หลวงพ่อเงินเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นนั้น
รูปร่างแข็งแรงสมบูรณ์สูงใหญ่ผึ่งผาย ผิวพรรณขาวสะอาด
หน้าตาจัดว่าเป็นชายหนุ่มรูปงามในตำบลนั้น แต่ก็เป็นการประหลาดอยู่ไม่น้อยที่ไม่มีนิสัยเจ้าชู้เลย
จึงไม่เคยมีคู่รักคู่ใคร่เหมือนหนุ่มชายคนอื่น ไม่ชอบเที่ยวเตร่ไปไหน เหล้าไม่ดื่ม
การพนันไม่เล่น อยู่แต่บ้านทำแต่งาน ทำอะไรก็เรียบร้อยประณีต
สะอาดเรียบร้อยทุกๆ อย่าง เรียกว่า ผู้หญิงสาว ๆ ก็สู้ไม่ได้ อาจารย์พรหมและนางกรอง บิดามารดา
จึงมักจะพูดอยู่เสมอ ๆ ว่า "เอาลูกสาว ๕ คนมาแลกก็ไม่เอา" มีความหมายว่า ถึงผู้หญิง ๕ คนรวมกัน
ก็สู้ลูกชายคนนี้ไม่ได้
ครั้นเมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ครบบวชแล้ว
บิดามารดาจึงได้จัดการบวชให้ตามประเพณี พ่อแม่และลูกชาย
มีความคิดตรงกัน คือบวชอย่างประหยัด ไม่จัดงานบวชอย่างเอิกเกริกมโหฬารอะไร
ไม่มีการแห่แหน ไม่มีลิเกฉลองเหมือนอย่างชาวบ้านทั่วไป เพียงแต่บอกญาติมิตรคนที่เคารพนับถือกัน
จัดเครื่องอัฐบริขาร แล้วก็พากันไปวัด เดินประทักษิณเวียนโบสถ์ ๓ รอบ
แล้วก็เข้าโบสถ์ ทำพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ สำเร็จเป็นภิกษุภาวะ
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลา ๑๘.๑๕ นาฬิกา พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า "จนฺทสุวณฺโณ" ตามตำราการตั้งฉายาตามวันเกิดของคนวันอังคาร วรรค
จ ฉ ช ฌ ญ พระอุปัชฌาย์
คือหลวงพ่อฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม
เป็นที่น่าแปลกอยู่ประการหนึ่งคือ
ในขณะทำพิธีอุปสมบทนั้น ได้เกิดลมพายุพัดอย่างแรง แล้วฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก คล้าย ๆ
กับว่าเทพยดาฟ้าดิน ก็พลอยปรีดาปราโมทย์ อนุโมทนาในการอุปสมบทของหลวงพ่อเงินด้วย
เมื่อบวชได้ ๑ พรรษา
ก็ท่องบทสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน ได้หมดสิ้น แล้วก็ท่องพระปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกนั้นเอง
เป็นที่โจษขานกันมาก เพราะคนสมัยนั้นนับถือกันว่าใครท่องพระปาฏิโมกข์ในพรรษาแรก พระภิกษุองค์นั้นปัญญาดี และมีบุญเก่ามาส่งเสริม
จะเจริญในทางพระพุทธศาสนา
วันหนึ่งเมื่อไปโปรดสัตว์ คือบิณฑบาตที่บ้าน
โยมบิดาก็พูดว่า
"คุณเงิน คุณอย่าจำวัดแต่หัวค่ำนัก
เป็นพระไม่ได้ทำไร่ทำนาก็ควรจะฝึกหัดให้อดทน"
หลวงพ่อเงินทราบดีว่า
โยมบิดาทราบเรื่องนี้ได้นั้นเพราะนั่งเข้าฌานเพ่งกสิณไปดูพระลูกชาย โดยฌานสมาบัติ
หรือที่เรียกว่า นั่งทางใน
ต่อมาไม่ช้า เวลาค่ำ อาจารย์พรหมก็มักจะไปหาพระลูกชาย
เพื่อถ่ายทอดวิชาเพ่งฌานสมาบัติให้
อาจารย์พรหมสอนพระลูกชายว่า
"จะเรียนวิชานี้ให้สำเร็จต้องประกอบด้วย ศรัทธา
– ความเชื่อมั่น วิริยะ - ความเพียรพยายาม ขันติ - ความอดทน สัจจะ - ความถือสัตย์ อธิษฐาน - ความตั้งใจแน่วแน่"
ขั้นแรกต้องมีความเชื่อมั่น (ศรัทธา)
ขั้นสองต้องพากเพียรปฏิบัติ (วิริยะ)
ขั้นสามต้องมีความอดทน (ขันติ)
ขั้นสี่ต้องมีสัจจะในใจว่า
จะต้องทำให้ได้เหมือนใจคิดและปากพูด ถ้าไม่สำเร็จก็ยอมเสียสละทุกอย่างได้ (สัจจะ)
ขั้นห้า คือ อธิษฐาน - ความตั้งมั่นในจิตใจ อ้างเอาคุณพระรัตนตรัย อ้างเอาคุณบิดามารดา
อ้างเอาคุณแห่งศีล คุณแห่งทาน มาตั้งมั่นในใจ เพื่ออธิษฐานให้สำเร็จ"
(อธิษฐาน)
เล่าให้พระลูกชายฟังว่า
"เมื่อโยมเรียนวิชากับพระอาจารย์นั้น ท่านหัดให้เพ่งดวงอาทิตย์ตอนเช้า
จนสามารถมองดูดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงได้ หลับตาก็มองเห็นดวงอาทิตย์ได้ นั่งสมาธิเพ่งดวงเทียนจับนิ่งอยู่ที่เปลวเทียน
จนเมื่อหลับตาแล้ว ก็ยังแลเห็นดวงเทียนสว่างอยู่ที่เดิม ให้นั่งที่ท่าน้ำ ใช้ดวงจิตเพ่งไปที่ผักตบชะวา
แล้วภาวนาให้ผักตบชะวานั้นนิ่งอยู่กับที่ ด้วยอำนาจกระแสจิตได้ เมื่อทำเช่นนี้ จึงจะสามารถเรียนวิชาสำเร็จได้"
หลวงพ่อเงินจึงฝักใฝ่ตั้งใจฝึกหัด
จนสำเร็จวิชาตามที่โยมบิดาสอนให้