห์ประชาชน ในด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล การรักษาความสงบ ความปลอดภัย
10. งานเบ็ดเตล็ดอื่น อันเป็นเรื่องปลีกย่อย และนอกเหนือหน้าที่ เช่น งานเจิมรถ เจิมป้าย
งานพุทธาภิเษก งานของทางราชการต่างๆ งานของเอกชน ที่มาขอร้องให้ช่วย
งานทั้ง 10 ประเภทนี้ หลวงพ่อรับทำ รับธุระ เอามาเป็นภาระธุระทุกสิ่ง ทุกอย่าง ไม่เคยหลีกเลี่ยง
ไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยย่อท้อ ไม่เคยออกปากบ่นเลย
บารมีหลวงพ่อจึงแผ่ไพศาลครอบคลุมไปทั่วบ้านเมือง
สร้างอาคารเรียนราคาล้าน
เมื่อ
พ.ศ.2496 หลังจากสร้างอุโบสถเสร็จได้ 3 ปีเต็ม
หลวงพ่อก็เริ่มงานก่อสร้างใหม่อีก ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารเรียนประชาบาล ขนาดใหญ่
เป็นตึกคอนกรีตตามรูปแบบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ เป็นตึก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 80 เมตร 18 ห้องเรียน
ไม่ใช่ตึกก่ออิฐถือปูนธรรมดา แต่เป็นตึกเทคอนกรีตทั้งหลัง หลังคาทรงไทยสวยงาม
นับเป็นอาคารเรียนตึกคอนกรีตหลังแรกของจังหวัดนครปฐม ไม่มีสมภารเจ้าวัดองค์ใด จะกล้าหาญชาญชัย ทำการก่อสร้างตึกขนาดนี้มาก่อน แม้โรงเรียนมัธยมของรัฐบาล
ก็ยังไม่มีขนาดนี้
อาคารเรียนหลังนี้ได้รับเงินงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ 200,000 บาทโดยพลอากาศเอก
หลวงเชิดวุฒากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ได้ไปหาหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอม เมื่อเห็นกำลังลงมือทำการก่อสร้างอยู่ ก็ได้สอบถามหลวงพ่อว่า สร้างด้วยเงินอะไร
สิ้นเงินไปเท่าไร เมื่อทราบว่า ไม่ได้เงินงบประมาณเลย
ก็รับปากว่าจะจัดสรรเงินงบประมาณให้ 400,000 บาท
แต่เมื่อกลับไปแล้ว ก็จัดสรรเงินมาสมทบทุนก่อสร้างได้เพียง 200,000 บาท
หลวงพ่อได้ทำการก่อสร้างคิดเป็นค่าวัสดุที่จำเป็นต้องซื้อ
เช่น หิน ทราย เหล็ก ปูน ประตู หน้าต่าง และตัวไม้อื่น ๆ ประมาณ 1,600,000 บาท
ในสมัยนั้น ส่วนค่าแรงนั้น ชาวตำบลดอนยายหอมได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำงาน
ขุดหลุม ตอกเข็ม ขนดิน ขนทราบ แบกหาม โดยไม่คิดค่าแรงงานเลย จนแล้วเสร็จ
อาคารเรียนหลังนี้ ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร
ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมสมัยนั้นได้ตั้งชื่อว่า "โรงเรียนหลวงพ่อเงินอุปถัมภ์" เป็นอาคารเรียนที่ชาวตำบลดอนยายหอมภาคภูมิใจมาก
เพราะได้ลงมือสร้างร่วมบุญร่วมกุศลกับหลวงพ่อ ทั้งบริจาคเงินและแรงงาน
โดยมีหลวงพ่อเป็นประธานในงานบุญนี้ เป็นอาคารซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดี
และพลังแห่ง ความรักสามัคคีของผู้คนจำนวนมาก สมกับพระพุทธวัจนะ
แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ตรัสไว้ว่า
พลัง สังฆัสสะ สามัคคี
(สามัคคีก่อให้เกิดพลังแก่หมู่คณะ)
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี
(สามัคคีก่อให้เกิดความสุขแก่หมู่คณะ)
แต่ความสามัคคีจะเกิดขึ้นไม่ได้
ถ้าไม่มีแกนแห่งความสามัคคี สามัคคีจะก่อให้เกิดขึ้นได้ เพราะมีแกนรวมน้ำใจ
และแกนแห่งความสามัคคีนั้นก็คือบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมมา
ด้วยพลังแห่งศีล พลังแห่งธรรมหลายสถาน
เช่น เมตตาธรรม เป็นต้น หลวงพ่อเงินคือ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติดังว่านี้
คนทั้งหลายจึงเชื่อมั่นว่า
หลวงพ่อเงินคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาเกิดเพื่อบำเพ็ญเพียรบารมี
เป็นที่พึ่งพำนักแก่สัตว์โลกทั้งหลาย
สร้างสถานีอนามัย
ก่อนหน้านี้หลังจากสร้างอุโบสถ
เป็นตึกคอนกรีตเสร็จลงใน พ.ศ.
2492 ซึ่งเป็นโบสถ์คอนกรีตหลังแรกในจังหวัดนครปฐม
ราคาล้านนั้นแล้วก็มาสร้างตึกคอนกรีตอาคารเรียน ยาว 2 เส้น จนแล้วเสร็จอีกเมื่อ พ.ศ. 2496 นั้น ช่วง 3 ปี ที่เว้นว่างนั้น ที่จริง
มิได้เว้นว่างเลย เพราะหลวงพ่อได้สร้างสถานีอนามัยขึ้นข้างวัดดอนยายหอมหลังหนึ่ง
โดยหลวงพ่อได้จัดซื้อที่ดิน ติดต่อวัดทางด้านใต้ขยายออกไปอีก 1 ไร่ นายอยู่ ด้วงพูล พี่ชายของหลวงพ่อได้บริจาคเงินให้ครั้งหนึ่ง
นอกนั้นยังมีผู้ขายบ้านและถวายห้องแถวให้ ชาวตำบลดอนยายหอมก็ช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุน
ช่วยแรงงาน สร้างสถานีอนามัยจนสำเร็จ ในปี พ.ศ.2495 เมื่อทำพิธีเปิดป้ายและมีงานฉลองก็มีคณะกรรมการ จังหวัด เช่น
ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ศึกษาธิการจังหวัด และนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัด
คณะกรรมการอำเภอมาร่วมงานด้วยมาก แม้ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตอะไรมากนัก
แต่ก็เป็นสถานที่อำนวยความสุขให้แก่ประชาชน ตำบลดอนยายหอม
ชาวตำบลนี้จึงถือว่าหลวงพ่อเงินเกิดมาเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมี ช่วยบำบัดทุกข์
บำรุงสุข ของประชาชนตำบลนี้ จึงมีแต่ความเคารพบูชา จงรักภักดี โดยทั่วหน้า
ข้าพเจ้าเคยไปนั่งอยู่หน้ากุฏิหลวงพ่อ ขณะที่หลวงพ่อยังไม่โผล่หน้าออกมานั่ง
มีชายคนหนึ่งแสดงอาการมึนเมาส่งเสียงพูดดังลั่น เอะอะอยู่
พอหลวงพ่อโผล่หน้าออกมาเท่านั้น ชายขี้เมาคนนั้นจึงเงียบกริบ ไม่กระดุกกระดิกเลย
มองเหมือนตุ๊กตาจีนทาหน้าสีแดงเรื่อ ๆ
แม้แต่คนขี้เมายังรู้สึกตัวเกรงกลัวหลวงพ่อเหมือนถูกสะกดจิต หรือถูกมนต์ "นะจังงัง" เข้าฉะนั้น
ตั้งโรงเรียนสหศึกษาบาลี
หลวงพ่อมิได้คิดการแต่เพียงภายในอาณาเขตของวัดดอนยายหอมเท่านั้น
แต่หลวงพ่อคิดการโดยกว้างขวาง ออกไปนอกอาณาเขตของวัดด้วย หลวงพ่อเงินเห็นว่า
เมืองนครปฐมเป็นเมืองต้นตระกูล แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่โบราณเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว
ประจักษ์พยานก็คือ พระปฐมเจดีย์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.235 สมัยเมื่อพระโสณเถระ และพระอุตระเถระ มาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ณ
เมืองท่าแห่งนี้
แต่ปัจจุบันนี้ ในเมืองนครปฐม
ไม่มีสำนักศึกษาพระบาลีเลย พระมหาเปรียญ ที่เป็นคนเลือดเนื้อเชื้อไข
คนนครปฐมไม่ค่อยมี หลวงพ่อจึงคิดว่าน่าจะหาทางส่งเสริมการศึกษาพระบาลีขึ้น
จึงได้ปรึกษาหารือกับบุคคลสำคัญต่างๆ ไปตามจังหวะเวลาและโอกาสเหมาะเช่น น.ส.แอ๊ด กลกิจ นางสะอาด ตู้จินดา นายมาลัย บุญวัฒน์ และขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากร เป็นต้น ท่านเหล่านี้ก็เห็นดีเห็นชอบ
ปวารณาตัวว่าจะช่วยเหลือหลวงพ่อให้ทำการต่อไป หลวงพ่อจึงตกลง
ตั้งโรงเรียนสหศึกษาบาลี ขึ้นที่วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.ศ.
2494
ครั้นถึง พ.ศ. 2496 ทางการคณะสงฆ์เห็นคุณงามความดีของหลวงพ่อ
ที่เอาเป็นธุระในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของจังหวัดเป็นส่วนรวม
ไม่คิดเอาธุระอยู่แต่ภายในวัดดอนยายหอมเท่านั้น จึงได้แต่งตั้งท่าน
ให้เป็นคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ในตำแหน่งเผยแพร่จังหวัดนครปฐม
ตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์สมัยนั้น ซึ่งแบ่งหน้าที่ออกเป็น ปกครองจังหวัด, ศึกษาจังหวัด, เผยแผ่จังหวัด,
สาธารณูปการจังหวัด มี เจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน
น่าเสียดายที่การแบ่งงานบริหารการคณะสงฆ์ นี้ได้ถูกยกเลิกเสีย
โดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับต่อมาใน พ.ศ.2505 เหลือแต่เจ้าคณะจังหวัดเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น
ทำหน้าที่เผยแผ่จังหวัด
งานในหน้าที่เผยแผ่พระธรรมวินัย หรือเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานั้น
อันที่จริงหลวงพ่อทำหน้าที่อยู่แล้วตามปกติ
ถึงจะไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเผยแผ่จังหวัด
หลวงพ่อก็เป็นเผยแผ่จังหวัดอยู่แล้วตลอดมา
เพราะจะมีผู้ไปนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ อยู่เสมอมา
หลวงพ่อจึงเทศน์ทั้งในวัดและนอกวัด
การเทศน์ของหลวงพ่อก็ทันสมัย ทันโลก
จะนิมนต์ขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ หลวงพ่อก็ถือพระธรรมคัมภีร์เทศน์ใบลานไว้ในมือ
หลับตาอ่าน หลับตาเทศน์ได้คล่องแคล่ว จะให้เทศน์ปากเปล่า หลวงพ่อก็เทศน์ได้แบบปาฐกถาธรรมะ
ภาษาที่ใช้ ก็เป็นภาษาชาวบ้านพูดง่าย ๆ ตรงไปตรงมา พูดให้คนมองเห็นจริง
มีแทรกถ้อยคำที่ขำขัน น่าขบน่าคิด น่าหัวเราะลงไปด้วย
แต่หลวงพ่อมักจะพูดสำรวมวาจา ไม่พูดหยาบคาย
ไม่พูดตลกคะนอง ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเยาะเย้ย ไม่พูดถากถาง ไม่พูดเสียดสี
ไม่พูดยกตน ไม่พูดข่มท่าน ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดเลอะเทอะ ไม่พูดน้ำท่วมทุ่ง
ไม่พูดตามอารมณ์เหมือนดังพระเปรียญบางองค์ บางรูปคำพูดหลวงพ่อเด็กฟังได้
ผู้ใหญ่ฟังดี ไม่พูดแบบคาดคะเน ไม่พูดแบบยกเมฆ ไม่พูดแบบข่าวเขาเล่าว่า
จระเข้มาที่ท่าน้ำ อะไรทำนองนี้ หลวงพ่อมีปฏิภาณเอาเหตุการณ์เฉพาะหน้าเฉพาะเรื่อง
เฉพาะประชุมชน เฉพาะกาล เฉพาะสมัย ขึ้นมาพูดได้เสมอ มีประจักษ์พยานอยู่หลายเรื่อง
จะพูดสอนนักโทษก็พูดได้ จะพูดสอนโจรก็พูดได้
จะพูดสอนพ่อค้าออกหวยเถื่อนก็ได้ จะสอนคนกำลังบ้าดีเดือด
ถือมีดจะทำร้ายตนอยู่ก็พูดได้ จะพูดโต้ตอบบาทหลวงนอกศาสนาก็ได้
จะพูดจูงใจคนนอกศาสนาให้เห็น ให้เข้ามานับถือพุทธศาสนาก็ได้
จะพูดอวดของดีเมืองนครปฐมก็พูดได้ดีไม่มีใครเหมือน
หลวงพ่อพูดออกมาแล้วมากมายนับหนไม่ถ้วน นับเรื่องไม่ถูก
ไม่มีใครได้กำหนดจดจำไว้ได้ หลวงพ่อเองก็จำไม่ได้ว่าเทศน์เรื่องอะไร เทศน์ที่ไหน
เทศน์ว่าอย่างไร มีแต่คนที่เคยฟังหลวงพ่อพูดก็จำได้กระท่อนกระแท่น นำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง
คนละนิดคนละหน่อย ดังจะได้เล่าต่อไปสักเรื่องหนึ่ง
หลวงพ่อพูดครั้งนี้
เป็นการพูดในตำแหน่งเผยแผ่จังหวัด ไปพูดที่วัดธรรมศาลา พูดให้คณะทอดผ้าป่า
ซึ่งมีคุณหญิงประจญปัจนึก ภรรยาของพระยาประจญปัจนึก ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนำมาทอด
เพื่อสมทบทุนสร้างโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ.2497 มีคนฟังประมาณ 600 คน ส่วนมากเป็นนักเรียน เรียกว่าหลวงพ่อเทศน์ให้เด็กนักเรียนชั้นประถมฟัง
ซึ่งค่อนข้างพูดยาก ในการที่จะพูดให้เด็กวัยนี้ฟังได้
วันนั้นหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์เทศน์ปากเปล่าเรื่อง "ลูก 4 คน" ดำเนินความว่า
"เด็กที่โรงเรียนวัดธรรมศาลานี้มี 600 คน ถ้าได้รับการศึกษาดี มีความฉลาด มีความประพฤติดีเพียง 100 คน อีก 500 คนโง่ เป็นขโมยขะโจร อีก 100 คนนั้นจะมีความสุขได้อย่างไร จึงต้องช่วยกันทำให้เด็กอีก 500 คนนั้น ประพฤติดีมีความฉลาดด้วย จะทำให้เด็กเป็นคนดีต้องให้การศึกษาอบรม
มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นลูก 4 ลูก ต่อไปนี้
1. ลูกลาก ลูกชนิดนี้เป็นลูกลากพ่อแม่ ใช้พ่อแม่ก็ต้องลากโครงเลี้ยงลูกไป
เติบโตขึ้นก็ลากเอาแต่ความทุกข์ร้อนมาให้ เอาความฉิบหายมาสู่พ่อแม่
ลูกอย่างนี้ทำให้พ่อแม่มีเคราะห์กรรม
2. ลูกหลง พ่อแม่คู่หนึ่งมีลูก 2 คน คนหนึ่งเป็นหญิง
คนหนึ่งเป็นชาย ลูกชายไปได้เมียอยู่ฟากตรงข้าม แม่ป่วยหนัก ลูกชายก็ไม่มาเยี่ยม
น้องสาวต้องไปตาม เอาเรือไปรับ จึงข้ามฟากคลองมาดูใจ แม่จึงสั่งเสียก่อนตายว่า
"ลูกเอ๋ย ลูกมาก็ดีแล้ว แม่กำลังจะจากลูกไปอย่างไม่มีวันกลับ
แม่เห็นจะไม่ได้อยู่ดูแลความทุกข์สุขของลูกต่อไปแล้ว แม่ขอฝากน้องด้วย
ขอให้ตั้งใจทำมาหากิน เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียให้ดี"
แม่ยังสั่งไม่ขาดคำ
ฝั่งโน้นก็ตะโกนเรียกมาว่า เมียเจ็บท้องจะคลอดลูก ลูกชายก็กระโดดน้ำว่ายข้ามคลองไปหาเมียเสียแล้ว ลูกอย่างนี้คือลูกหลง
คือหลงไปว่าคนอื่นดีกว่าแม่ หลงเมียจนลืมแม่ แม่ป่วยต้องเอาเรือไปรับ
จึงมาเยี่ยมแม่ เมียเจ็บท้องก็ข้ามน้ำไปเองโดยไม่ต้องเอาเรือรับ ทั้ง ๆ
ที่แม่เจ็บจวนตาย เมียเพียงแค่เจ็บท้อง
3. ลูกเลิก คือลูกที่เบียดเบียนพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรก็จะเอาเสียให้หมด
เมื่อได้ข้าวของไปจนพ่อแม่หมดเนื้อหมดตัวแล้ว ลูกก็หายหน้าไป
ครั้นพ่อแม่จะพึ่งพาอาศัยบ้างก็ไม่ได้ มีความรังเกียจ
เลิกเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกันตอนหมดทรัพย์สมบัตินี่เอง
4. ลูกหลีก คือลูกที่เห็นแก่ตัวจัด เอาเปรียบพ่อแม่ เมื่อไม่มีเงินทอง
หรือขนมติดมือมาก็แวะบ้านพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรก็หยิบกินฉวยกิน ถือว่าเป็นบ้านพ่อแม่
มีอะไรก็หยิบเอาไป ถือว่าเป็นของลูก แต่พอตัวมีเงินทอง ทรัพย์สิน ก็หายหน้า
กลัวพ่อแม่จะไปเบียดเบียน มีขนมติดมือมาก็อุตส่าห์เดินหลีกบ้านพ่อแม่ไปเสีย
รีบหลีกหนีเอาไปฝากลูกเมีย จะแวะบ้านพ่อแม่ก็กลัวว่าจะต้องแบ่งให้พ่อแม่กิน
ลูกอย่างนี้เรียกว่าลูกหลีก
|
พอเทศน์จบเรื่องลูก 4 ลูก
คุณหญิงประจญปัจนึก ก็ยกมือขึ้นสาธุ ร้องว่า
"สาธุ หลวงพ่อเทศน์มีคติดีแท้
ๆ"
จะเห็นว่าการเทศน์ของหลวงพ่อนี้
เป็นเทศน์แบบปฏิภาณ เทศน์ให้เด็กฟังได้ เป็นอย่างดี เด็กก็ฟังกันรู้เรื่องดี
เป็นที่จับใจตั้งแต่ต้นจนจบ
พระที่เทศน์ได้อย่างนี้ ก็เห็นมีพระอริยสงฆ์อีกองค์หนึ่ง
คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
มีคนไปนิมนต์ว่า ให้เทศน์เรื่อง นักษัตร เพราะเขาฟังนายสั่งไม่เข้าใจ นายสั่งว่า ให้นิมนต์สมเด็จเทศน์เรื่อง "อริยสัจจ์" เขาก็ไปนิมนต์สมเด็จให้เทศน์เรื่อง "นักษัตร" เสีย สมเด็จท่านก็ไม่ว่ากระไร
ไปถึงบ้านก็เทศน์
"ชวดฉันว่าหนู ฉลูฉันว่าวัว
ไปตามลำดับ เอาธรรมะสอดแทรกและสรุปลงเป็นธรรมะ ว่า วันเดือนปีเคลื่อนคล้อยไป
คนก็แก่และเจ็บตายกันไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเวียนว่ายตายเกิด
เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ จะดับทุกข์ได้ด้วย การบำเพ็ญบารมี 10 ประการ จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ชาติสุดท้ายก็จะได้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี 10 ทัศ แล้วอุบัติเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ตายไปเกิดเป็นวิสุทธิเทพอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้วไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายให้เกิดทุกข์เวทนาต่อไป"
ท่านก็เทศน์เข้าเรื่องอริยสัจจ์จนได้
นี่คือแบบอย่างการเทศน์ของพระโสดาบันบุคคลผู้ได้ธรรมจักษุ
ได้ดวงตาเห็นแจ้งธรรมะปรุโปร่งตลอด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น