๑๔.
พรหมวิหารธรรม
พรหมวิหารธรรม
แปลว่าสถานที่อาศัยสถิตของพระพรหม
มีลักษณะ ๔ ประการคือ
๑. เมตตา รักใคร่อยากให้เขาเป็นสุข
๒. กรุณา สงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์
๓. มุทิตา ยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดี มีสุข
๔. อุเบกขา วางใจเป็นกลางได้ ในคนจนคนมี คนดีคนชั่ว มิตรและศัตรู
เหมือน พระพุทธเจ้าวางใจเป็นกลางได้ในระหว่างพระราหุล พระโอรส กับพระเทวทัต ผู้คิด ประทุษร้าย และช้างนาฬาคีรีที่วิ่งมาจะแทงพระองค์
ผู้ใดมีคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ อยู่ในจิตใจ
หัวใจของมนุษย์ผู้นั้นก็จะเป็นวิหารธรรมที่มาสถิตอยู่อาศัยของพระพรหม
(คำย่อว่า เม กะ มุ อุ) และมีคาถาว่า
นะ เมตตา, โม กรุณา, พุท มุทิตา,
ธา อุเบกขา, ยะ ไมตรี ฯ
เป็นคาถาเมตามหานิยม
น้ำใจของหลวงพ่อเงินนั้น ผู้ใกล้ชิดก็จะแลเห็นได้ว่า เป็นที่สถิตของพระพรหมได้จริงๆ เพราะหลวงพ่อมีน้ำใจเป็นพรหมวิหารจริงๆ
วง ศ์ญาติของหลวงพ่อ
กับลูกศิษย์และคนอื่นไกลที่ไปหา
หลวงพ่อมีน้ำใจต่อคนเหล่านั้นเสมอเหมือนกัน น้ำใจอันกว้างขวางดุจน้ำใจของพระพรหมนี้ แผ่ไปในคนทั้งหลายทั่วหน้า แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน หลวงพ่อเป็นพระที่มีเมตตาบารมีสูงมาก
“ฉันสอนคนไหนก็สอนด้วยเมตตา
ฉันแผ่เมตตาแก่ทุกคน
เจตนาดีต่อเขาอย่างแรงกล้า
จนเป็นเมตตานุภาพ น้อมจิตของเขาให้มีแต่ความภักดี เกิดความเชื่อถือ จิตของเขาก็อ่อนโยนลง เราจะบังคับจิตของเขาให้ไปทางไหนก็ได้ เรื่องอำนาจจิตนี้ฉันฝึกฝนมาแรมปี พอจะน้อมใจคนให้อ่อนลงได้”
“คนใดฉันสอนไม่ได้แสดงว่าคนนั้นมีกรรมหนัก ไม่สามารถช่วยได้
จัดอยู่ในจำพวกที่เรียกว่า
“เรียกไม่ลุกปลุกไม่ตื่น”
ต้องปล่อยไปตามยถากรรม”
เรื่องแผ่เมตตานี้หลวงพ่อพูดอยู่เสมอ
แม้แต่คนขนาดไอ้เสือ หรือโจร หลวงพ่อก็บอกว่า
“ก่อนนอนให้แผ่เมตตาไว้
โจรผู้ร้ายมันก็สงสารเรา
มันปล้นฆ่าเราไม่ลงหรอก “
“โจรจะปล้นจะฆ่าเรา
เราก็ว่า
น่าสงสารจริงเจ้าโจรเอ๋ย
ช่างโง่งมงายไม่รู้จักบาปกรรม”
“ถ้าพบนักเลงอันธพาล
เพ่งมองเราอย่างไม่พอใจ
แทนที่จะมองตอบด้วยสายตาที่กล้าแข็ง
คิดโกรธ คิดร้ายตอบ
เราก็นึกสงสารเขา คิดว่าเขาเป็นมิตรเรา
เขาคงจะเข้าใจผิดต่อเรา
จิตใจอันกล้าแข็งของเขาก็จะอ่อนลง
คลายความดุดันโหดเหี้ยมลงได้”
เรื่องนี้ผู้เขียนเชื่อว่าจริง
และการที่เราไม่คิดต่อสู้
และคิดประทุษร้ายตอบเขานั้น
เขาย่อมแพ้ภัยตัวเอง
เขาย่อมได้รับโทษรับภัยเอง
ผู้เขียนจำได้ว่า วันหนึ่งถูกนักเลงอันธพาลวัยรุ่นคนหนึ่งเขม่น เข้ามายืนเทียบอยู่สักพักใหญ่ แล้วพูดว่า “อ้ายหยั่งงี้
มันต้องเอาให้หัวแตก” แต่ข้าพเจ้าทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่หันไปมองเลย เขาก็ไม่รู้จะหาเรื่องอย่างไร
จีงเดินจากไป ต่อมาไม่กี่วัน
เขาคนนั้นก็ถูกตำรวจจับในข้อหาก่อคดีวิวาทและดูเหมือนไปตายเสียในคุก
ประจักษ์พยานในเรื่องเมตตาพรหมวิหารของหลวงพ่อเงิน
มีอยู่หลายเรื่อง จะขอนำมาเล่าสัก ๒- ๓ เรื่อง
ดังต่อไปนี้
๑.ไอ้สังข์
มีลิงตัวหนึ่งสีของมันค่อนข้างขาวเหมือนสีหอยสังข์ จึงทำให้หลวงพ่อเรียกมันว่า ไอ้สังข์
มันจะเป็นลิงของใครเอามาปล่อยหรือมาเองอย่างไร ไม่มีใครรู้ว่ามันมาแต่ไหน จะเป็นลิงเทวดาส่งมาส่งเสริมบารมีหลวงพ่อเงินหรือว่ามันรู้โดยสัญชาตญาณของสัตว์ว่าหลวงพ่อเป็นที่พึ่งได้ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ
อยู่ๆมันก็เข้ามาอยู่ในวัดดอนยายหอม
ทำให้ใครๆนึกไปถึงลิงในครั้งพุทธกาลที่มารับใช้ปรนนิบัติพระพุทธเจ้า หลวงพ่อเรียกมันว่า “ไอ้สังข์” เพราะสีขนของมันอ่อนคล้ายกับสีหอยสังข์
อ้ายสังข์เป็นลิงดีไม่เป็นลิงหยาบโลนเหมือนลิงอื่น
ใครจะไปจะมาก็ไม่แยกเขี้ยวหลอกหรือทำร้ายใคร
กินอยู่ก็ไม่ตะกละตะกราม ไม่สกปรก
ที่พิเศษคือมันรักหลวงพ่อมาก
ตื่นเช้ามันจะคอยจ้องดูว่าหลวงพ่อตื่นหรือยัง ถ้าเห็นหลวงพ่อตื่นขึ้นมามันก็จะดีใจ ตรงเข้าเกาะแข้งเกาะขา ส่งเสียงร้องเจี๊ยกจ๊าก เมื่อลุกศิษย์จัดสำรับภัตตาหารมาถวายหลวงพ่อ มันก็จะนั่งดูอยู่ห่างๆ
คอยระวังแมวจะเข้ามากินอาหารสำรับกับข้าวของหลวงพ่อ แมวตัวไหนเดินเข้ามาใกล้ๆ มันจะจับเหวี่ยงออกไปทันที ตัวมันจะนั่งไม่แตะต้องอาหารของหลวงพ่อเลย
ใครจะตีมันก็จะวิ่งเข้าไปหมอบอยู่ที่เท้าหลวงพ่อ
เรื่องที่ประหลาดอย่างยิ่งก็คือ ในวันพระ ๘ ค่ำ เห็นหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์เทศน์ มันจะเข้าไปนั่งอยู่ใกล้ๆ นั่งสองขา
ชูแขนขึ้นมือวางอยู่ที่ตัก
มองดูไม่ผิดกับคนแก่นั่งฟังเทศน์
มิหนำซ้ำยังหลับตาเสียด้วย
เวลาหลวงพ่อเดินไปไหน
ม้นจะติดตามไปส่ง
จนหลวงพ่อพ้นเขตวัด
หลวงพ่อต้องไล่มันกลับ
มันจึงจะกลับ
พอแดดร่มลมตก ตอนบ่ายๆ
มันจะขึ้นไปบนยอดต้นไม้ที่สูงสุดของวัด
มองไปต้นทางเพื่อแลเห็นสีเหลืองๆเดินมา
มันจำได้ว่าเป็นหลวงพ่อ
มันก็จะรีบลงจากยอดไม้ลงไปรอรับหน้าหลวงพ่อทันที บางทีมันเดินเข้ามาในกอหญ้าเห็นหางไวๆ หลวงพ่อไม่มองสบตามัน มันก็จะนิ่งเสีย พอหลวงพ่อร้องเรียกไอ้สังข์ มันจะรีบวิ่งแน่วเข้าไปกอดแข้งกอดขาดีอกดีใจไม่ผิดกับลูกที่ได้พบพ่อแม่ มันผูกพันจงรักภักดีหลวงพ่อเสียจริงๆ
ในที่สุดมันก็ป่วยเป็นไข้หวัด
คนเอายานัตถ์เป่ามันเข้า
มันสำลักน้ำตาไหลในที่สุดมันก็ตายไป
อ้ายสังข๋มันเกิดมาเป็นพยานประดับบารมีของหลวงพ่อในเรื่องเมตตาพรหมวิหารธรรมว่า แม้แต่ลิง
ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานมันก็ยังจงรักภักดีต่อหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อมีเมตตาต่อมัน
๒. ไอ้ขาว
สัตว์เดรัจฉานอีกตัวหนึ่ง
ที่เข้ามาเป็นสาวกประดับเมตตาบารมีของหลวงพ่อ
ก็คือ “ไอ้ขาว” มันเป็นแพะตัวผู้สีขาว
ก่อนที่แพะสีขาวตัวนี้จะมาปรากฎตัวอยู่ให้คนรู้เห็นนั้น คืนหนึ่งเวลา ๑ทุ่มเศษ หลวงพ่อได้ยินเสียงแพะร้อง จึงให้พระภิกษุในวัดเอาตะเกียงไปส่องดู
จนทั่วก็ไม่พบแพะที่ไหนสักตัวเดียว
รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง
จึงมีพระภิกษุจากต่างถิ่น ๒ รูป
เดินทางมานมัสการหลวงพ่อ
ได้นำแพะสีขาวมาด้วย ๑ ตัว
มีสีขาวบริสุทธิ์ทั้งตัว
กีบเท้าสีแดงเข้ม
รูปร่างสูงใหญ่กว่าแพะทั้งหลายที่เคยเห็น เมื่อมาถึงหลวงพ่อ เจ้าแพะขาวก็เดินเข้าไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อเพ่งมองดูมัน แพะขาวมันก็เพ่งมองดูหลวงพ่อ แล้วมันก็หมอบลงที่เท้าของหลวงพ่อ ใช้จมูกดมเท้าของหลวงพ่อคล้ายๆกับแสดงความจงรักภักดี หรือฝากตัวอยู่กับหลวงพ่อเป็นที่อัศจรรย์ พระภิกษุ ๒ รูปถวายแพะให้หลวงพ่อไว้ หลวงพ่อก็รับแพะไว้ แพะตัวนี้มันรักใคร่หลวงพ่อมาก หลวงพ่อเดินไปไหน
มันก็จะเดินตามไปเรื่อยๆ
แพะตัวนี้กลายเป็นสัตว์ประหลาดขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง เป็นแพะแสนรู้เข้าไปในกุฎิกินผลไม้หมด
แม้แต่กล้วยหอม กล้วยไข่ที่คนเอามาถวายพระ
ลูกศิษย์วัดต้องคอยไล่ทุบตี
มันก็วิ่งหนีไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ร้องห้ามว่า “ช่างมันเถอะ มันหิวมันก็กินมั่ง”
บางวันเจ้าแพะตัวนี้มันก็เข้ามาหมอบอยู่หน้ากุฎิตรงหน้าหลวงพ่อ เวลาใครมาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อนั่งรับแขก มันก็มาหมอบฟังคนคุยกับหลวงพ่อ บางทีเวลาคนเขาเปิดวิทยุฟัง
มันก็เดินแหวกคนเข้าไปนอนหมอบฟังวิทยุบ้าง
หลวงพ่อก็เอาผ้าปูมาให้มันรองนอนฟังอยู่ใกล้ๆ ลำโพงวิทยุเสียด้วย เจ้าแพะตัวนี้ก็เลยติดนิสัยชอบฟังวิทยุ ฟังดนตรีจากวิทยุเหมือนคน หลวงพ่อเรียกมันว่า “ไอ้ขาว”
แต่ต่อมาในหน้าแล้ง ทางวัดดอนยายหอม
ซึ่งแวดล้อมอยู่ด้วยทุ่งนาแตกระแหง ไม่มีหญ้าจะให้ไอ้ขาวกิน มันก็ผ่ายผอมลง หลวงพ่อจึงตัดสินใจยกให้พระทางเขตอำเภอกำแพงแสนไปเลี้ยง แพะขาวชื่อ
“อ้ายขาว”
ตัวนี้จึงเป็นสัตว์ประดับเมตตาบารมีของหลวงพ่อเป็นพยานถึงเมตตาบารมีของหลวงพ่ออีกเรื่องหนึ่ง
๓.ไอ้สำลี
เมื่ออ้ายสังข์ตายไป
อ้ายขาวเข้ามาแทนที่
เมื่ออ้ายขาวจากไป ก็มีสัตว์เดรัจฉานอีกตัวหนึ่งเข้ามาอยู่กับหลวงพ่ออีก คราวนี้มันเป็นสัตว์ใหญ่กว่าเดิม
ที่จริงสัตว์เดรัจฉานที่มาอยู่กับหลวงพ่อนั้น มันใหญ่ขึ้นตามลำดับ คือ ลิง แล้วก็แพะ
คราวนี้เป็นวัวตัวผู้สีขาวสะอาดรูปร่างสูงใหญ่ลักษณะงาม ที่น่าแปลกก็คือสัตว์ทั้ง ๓ ตัวนี้สีขาวหมด
คนที่นำวัวมาถวายหลวงพ่อชื่อ
จ่าเอม ทัศนงาม มีตำแหน่งเป็นพัสดี
เรือนจำจังหวัดนครปฐม หรือที่เรียกกันว่า เจ้าพ่อคุก
ท่านผู้นี้เดิมเป็นจ่าทหารอากาศ
เป็นนักบินมาก่อน
แล้วมาเป็นพัสดีเรือนจำ
นักโทษเรียกคุณพ่อกันทั้งคุก
จ่าเอมนำวัวตัวนี้มาถวายหลวงพ่อ
จะได้มาจากไหนก็ไม่ทราบ แต่มักจะเป็นธรรมเนียมของคนไทยสมัยโน้น ถ้าเห็นวัวตัวไหนมีลักษณะงาม
เป็นโคอุศุภราช คือเขางาม สีกายขาวสะอาด
อกใหญ่ หนอก(คือคอ) ใหญ่ สะโพกใหญ่ หางยาวเป็นพวง
เขาจะไม่เลี้ยงไว้ใช้งาน เขาจะถวายเป็นวัวพระ หลวงพ่อรับวัวตัวนี้ไว้ แล้วตั้งชื่อมันว่า “สำลี” มันเป็นวัวฉลาดแสนรู้
หลวงพ่อรักมันมาก
มันก็รักหลวงพ่อมากด้วย
ขณะที่มันกำลังและเล็มหญ้าอยู่
หากได้ยินเสียงหลวงพ่อเรียกชื่อมัน
มันจะเงยหน้าขึ้น
แล้วเดินเข้าไปหา
เวลาหลวงพ่อดุมันจะหยุดทันที
เวลาเด็กรังแกมัน
มันจะวิ่งเข้าไปหาหลวงพ่อ เวลาหลวงพ่อไปไหนมา
มันจะเข้าไปหา เอาจมูกดมกลิ่น แล้วก็เกลือกหน้าไปมาตามจีวรของหลวงพ่อแสดงความดีใจที่หลวงพ่อกลับมา
เวลาหลวงพ่อฉันเพลมันจะเข้ามายืนอยู่ใกล้ๆ
หลวงพ่อเอาช้อนซ่อมแทงขนมส่งให้มันมันก็จะกิน บางวันไม่มีขนมหลวงพ่อก็ปั้นข้าวสุกยื่นให้มันกิน มันก็กินก้อนข้าวสุก
อ้ายสำลีจึงกลายเป็นวัวประหลาดที่กินอาหารอย่างคน
แต่พอตกหน้าแล้ง
หญ้าในบริเวณวัดดอนยายหอมแห้งเหี่ยวตายหมด
หลวงพ่อจึงส่งมันไปให้นายเนียม
ด้วงพูล น้องชายของท่านเอาไปเลี้ยง
วันหนึ่งนายเนียมจับอ้ายสำลีเทียมไถ
อ้ายสำลีเผ่นโผนสุดแรง คันไถหักหมด
จะจับก็ไม่ยอมให้จับ นายเนียมต้องร้องปลอบว่า
“สำลีเอ๋ย มาม๊ะลูกม๊ะ กลับเข้าบ้านพ่อไม่ใช้งานเอ็งอีกแล้ว”
อ้ายสำลีได้ยินเสียงปลอบจึงยอมให้จับผูกเชือก
โดยเหตุที่อ้ายสำลีเป็นวัวสูงใหญ่
ลักษณะงาม กายสีขาว เขาจึงชอบใช้อ้ายสำลีแห่นาค เขาผูกผ้าสีแดงที่คอ ผูกกระดิ่ง ผูกลูกกระพรวน ดังโกร่งกร่าง เข้าขบวนแห่นาคมีกลองยาว
มีแตรบรรเลง อ้ายสำลีชอบมาก
ไม่เคยวิ่งหนีเลย เมื่อไปในงานบวชนาค
ก็มีพวกนักเลงเอาสุราบ้าง เอากระแช่บ้าง
น้ำตาลเมาบ้าง เหล้าบ้างให้อ้ายสำลีกิน
มันก็กิน อ้ายสำลีจึงกลายเป็นวัวดื่มน้ำเมาไปด้วย เวลามันเมามันก็ยืนนิ่งซึมอยู่ กว่าจะมาถึงวัดอ้ายสำลีก็หายเมา หลวงพ่อจึงไม่รู้ว่าไอ้สำลีขี้เมา
รายที่สี่ที่มาอยู่เป็นเครื่องประดับเมตตาบารมี
พรหมวิหารธรรมของหลวงพ่อเงินนั้น
ไม่ใช่สัตว์เดรัฉาน แต่เป็นสัตว์โลกผู้เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย อย่างหนึ่ง ซึ่งท่านเรียกว่า “สัตว์ประเสริฐ” คือสัตว์มนุษ์ ผู้มีใจสูง สัตว์โลกรายนี้เป็นชาวไทย มีนามกรว่า นายชื่น ทักษิณานุกูล เป็นเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นกับผุ้เขียน
เมื่อสมัยเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย นายชื่นคนนี้ รูปร่างแข็งแรง สันทัด
ถนัดทางหมัดมวยชกต่อย เรียนหนังสือเก่งพอประมาณ
ไม่น่าเชื่อว่าต่อมาเขาจะกลายเป็นนักเบียน
เขาเขียนชีวประวัติหลวงพ่อเงินไว้เป็นหนังสือเล่มโตมาก ชื่อ “หลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม”
แพร่หลายมากอยู่สมัยหนึ่ง
นายชื่น ทักษิณานุกูลคนนี้แหละ
เป็นลูกศิษย์ก้นกุฎิของหลวงพ่อ
เป็นลูกศิษย์ที่ถวายตัวเป็น” ลูกบุญธรรม “
ของหลวงพ่อ เดิมเขาเกิดในตระกูล
“บัวโต” ต่อมาเขาใช้นามสกุลว่า
“ทักษิณานุกูล” คือนามสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ
ตอนเป็น “พระครูทักษิณานุกูล” เจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม
นายชื่น ทักษิณานุกูล
คนนี้แหละเป็นคนใกล้ชิดหลวงพ่อ
รู้จักหลวงพ่อดีที่สุด และก็เป็นคนมีการศึกษาดี เขียนหนังสือเป็นพอที่จะเขียนประวัติหลวงพ่อเงินให้คนอ่านได้ เขาจึงได้เขียนประวัติของหลวงพ่อเงินขึ้น
ทำให้คนทั้งหลายได้อ่านและได้ทราบชีวประวัติและปฎิปทาศีลาจารวัตรของหลวงพ่อที่แท้จริง นับว่าเป็นบุญกุศลของทั้ง ๓ ฝ่าย คือ
ฝ่ายนายชื่นก็ได้ศึกษาอบรมตนไปด้วย
ในขณะที่เขียนประวัติของหลวงพ่อ
เพราะอานิสงค์ของการเขียนประวัติของพระสุปฎิปันโน สาวกสังโฆนั้น
เท่ากับเป็นการฝึกอบรมจิตของตนเองไปด้วยอย่างดีวิเศษ
เป็นการปฎิบัติงานเพื่อปฎิบัติธรรมอย่างหนึ่ง
เป็นการอุทิศตนต่อหน้าที่อันชอบธรรมอย่างหนึ่ง เป็นการเพ่งพินิจปูชนียบุคคล เป็นการบูชาผู้ที่ควรบูชาอย่างหนึ่ง
เป็นการอุทิศตนเพื่อพระผู้เป็นเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจไม่หวังผลตอบแทนประการหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเรื่องนี้ก็ปฎิบัตตนเช่นเดียวกับนายชื่นนั่นเอง
บุญกุศลประการที่สองก็คือ
หลวงพ่อเองที่ได้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนามาตลอดชีวิตนั้น ไม่ลี้ลับดับสูญ ยังปรากฎเป็นสัจธรรม คือความจริงอยู่
อย่างน้อยก็ในใจของลูกศิษย์
อย่างน้อยก็ในบรรณโลก เพื่อผู้เกิดมาภายหลังจะได้เดินตามรอยเท้าไป
บุญกุศลประการที่สาม
ก็คือคนอื่นคนไกลที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า
ไม่เคยได้ยินชื่อ (เพราะเกิดมาไม่ทัน)
จะได้พบได้รู้จากหนังสือชีวประวัติที่นายชื่นได้เขียนขึ้นนั้น จะได้รู้แท้แน่แก่ใจว่า พระสุปฎิปันโน (พระผู้ปฎิบัติดี) พระอุชุปฎิปันโน (พระผู้ปฎิบัติงดงาม) พระญายปฎิปันโน
(พระผู้ปฎิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม)
พระสามีจิปฎิปันโน (พระผู้ปฎิบัติด้วยความจงรักภักดีต่อพระรัตนตรัย )
นั้น มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หลวงพ่อเงิน
วัดดอนยายหอม
“พระอาจารย์ดี ย่อมมีลูกศิษย์ดี”
“ดูต้นไม้ให้ดูดอกผล”
“ดูคน ให้ดูลูก”
“ดูครู ให้ดูศิษย์”
คำกล่าวนี้เป็นความจริงแท้
แม้แต่คำว่า
ดูเจ้านายให้ดูไพร่พล
ดูแม่ทัพให้ดูทหาร
ดูพระราชาให้ดูอำมาตย์ราชเสนา ดูหัวหน้าให้ดูลูกน้อง ดูสมภารให้ดูพระ ดูอาจารย์ให้ดูลูกศิษย์
เป็นความจริงพิสูจน์ได้จากหลวงพ่อเงิน ความเมตตากรุณาของท่านก็ดี การทรงศีลทรงธรรมของท่านก็ดี ดูได้จากลุกศิษย์ของท่านที่พูดที่เขียนไว้นั้น ความดีความงามของท่านนั้น
ถ่ายทอดลงในหัวใจของลูกศิษย์
ลูกศิษย์จึงเกิดความบันดาลใจเขียนสดุดียกย่องสรรเสริญเอาไว้ ซึ่งอาจารย์ที่ไม่ดีถึงระดับแล้ว จะไม่มีลูกศิษย์เช่นนี้เลย
เพราะเมื่ออาจารย์ยังมีชีวิตอยู่นั้น เลี้ยงลูกศิษย์ไว้ก็ด้วยความเมตตา
ไม่ได้คิดไม่ได้หวังว่าลูกศิษย์ของท่านจะเขียนชีวประวัติออกเผยแพร่แก่มหาชน แต่ว่าลูกศิษย์มันเกิดความเคารพเลื่อมใส เกิดความบันดาลใจจากเมตตาบารมี และคุณธรรมความดีอื่นๆ
ทำให้เขาคิดเขียนชีวประวัติพระอาจารย์ออกเผยแพร่แก่มหาชนด้วยความเลื่อมใสศรัทธา
ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า
พระอาจารย์ที่ดีถึงระดับหนี่ง
ถึงจุดหนึ่ง
จึงจะมีลูกศิษย์ชนิดนี้ได้
ถ้าไม่ดีถึงระดับก็ไม่มีลูกศิษย์ชนิดนี้
ลูกศิษย์อย่างนายชื่น
ทักษิณานุกูล
จึงเป็นประกาศนียบัตรแสดงคุณธรรมความดีของอาจารย์
เรื่องนี้ขอให้ดูได้ทุกวงการ
วงการเจ้านาย พระราชามหากษัตริย์
วงการข้าราชการ ทหาร ตำรวจ
วงการครูอาจารย์
วงการของศิลปิน
วงการของกวี วงการนักเขียน
นักประพันธ์
วงการของพระภิกษุสงฆ์
ถ้าครูอาจารย์ดีถึงขนาดดีถึงจุดหนึ่งแล้ว แน่นอนย่อมจะมีลูกศิษย์ดี
ลูกศิษย์ดีนั้นแหละจะเป็นผุ้รวบรวมเรียบเรียงผลงานของครูอาจารย์
พระพุทธเจ้า พระเยซูคริสต์ พระนามีมูฮัมหมัด ท่านนานัค แห่งศาสนาสิกซ์ ท่านไสบาบา
ศาสดาแห่งศาสนาฮินดู
ล้วนแต่มิได้เขียนชีวประวัติของตนเอง
ไม่ได้รวบรวมคำสั่งสอนของตนเองไว้เลยแม้แต่คนเดียว
พระอรหันต์ไม่เคยเขียนประวัติของตนเองไว้อวดใคร
ลุกศิษย์ทำ พระสาวกทำทั้งสิ้น
นายชื่น
ทักษิณานุกูล เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งเคยไปล่องแก่งทางแควน้อยแควใหญ่ ไทรโยค เมืองกาญจน์ เกิดอุบัติเหตุ แพแตก จมน้ำว่ายน้ำไม่ไหว จึงรำลีกถึงหลวงพ่อเงินเป็นที่พึ่งร้องว่า
“หลวงพ่อช่วยลูกด้วย”
แล้วก็หมดความรู้สึกไป ตื่นขึ้นมาพบตัวเองนอนอยู่บนหาดทรายชายตลิ่ง
เมื่อเดินทางไปถึงบ้านดอนยายหอม
ก็ไปกราบหลวงพ่อเล่าให้หลวงพ่อฟัง
“ฉันก็นึกถึง เห็นหน้าในญาณ”
หลวงพ่อพูดอย่างนี้กับนายชื่น ตรงกับวันที่นายชื่น ประสบอุบัติเหตุแพแตก
จมน้ำ
นายชื่นจึงยืนยันว่า
เขารอดตายเพราะหลวงพ่อช่วย
คนอื่นอาจจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งหรือไม่สนใจอะไร
แต่นายชื่น
ทักษิณานุกูล เชื่อถือในศรัทธาเต็มเปื่ยมอยู่ในหัวใจ เขาจึงเขียนหนังสือเรื่อง “หลวงพ่อเงิน
เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม”
นายชื่น ทักษิณานุกูล
เป็นศิษย์ก้นกุฎิเคยเรียนหนังสือร่วมชั้นกับข้าพเจ้า
ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย
มีนิสัยชอบชกต่อยไม่กลัวใคร จบมัธยม ๖ แล้วก็ออกมาเป็นตำรวจ
หลวงพ่ออยากให้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาเจริญรอยตามท่าน
นายชื่นก็ไม่มีอุปนิสัย
ลูกศิษย์อย่างนายชื่น ทักษิณานุกูล
นั้น ท่านเรียกว่า “อันเตวาสิก” (ศิษย์ภายในหรือศิษย์ก้นกุฎิ)
ส่วนลูกศิษย์อย่างข้าพเจ้า
เขาเรียกว่า “พาหิระวาสิก” (ศิษย์ภายนอก)
เพียงแต่ท่านเป็นพระอุปัชฌาชย์
จึงมีเรื่องเขียนได้ไม่มากนัก
ส่วนนายชื่น
ทักษิณานุกูลนั้น
เขารู้เรื่องหลวงพ่อมาก
ใครอยากรู้รายละเอียดต้องอ่านเรื่องที่นายชื่นเขียนไว้แล้ว
นายชื่น
ทักษิณานุกูลเขาเป็นลูกกำพร้า
เกิดมาไม่เคยเห็นหน้าแม่
เขาอยู่กับหลวงพ่อมาตั้งแต่จำความไม่ได้
เขาเล่าว่าเห็นเขามีแม่กัน
เมื่อเห็นผู้หญิงไปที่วัดก็เข้าไปหา
อยากจะเอาเป็นแม่ แต่หญิงคนนั้นก็ดุเอาเมื่อเขาเรียก
แม่
“ข้าไม่ใช่แม่เอ็ง” นายชื่นได้ยินก็น้ำตาหยดพรากแก้ม
นายชื่นจึงยึดเอาหลวงพ่อเป็นทั้งพ่อและแม่มาตลอดชีวิต
เขามีพี่ชายคนหนึ่ง ชื่อ ส.ต.ท.
ชอบ บัวโต เป็นตำรวจมือปราบคนหนึ่ง เคยยิงทิ้งหรือ “เก็บ” ผู้ร้ายมาแล้วหลายคน เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ตำรวจ เป็นมือปืนคนหนึ่งของ พล.ต.ท.ประชา
บูรณะธนิต
ผู้บัญชาการตำรวจสมัยนั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น