วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน ๑๓ สร้างโบสถ์คอนกรึตราคาล้าน

๑๓. สร้างโบสถ์คอนกรีตราคาล้าน
มีบางคนพูดเล่น ๆ ถึงสมภารเจ้าวัดว่า สมภารเจ้าวัดมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่ง "สมภารอาศัยวัด" ประเภทหนึ่ง "วัดอาศัยสมภาร"ความหมายก็คงจะเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่ชาวบ้าน
บางคนก็มีวาจาคารม ไปอีกอย่างหนึ่งว่า สมภารมี 5 ประเภท คือ หนึ่ง สมภารเสริม สอง สมภารสร้าง สาม สมภารเสก สี่ สมภารสวดห้า สมภารไสย
อธิบายความว่า สมภารประเภทหนึ่งนั้นซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์ บางองค์ชอบสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นทั้งหมด โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ เมรุเผาผี โรงเรียนปริยัติธรรม หอไตรหอระฆัง รวมทั้งคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ตัวอย่างก็เห็นมีอยู่ที่วัดไผ่โรงวัว ของหลวงพ่อขอม แห่งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ใครไปชมวัดนี้ก็ต้องยกมือขึ้นวันทาสาธุว่า หลวงพ่อขอมนี้คือสมภารสร้างโดยแท้จริง
สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้น เก่งทางสมถะภาวนา นิยมไปทางปลุกเสกเครื่องรางของขลัง โด่งดังมีชื่อเสียงไปอีกทางหนึ่ง
สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้น เก่งทางเทศน์มหาชาติ มหาพรหม ว่าแหล่เทศน์ได้เสนาะโสตดีนัก สมภารประเภทนี้สมัยก่อนมีมากเหมือนกัน แต่สมัยหลังนี้หาได้น้อยเต็มที น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน อันที่จริงเป็นวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเราอย่างหนึ่ง ควรจะรักษาไว้ ไม่น่าเกลียดน่าชังอะไร เพราะเป็นประเพณีของไทยเราแต่โบราณกาลมา เล่านิทานธรรมดา ฟังมันจืดหูนัก ก็ต้องแต่งเป็นกลอน ขับร้องเป็นเพลงเสภาจึงจะสนุกหู ถึงใจคน การเทศน์ธรรมดาก็เหมือนกัน มันจืดชืดนัก จึงต้องว่าเป็นทำนองเสนาะ เปลี่ยนทำนองเปลี่ยนลีลาไปตามท้องเรื่อง เช่นการเทศน์แหล่มหาชาติ เป็นต้น
สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้นคือสมภารไสย อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่า หมายถึงเก่งทางไสยศาสตร์ หรือเก่งทางไสยาสน์ แน่ ก็เอาเป็นว่ามีสมภารอยู่5 ประเภทดังว่ามานี้
อันที่จริงการเป็นสมภารเจ้าวัดนี้ ก็เปรียบเหมือนพ่อบ้านแม่เรือนต้องแบกภาระไว้จึงเรียกว่า "สมภาร" แปลความว่ามีภาระอยู่เสมอ ไม่หยุดหย่อน ไม่เว้นว่าง ต้องปกครองลูกวัด ต้องบำรุงรักษาวัด ต้องเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน นิมนต์ไปทำกิจทั้งงานขึ้นบ้านใหม่ แต่งงานจนกระทั่งสวดศพ เรียกว่าต้องเกี่ยวข้องกับชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตายทีเดียว
โดยเฉพาะงานการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือการก่อสร้างนั้น ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้พ้นไปได้เลยจริงๆ ถ้าทอดทิ้งวัดวาอารามทรุดโทรมไป เขาก็พูดว่า ยุคสมัยนี้วัดทรุดโทรมไปเพราะสมภารเจ้าวัดไม่เก่ง หรือไม่เอาธุระในการบริหารวัด แต่ถ้าหากว่าสมภารเจ้าวัด องค์ใดมุ่งทางการก่อสร้างมากไป โดยทำการเรี่ยไรชาวบ้านให้เดือดร้อน คนก็จะนินทาว่าร้ายเอาอีกเหมือนกัน สมภารเจ้าวัดที่ดีมีคนนิยมนับถือ จึงต้องเดินสายกลาง คือ การก่อสร้างโดยไม่เรี่ยไรให้ชาวบ้านเดือดร้อน สมภารองค์ใดจะเดินสายกลางนี้ได้เพียงใดนั้น เราก็ทราบๆ กันอยู่ทั่วไป
แต่หลวงพ่อเงินนั้น ท่านเดินสายกลางได้อย่างดี คือ ท่านทำการก่อสร้างได้เรื่อยมา แต่ก็ไม่ปรากฏว่าท่านทำการเรี่ยไรบอกบุญใครเลยไม่เคยออกฎีกาบอกบุญชาวบ้าน ไม่เคยแม้แต่จะออกปากขอให้ใครบริจาคเงินสร้างอะไรเลย แต่ก็น่าแปลกที่มีคนออกเงินให้ท่านทำการก่อสร้างได้มาตลอด ไม่เคยขาดสายเลย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านไม่เคยแตะต้องเงิน ไม่เคยเก็บเงินเองเลย ท่านรู้แต่จำนวนเงินที่มีอยู่ รู้แต่จำนวนค่าใช้จ่าย การเก็บเงิน การจ่ายเงิน การจัดซื้อการจัดจ้าง เป็นหน้าที่ของผู้อื่นทั้งสิ้น หลวงพ่อเงินจึงไม่มีราคีมัวหมองด้วยเงินเลย ทั้ง ๆ ที่ท่านชื่อเงิน นี่คือเรื่องแปลกประหลาดมาก
เมื่อ พ.. 2480 หลวงพ่อเงินได้เริ่มงานก่อสร้างอุโบสถ เป็นตึกคอนกรีต ราคาค่าก่อสร้างเป็นเงินถึง 1 ล้านบาทเศษ สมัยเงินแพง ถ้าคิดถึงค่าเงินในปัจจุบันนี้ (.. 2529) ก็คงตกราว 100 ล้านบาท
ในการก่อสร้างนี้ ชาวบ้านที่มีเงินก็บริจาคเงินตามกำลังฐานะ และกำลังศรัทธาของตน แต่ดูเหมือนว่าจะออกเงินบริจาคกันทุกคนทุกบ้านเรือน ด้วยความเต็มใจศรัทธา อยากจะทำบุญกับหลวงพ่อ อยากจะหว่านพืชลงในนาดีอย่างหลวงพ่อ ถึงแก่คิดกับพูดกันว่า
"ใครไม่ได้ทำบุญ กับหลวงพ่อในการสร้างโบสถ์ครั้งนี้แล้ว ก็จะเสียใจไปจนตายที่ได้ร่วมบุญร่วมกุศล เป็นญาติ กับหลวงพ่อ"
เงินทองจึงได้มาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย ออกเงินแล้วก็ไม่พอ ยังออกแรงไปช่วยกันขุดอิฐจากเจดีย์เก่าที่เนินพระ ซึ่งอยู่ห่างวัดไปประมาณ 10 เส้นเศษ ได้ขุดจากบริเวณที่ห่างจากตัวเจดีย์ เพื่อจะเอาอิฐมาถมพื้นฐานสร้างโบสถ์ ในการขุดครั้งนี้ได้พบพระพุทธรูปเนื้อโลหะ ปางปฐมเทศนาสูงประมาณศอกเศษ รูปทรงสวยงามหาที่ตำหนิมิได้ พบรูปกวางหมอบเหลียวหลัง สร้างด้วยหินสีเขียว พบสิ่งแกะสลักเป็นรูปกนกลายไทย พบรูปเสมาธรรมจักร พบพระพิมพ์ขนาดใหญ่แปดเหลี่ยม เนื้อหินสีเขียวตัวเสมาสลักลวดลายสวยงาม ชาวบ้านมีความหวาดเกรงในการขุดซากวัดเก่าแก่เช่นนั้น หลวงพ่อจึงถือโอกาสอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า
"รูปกวางหมอบและเสมาธรรมจักรนี้ เกิดขึ้นภายหลังที่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ชาวอินเดียแคว้นคันธารราษฎร์ ได้สร้างขึ้นเป็นที่เคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้ได้เทศนาสั่งสอนปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ มหานามะ ภัททิยะ อัสสชิ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพระพุทธศักราช 45 ปี ที่ตำบลมฤคทายวัน เมืองพาราณสี บัดนี้เรียกว่าตำบลสารนาท การเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าครั้งนั้นเรียกว่า แสดงพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร แปลว่า พระธรรมได้หมุนไปในโลกเหมือนล้อเกวียน หรือล้อรถพระธรรมจักรหมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกนั้นคือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่าวัน พระธรรม"
นี่คือตัวอย่างการเทศนาอย่างง่าย ๆ ปราศจากพิธีรีตอง ถูกต้องกับกาลเทศะ ของหลวงพ่อเงิน หลวงพ่อกล่าวต่อไปว่า
"เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่มาสู่เมืองไทย ก็ได้มาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครปฐม ตั้งแต่พระปฐมเจดีย์ลงมายังตำบลดอนยายหอม ด้วยตั้งแต่ครั้งกระโน้นเป็นเมืองชายทะเลเมืองนครปฐมเป็นเมืองอิสระเมืองหนึ่ง มีเจ้าปกครอง จึงมีการสร้างพระเจดีย์ สร้างพระธรรมจักรสร้างพระพุทธรูปขึ้น
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ครั้งพญากง ครองเมืองนครปฐม มีบุตรชื่อพญาพาน เมื่อเกิดมาโหรทำนายว่าจะฆ่าพ่อ พญากงจึงลอยแพไปตามลำแม่น้ำ ไปติดอยู่ที่หน้าบ้านของยายหอม ที่ตำบลนี้ยายหอมจึงเลี้ยงไว้ เติบโตขึ้นได้เรียนวิชามีความรู้ ได้เป็นทหารเมืองราชบุรี ได้ยกทัพมาตีเมืองนครปฐม ฆ่าพญากงตาย แล้วเข้าหามารดาคือมเหสีพญากง จะเอาทำภรรยา มารดาจำตำหนิได้จึงร้องบอก พญาพานไม่เชื่อ ไปสอบถามยายหอม ยายหอมก็บอกความจริงให้ฟัง พญาพานโกรธที่ยายหอมปิดบังไว้ จนต้องทำบาปฆ่าบิดาตาย โมโหหน้ามืดขึ้นมาจึงฆ่ายายหอมตายไปอีกคนหนึ่ง ภายหลังพญาพานได้พบพระอรหันต์ที่เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้สารภาพบาปที่ฆ่าบิดา และฆ่าแม่เลี้ยงตาย พระอรหันต์แนะนำให้สร้างพระเจดีย์สูงเท่านกเขาเหิน เพื่อล้างบาปกรรม เมื่อเจดีย์ราบลงเป็นหน้ากลองเมื่อใด พญาพานก็จะสิ้นเวรกรรม พญาพานจึงให้สร้างเจดีย์ไว้ 2 แห่ง แห่งหนึ่งที่เมืองนครปฐม เพื่อเป็นที่ระลึกและทดแทนคุณบิดา องค์หนึ่งสร้างที่ดอนยายหอม เพื่อระลึกถึงและทดแทนคุณยายหอม แล้วสร้างถนนจากนครปฐมไปสู่ตำบลดอนยายหอมด้วยเจดีย์ทั้ง 2 องค์ และยังมีอยู่จนทุกวันนี้ บ้านดอนยายหอมนี้เคยเป็นบ้าน เป็นเมือง มีวัดวาอารามเจริญรุ่งเรืองมาก่อน"
คำเทศนาของหลวงพ่อเงินนี้ ทำให้ชาวบ้านชาวตำบลดอนยายหอมปลื้มเปรม อิ่มอกอิ่มใจเพราะตรงกับตำนานที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันสืบ ๆ มา แล้วหลวงพ่อเงินก็มาเล่าซ้ำให้แลเห็นจริงจัง มีพยานหลักฐานยืนยัน คือเป็นพระเจดีย์ พระพุทธรูป เสมาธรรมจักร และกวางหมอบเป็นสักขีพยานอยู่ ไม่ใช่นิทานที่เล่าลือกันอย่างเลื่อนลอย หลวงพ่อได้ให้ชาวบ้านขนเอาพระพุทธรูปเสมาธรรมจักร และกวางหมอบ มาไว้ที่วัดดอนยายหอม อิฐก็ขนเอามาสร้างอุโบสถคราวนั้นด้วย
หลวงพ่อทำการก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่มาตั้งแต่ปี พ.. 2480 สร้างเรื่อย ๆ มาตามกำลังเงิน กำลังแรง และกำลังศรัทธาของชาวบ้าน จนถึงปี พ.. 2492 ถึงสำเร็จเรียบร้อยใช้เวลาสร้างถึง 12 ปีเต็ม จึงได้กำหนดให้มีงานผูกพัทธสีมา ปิดทองลูกนิมิตขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.. 2492 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในงานนี้ผู้เขียนได้มีบุญไปปิดทองลูกนิมิตในงานนี้ด้วย ผู้คนหลามไหลเนืองแน่นเหมือนน้ำไหลบ่าในฤดูน้ำหลาก บุคคลสำคัญที่เป็นประธานจัดงานครั้งนี้คือ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ท่านรัฐมนตรีผู้นี้นอกจากเป็นประธานในงานฝังลูกนิมิตวัดดอนยายหอมนี้แล้ว ยังได้สร้างพระประธาน ในอุโบสถวัดทัพหลวง ตำบลปีนเกลียวอีกวัดหนึ่ง เพราะท่านชอบคำว่า "ทัพหลวง"
ในงานฝังลูกนิมิตวัดดอนยายหอมนี้ หลวงพ่อเงินได้สร้างพระพุทธรูปองค์น้อย ขนาด 1 ซม. ขึ้นแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ไปทำบุญด้วย หล่อด้วยทองเหลืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิอยู่ในเรือนแก้ว หมายถึงพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้ว นับเป็นพระพุทธรูป หรือพระเครื่องรุ่นที่ 4 ที่หลวงพ่อสร้างขึ้น สร้างจากเศษทองเหลืองที่ชาวบ้านนำเอาขันทองเหลือง พานทองเหลือง เอามาถวายหลวงพ่อให้สร้างพระประธานในอุโบสถ เหลือเศษก็เอามาหล่อเป็นพระเครื่องรุ่นนี้ พระเครื่องรุ่นนี้จึงมีผู้นิยมกันมาก เพราะสร้างด้วยวัตถุทานอันบริสุทธิ์ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ และพิธีกรรมอันบริสุทธิ์ ผู้สร้างก็มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ร่วมสร้างก็มีศีลอันบริสุทธิ์ หลวงพ่อได้ควบคุมการหล่อเอง และทำพิธีพุทธาภิเษกในอุโบสถวัดดอนยายหอมนั้นด้วย
พระเครื่องรุ่นนี้มีจำนวนน้อย ผู้เขียนก็ได้รับแจกมาองค์หนึ่ง ยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกจนกระทั่งบัดนี้ เป็นเวลา 36 ปีแล้ว
พระเครื่องรุ่นนี้เป็นที่นิยมแสวงหากันมากจนกระทั่งบัดนี้มีผู้ทำปลอมขึ้นจำหน่ายในตลาดพระเครื่อง แต่ผู้ชำนาญย่อมดูออกว่า พระแท้ หรือพระปลอมที่มีคนทำพระเครื่องรุ่นนี้ปลอม ก็เหมือนพิมพ์แบงค์ปลอมนั่นแหละ คือเขาเห็นว่ามีค่า มีคนต้องการมาก เขาจึงทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่ายเอาเงิน เป็นพุทธพาณิชย์ชนิดปลอมแปลงสินค้า ถ้าหากไม่มีค่า ไม่มีคนต้องการ เขาก็คงไม่ทำปลอมขึ้นจำหน่าย
-(ตัด)เรื่องของหลวงพ่อเงินจะมีเรื่องเกี่ยวกับพระเครื่องหรืออภินิหารหรือประสบการณ์เกี่ยวกับพระเครื่องอะไรทำนองนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าท่านใดไม่สนใจก็ไม่จำเป็นต้องรับมาพิจารณาก็ได้นะครับ หรือถ้าผู้ดูแลเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะสมก็แจ้งเตือนมาได้ แล้วผมจะข้ามไปโดยยกมาแต่เนื้อหาที่ดีๆ ครับ
อ่านเรื่องราวของท่านแล้ว จะทำให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของพระได้ดีและละเอียดมากขึ้น ดังนั้นเวลาเจอพระท่านทำอะไร ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ชอบใจ ก็อย่าพึ่งด่วนตัดสินว่าไม่ดีไปซะก่อนนะครับ บางทีท่านอาจจะมีเหตุผลก็ได้ครับ
ป.ล. คือบางเรื่องถ้าเรามองผิวเผินจะนึกว่าพระบางท่านทำผิดพระธรรมวินัย แต่ถ้าศึกษาให้ละเอียดเจาะลึกลงไปบางอย่าง ก็มีข้อยกเว้นและต้องดูที่เจตนา ซึ่งเมื่อพิจารณาตรงนั้นแล้ว ก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วท่านก็ไม่ได้ทำผิดพระธรรมวินัยแต่อย่างใด ท่านยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอยู่ครับ

(แต่ถ้าเป็นโดยส่วนตัวแล้ว ผมจะค่อนข้างศรัทธาพระในสายของหลวงปู่มั่นมาก เพราะลูกศิษย์ของท่านส่วนใหญ่ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ แต่เรื่องราวของท่านใด ที่มีเนื้อหาหรือแง่มุมที่น่าสนใจ ผมก็จะพยายามนำมาลงเสนอเพื่อให้ทุกท่านได้ทราบเรื่องราวที่ดีมีประโยชน์ ดังเช่นที่ผมได้พบเห็นมาเช่นกันครับ)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น