วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๓๓ พระอริยสงฆ์


๓๓. พระอริยสงฆ์

     ขอให้ลูกศิษย์หลวงพ่อทุกคน จงเชื่อมันเถิดว่า หลวงพ่อจากไปก็แต่รูปกายเท่าน้ัน  หลวงพ่อดับแต่รูปเท่านั้น  ส่วนนามนี้ยังอยู่  นามที่ว่านี้มิใช่หมายถึงแต่ชื่อเสียงเกียรติคุณ ธรรมคุณของหลวงพ่อเท่านั้น 
     แต่มีความหมายในขั้นปรมัตถธรรมว่า  "จิต - เจตสิก - รูป - นิพพาน" ของหลวงพ่อโดยแก่นแท้
     หมายความโดยฮรรถาธิบายว่า
     หลวงพ่อเกิดมาในโลกนี้โดยรูปกายเป็นมนุษย์ ชื่อ หลวงพ่อเงิน
     หลวงพ่อมีดวงจิตอันแจ่มใสปภัสสรอยู่ภายในรูปกายนั้น 
     ดวงจิตของหลวงพ่อมี เจตสิก คือ กระแสความคิด  พลังจิต อำนาจจิต  ที่ประกอบด้วยคุณธรรม  คือ เมตตา กรุณา
     เมื่อลูกศิษย์รำลึกถึง ส่งดวงจิตไปนอบน้อมนมัสการด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใสด้วยความจดจ่อจริงจังจริงใจแล้ว  พลังงานจิตของหลวงพ่อย่อมจะตอบสนอง  คอยพิทักษ์ คอยอภิบาล คอยปกป้อง คอยคุ้มครอง  คอยป้องกันอุปัทวภยันตรายได้ทุกเมื่อ
     พระเครื่องที่หลวงพ่อสร้างทิ้งไว้ให้เป็นมรดกนั่แหละ  คือสือกลางระหว่างเรากับหลวงพ่อ  ใครมีไว้นำเอาติดตัวไปทกหนทุกแห่ง จะช่วยคุ้มครองป้องกันสรรพภัยให้แก่เรา
     หนังสือประวัติของหลวงพ่อเงินเรื่องนี้ จะทำให้เรามองเห็นรูปธรรมของหลวงพ่อแจ่มชัดขึ้นว่าหลวงพ่อเป็นอย่างไร  มีคุณธรรมอย่างไร
     เมื่อรำลึกถึงหลวงพ่อครั้งคราวใด ก็จะปลื้มใจ ที่เราได้เป็นศิษยานุศิษย์ของพระสุปฎิปันโน พระอุชุปฎิปันโน  พระญายปฎิปันโน พระสามีจิปฎิปันโน
     ๑. หลวงพ่อเงิน  เป็นพระสุปฎิปันโน เป็นพระผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ปฎิบัติเหมาะสม ปฎิบัติสมควรแ่กพระอริยเจ้า ผู้เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุ ปุถุชนจะดูเยี่ยงอย่างโดยแท้จริง
     ๒. หลวงพ่อเงิน  เป็นพระอุชุปฎิปันโน  พระผู้ปฎิบัติงดงามทุกอิริยาบถ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน เหลียว มอง พูด ฉัน
     ๓. หลวงพ่อเงิน เป็นพระญายปฎิปันโน  พระผู้ปฎิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตในการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปดประการ
     ๔. หลวงพ่อเงิน เป็นพระสามีจิปฎิปันโน  พระผู้ปฎิบัติด้วยความจงรักภักดีตอ่พระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างมอบกายถวายชีวิต  บวชจนตายในผ้าเหลืองแบบพระอริยสงฆ์เจ้าโดยแท้จริง

      คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้คือ คุณสมบัติของพระอริยบุคคลต้ังแต่ชั้่นพระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์  หลวงพ่อเงินมีคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ครบถ้วน พร้อมสรรพ  จึงเชื่อมั่นได้ว่าหลวงพ่อเงินเป็นพระอริยสงฆ์  
    สำหรับลูกศิษย์อย่างข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้ม่มีวิจิกกิจฉาเลยแม่แต่น้อย  เพราะวา่สามารถเขียนเรื่องหลวงพ่อได้เพียง ๑ เดือนจบอย่างอัศจรรย์  ประดุจแรงรังสีของหลวงพ่อมาดลบันดาลใจให้เขียนได้อย่างแจ่มใสในดวงจิต 
                                                                                        เทพ  สุนทรศารทูล
     
     

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอน บทกวีที่หลวงพ่อแต่งไว้


บทกวีที่หลวงพ่อแต่งไว้

๔๐. สักวาเกิดมาในชาตินี้
        เป็นโชคดีเกินกว่าจะหาไหน
        ได้ประสบพบธรรมอันอำไพ
        คำสอนในพุทธศาสน์ประกาศมา
        ไพเราะงามสามระยะคำพระตรัส
        เพื่อขจัดพัวพันด้วยตัณหา
        ได้แก่ศีลสมาธิและปัญญา
        คือมรรคาวิมุตติที่สุดเอย ฯ

๔๑. สักวาถ้าจะเอาตัวเรารอด
       อย่าอิดออดชักช้าล้าสมัย
       ทำเพียรกันทันทีแต่นี้ไป
       ความตายใกล้เข้ามาทุกนาที
       จะขอผลัดมัจจุราชมิอาจได้
       ความแก่ไข้ล้อมรั้วทั่ววิถี
       ใครจะรู้ว่ากายตายพรุ่งนี้
       คงไม่มีผู้ขันพนันเอย ฯ

๔๒. วันเอ๋ยวันเกิด
        ตรองดูเถิด น่าเบื่อ นั้นเหลือหลาย
        สองชีวิต     แทบปลิด  ออกจากกาย
       เหมือนแหวกว่าย กลางมหา ชลาลัย
       ได้รับทุกข์ เวทนา แสนสาหัส
        บุญบำบัด ให้รอด ปลอดตักษัย
        ถึงวันเกิด เป็นเหตุ สังเวชใจ
        ขออย่าได้ มีเกิด อีกเถิดเอย ฯ

๔๓. วันเอ๋ยวันตาย 
        ใจแห้งหาย เงียบเหงา เศร้าถอดศรี
        แต่ผู้ตาย กลับสบาย สงบดี
        ด้วยไมมี กรำกราก ให้ยากเย็น
        คนอยู่หลัง ตั้งแต่ จะแลลับ
        มิได้กลับ ทนทวบ มาพบเห็น
        เมื่อถึงวัน นั้นเข้า เหล่าคนเป็น
        ควรบำเพ็ญ บุญส่ง โดยตรงเอย ฯ

๔๔.โบราณกล่าวคำเตือนใจ สำหรับเวลาป่วยไข้ 
       (แต่งให้พระภิกษุสงฆ์อาพาธ ร.พ.สงฆ์)
       ๐คราใดรูปร่างนี้            โรคเบียน
          มีแต่ทุกข์อาเกียรณ์     เกลือกกลั้ว
          เจ็บปวดรวดร้าวเหียน  ห่อนห่าง เหินฤา
          คุมสติต่างเป็นรั้ว         รอบกั้น กันใจ

     ๐ ดวงฤทัยอย่าทดท้อ      ถดถอย
        สติมั่นปัญญาคอย         ควบรู้
        เวทนาอย่าให้ลอย        ถอดจิต  เชียวนา
        ยึดมั่นขันติรู้                  สุดสิ้น  ลมปราณ

     ๐ เวทนาปรากฎขึ้น         คราวใด
        กำหนดรู้ดูใจ                จดจ้อง
        เขาเกิดดับเป็นไป         ตามสภาพ  เขานา
        ห้ามจิตเลิกคิดข้อง       เกี่ยวด้วย  ตัณหา

     ๐ เวทนายั้งหยุดด้วย       ปัญญา
         เกิดประทับคือวิชชา    ชอบแล้ว
         ตัดกิเลสและตัณหา     หายขาด
         นั่นแหละคือดวงแก้ว    เก็บไว้  ส่องวิถี

     ๐ ตัณหาพาจิตให้            เวียนวน
        ดุจกระแสสายชล          ควั่งคว้าง
        นำสู่ปฎิสนธิ์                  ภพใหญ่  น้อยนา
        เพราะเหตุเวทนาสร้าง  ส่งเชื้อ  ตัณหา

     ๐ วัตรปฎิบัติเช่นนี้           คือบุญ
        ทั้งช่วยตัดวงหมุน        แน่แท้
        เพียงเพิ่มสติคุณ          ประโยชน์ใหญ่  นักนา
        จะชนะมารแพ้              พ่ายสิ้น  เสื่อมสูญ

     ๐ ยาว  ยืนอย่างมาก       ร้อยปี
        วา     หนึ่งร่างเรียวรี      ทั่วหน้า
        หนา  แน่่นและคลุกคลี  กิเลสท่วม  ทับนา
        คืบ    ย่างสู่ป่าช้า           เช่นนี้  ควรถวิล

     ๐ เวียน   วนทนทุกข์เร้า           รุมรัน
         ว่าย    แหวกสงสารอนันต์    เนิ่นช้า
         ตาย   ถมแผ่นดินพลัน         เพียบเพิ่ม  พูนแฮ
         เกิด    เปื่อยเหน็ดเหนี่อยล้า ห่อนรู้  ทำดี

๔๕. คำปรารภเรื่องการปฎิบัติธรรม
   ๐  คนโดยมาก  ยากแท้     มีแออัด
     หลงบัญญัติ  ติดสมมุติ ฉุดไม่ไหว
     ถอนบัญญัติ  ตัดสมมุติ  ให้หมดไป
     ญาณจะใส    เห็นชัด     อนัตตา
   
     ๐ ทั่วทุกสิ่ง       จริงอยุ่   มีคู่แน่
         แต่ปรวนแปร ควรนึก  หมั่นศึกษา
         มืดมีอยู่         คู่สว่าง  ต่างเวลาา
         สุขมีมา         หมดยุค  ทุกข์ก็มี

     ๐ โลกธรรม           แปดอย่าง  อ้างเป็นหลัก
         เหมือนป้ายปัก  บอกทาง    หว่างวิถี
         อย่ามัวเพลิน     เดินผิด       ติดโลกีย์
         จะเสียที            ลาภเลิศ     เกิดเป็นคน

     ๐ อันสังขาร   มารยา   ไร้สาระ
         มันปนปะ    เกิดดับ  อยู่สับสน
         เป็นอย่างนี้  มีมา      ในสากล
        ไม่ใช่ตน     หรือตัว   อย่ามัวเดา

     ๐ มีแต่ทุกข์        ปลุกปล้ำ  แสนลำบาก
        ต้องตรำตราก  นอกใน     ถูกไฟเผา
        หลงยึดถือ       ดื้อเห็น    ว่าเป็นเรา
        ไม่่รู้เท่า           ธรรมดา    จึงพางง

     ๐ ธรรมชาติ            อาจวรรค์     ปั้นประดิษฐ์
         ให้วิจิตร             รจนา           น่าลุ่มหลง
         คอยหลอกลวง   ออกห่าง     จากทางตรง
         อยู่ในวง             ไตรวัฎ       น่าอัดใจ

     ๐ ธรรมชาติ    ธรรมดา    สภาวะ
         ต้องรู้จะ      แจ้งหมด  ปลดสงสัย
         ไม่ใช่เรา    ไม่ใช่เขา  ไม่ใช่ใคร
          เหตุปัจจัย  สืบต่อ       ก่อให้เป็น

     ๐ ใช้ปัญญา      ผ่าแตก      แยกเป็นส่วน
         คิดทบทวน  ไตร่ตรอง    จะมองเห็น
         พบความจริง สิ่งเท็จ       เด็ดกระเด็น
         จะรู้เช่น         ชาติสังขาร ล้วนมารยา

     ๐ นามธรรม   ทั้งสี่       มีแต่ชื่อ
         จะยุดรื้อ     ดำด้น    เที่ยวค้นหา
          คงไม่พบ   แน่ชัด    ซึ่งอัตตา
          นามทั้งสี่    มีสา      ระเมื่อไร

     ๐ รูปธรรม      น้ันมี       ยี่สิบแปด
        มันติดแฝด  กับนาม  ตามวิสัย
        น้ันก็ไม่       ใช่เรา     จงเข้าใจ
        คือน้ำไฟ     ดินลม    ประสมกัน

     ๐ เมื่อธาตุแตก  แยกย้าย  ทำลายหมด
        โลกสมมุติ      เรียกว่า    ถึงอาสัญ
        แท้ก็ไม่          ใช่ใคร      วายชีวัน
        ความจริงน้ัน   รูปดับ       ไปกับนาม

     ๐ จงทำใจ          ให้ว่าง        อย่างอากาศ
         ใสสะอาด        แจ้งจบ      ภพทั้งสาม
         ว่าเหมือนไฟ   ไหม้ลุก     ทั้งคุกคาม
         จนเกิดความ    เบื่อหน่าย  คลายยินดี

     ๐ จะไปเกิด      เป็นอะไร     เหมือนไฟลุก
        ชาติคือทุกข์  ตัวร้าย        ควรหน่ายหนี
        เกิดเป็นเหตุ  นำทุกข์       มาคลุกคลี
        เกิดไม่มี        ทุกข์ดับ      ระงับไป

     ๐ คิดครวญใคร่    ใจตั้ง        หวังวิมุติ
        ต้องรีบรุด          ก้าวหน้า   อย่าไถล
        ปล่อยรูปนาม    ตามบท    หมดอาลัย
        จะพ้นภัย          ความเกิด  ประเสริฐเอย ฯ

๔๖. กบอยู่ในสระไม่ปะเกสร
๐ คนโมหะเป็นพืชย่อมมึดมิด
    อยู่ใกล้ชิดนักปราชญ์ยังขาดศีล
    ดั่งกบใกล้ปทุมาเป็นอาจิณ
    ไม่ได้กินยอดอ่อนเกษรบัว ฯ

๔๗. แมลงภู่อยู่ไกลได้เกสร
๐ แมลงภู่อยู่ไกลพอได้กลิ่น
    รีบรุดบินเคล้าคลึงจนถึงหัว
    เหมือนผู้มีปรีชาย่อมพาตัว
   ไปเกลือกกลั้วเมธาหารรสธรรม ฯ

๔๘. ยื่นแก้วให้วานร
๐ จะกล่าวธรรมวาทีอันมีค่า
    ต้องคิดหน้าดูหลังจึงสั่งสอน
    ไปสอนไพร่่ใบ้บ้าให้อาทร
     ดั่งวานรหรือจะปองทองมณี ฯ

๔๙. มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่
        ไม่มีเงินไม่มีทองพี่น้องไม่มี
๐ เรามีเงินเขานับรับเป็นน้อง
    เรามีทองเขานับรับเป็นพี่
    หมดเงินทองมองใครมไม่ใยดี
    ทั้งน้องพึ่พลอยหมดหายหดไป ฯ

๕๐. อย่าวางใจคน
๐ คนเดี๋ยวนี้มีมากหลายหลากล้ำ
   บ้างใจต่ำเตี้ยแท้สูงแต่หัว
   ทำอุบายหลายชั้นเข้าพันพัว
   จงเกลียดกลัวอย่าได้วางใจกัน

๕๑. อยู่ร่วมคนชั่ว  คือตัวทุกข์
๐ อยู่ปะปนคนพาลสันดานหยิ่ง
   ไม่รู้สิ่งหนักเบาเจ้าโทโส
   มีเคหาอาศัยถึงใหญ่โต
   อะพิโธ่คับแคบแทบจะครือ

๕๒. อยู่ร่วมคนดีย่อมมีสุข
๐ อยู่ร่วมกับบัณฑิตสนิทสนม
   มีอารมณ์วาจาน่านับถือ
   อยู่กระท่อมลอมฟางพอกางมือ
   นั่นก็คือเป็นสถานวิมานแมน

๕๓. ต้องการน้ำมันไปคั้นเอาแกลบ
๐ อยากมีเงินมีทองได้ครองบ้าน
    แต่เกียจคร้านท้อใจไม่ขยัน
   ไปขอลาภกราบไหว้ไทเทวัญ
   หาน้ำมันในแกลบก็แบบเดียว ฯ

๕๔.พายเรือในอ่าง
๐ คนอาภัพดับจิตคิดไม่โปร่ง
    ไม่ลุโล่งแจ้งชัดเพราะขัดสน
     เฝ้าเวียนนึกตรึกตราเข้าตาจน
     เหมือนเรือวนในอ่างหมดทางจร ฯ

๕๕. ถ่มน้ำลายรดฟ้า
๐ ถ่มน้ำลายหมายพ่นขึ้นบนฟ้า
    กลับถูกหน้าตัวได้ไม่ถลำ
    เช่นคนพาลหาญใจใช้ถ้อยคำ
    กล่าวทิ่มตำท่านที่ผู้มีคุุณ

๕๖. วิ่งนักมักล้ม
๐ วิ่งประจบรบเร้าให้เขาช่วย
    อยากร่ำรวยนับอนันต์เพราะตัณหา
    ยอมเสียเงินเสียทองของบรรณา
    คร้ันพลาดท่าวิ่งซมต้องล้มลง ฯ

๕๗ ฉันเป็นเหมือนต้นโสน
       ใหญ่โตอยู่ในหมู่ต้นหญ้า

๕๘. ฉันเป็นเหล็กขุดได้ในทุุ่งนาตำบลดอนยายหอม
        ไม่ใช่เหล็กวิลาศมาแต่ไหน  แต่หมั่นใช้ หมั่นลับ
         หมั่นเก็บรักษาไว้  มิให้ขึ้นสนิม

๕๙. เป็นกุศลหนหลังสั่งสมไว้
        มีเชาวน์ฺไว แหลมคมสมศักดิ์ศรี
        เหมือนไม้หนามตามพันธ์ุของมันมี
        ไม่ต้องที่เซี่ยมแซมมันแหลมเอง ฯ

๖๐. มีวิชาถ้าไม่ใช้คงไม่เชี่ยว
       มีเฉลียวจึงอาจฉลาดได้
       ถึงสิบรู้ไม่สู้ที่เจนใจ
       เก็บรู้ไว้ขัดลิ่มสนิมกิน

๖๑. คราวบุญมาชะตาช่วยร่ำรวยคล่อง
       ทั้งเงินทองไหลหลั่งนับตั้งแสน
       เก็บไว้หนุนทุนรอนไม่คลอนแคลน
       ยามคับแค้นมีจ่ายได้คลายเบา

๖๒. คนรูปสวยรวยทรัพย์ แต่จิตใจต่ำ
       เหมือนดอกไม้ไร้กลิ่น สู้ดอกมะลิสีขาวไม่ได้

๖๓. คนเราจะอยู่ในโลกนี้ไม่เกิน ๑๐๐ ปี
       อย่าประมาทว่ายังหนุ่มสาวเรายังไม่ตาย
       ความจริงเราเกิดมาก็ตายแล้ว
       เพราะเวลากินอายุของเรา
      อายุของเราหมดไปตามกาลเวลา

๖๔. คนเราเกิดมาถ้าไม่ได้สร้างคุณงามความดีไว้
       แต่ขาติเกิดของเรา ก็เท่ากับเกิดมาเพื่อตายอย่างเดียว
       ตายแล้วก็สูญลับทับถมแผ่นดินไป

๖๕. คนเราเกิดมาสร้างคุณความดีไว้
        แม้จะตายไปแล้ว  ผลงานคุณงามความดีชื่อเสียง
        เกียรติยศก็ยังอยู่  ก็เท่ากับตายเพื่ออยู่ มันต่างกับเกิดเพื่อตาย
.
  ๖๖.   ชาติคือคนที่เกิดได้และตายได้
        ไม่ว่าจะเป็นคนชาติผิวขาวผิวเหลืองอะไรก็ตาม
        ต้องเกิดต้องตาย ต้องเจ็บป่วยเหมือนกัน
        เป็นชาติเดียวกันทั้งนั้น

๖๗. ใครชี้เกียจเป็นแมลงวัน
        ใครขยันเป็นแมลงผึ้ง

๖๘. ทำดีน้ันทำง่าย
        ทำชั่วน้ันทำยาก

๖๙. ผู้ใหญ่เป็นคนที่เขาเคารพนับถือ
        ต้องวางตัวให้เหมาะสม
        ต้องรู้จักปกครองคน
        ต้องรู้จักให้ความเป็นธรรมแก่คน
        ต้องรู้จักปิดปาก  ต้องรู้จักปิดตา ต้องรู้จักปิดหู
        มิฉนั้นจะเป็นคนหูเบา เจ้าอารมณ์ โลเล
        ถ้าให้คนอย่างนี้เป็นนาย
        ก็เท่ากับมีนายเป็นลิง

๗๐. คนโง่ก็เหมือนปลาที่หลงเหยื่อ

๗๑. เวทย์มนต์คาถาไม่มีคุณมีโทษในตัวของมันเอง
        อยู่ที่ใจคน รู้จักใช้ก็ได้คุณได้ประโยชน์
        ไม่รู้จักใช้ก็เกิดโทษ
        ไม่่ใช้ก็ไม่ได้คุณไม่เกิดโทษ

๗๒. จุดหมายปลายทางของชีวิต  คือพระนิพพานอันอมตะ  หมดทุกข์ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย


        อ่านแล้วก็คงจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลวงพ่อเป็นทั้งนักพูดโดยปฎิภาณแตกฉานในภาษา เป็นนักคิด
นักเขียน นักประพันธ์ นักกวีชั้นเลิศ ถ้อยคำภาษาสละสลวยกระชับแน่น  มองเห็นภาพพจน์ ถ้อยคำก็มีสาระ มีแก่นสาร มีถ้อยคำอันลึกซึ้ง หลวงพ่อแตกฉานในธรรมะ ใครอ่านแล้วคงจะไม่สงสัยเลยว่า  หลวงพ่่อเป็นพระอริยสงฆ์หรือไม่  ถ้าหากว่าเอาการละสังโยชน์ ๑๐  มาจับกับคุณธรรมของหลวงพ่อ  เป็นเครื่องวัดคุณสมบัติของพระอริยสงฆ์ดู  ก็จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อก็จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อเป็นพระอริยสงฆ์ องค์หนึ่ง
     

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

     
       
     



        

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๓๒ พระโพธิสัตว์คาถา



๓๒. พระโพธิสัตว์คาถา


     นโม โพธิสัตโต มหาสัตโต อวโลกิเตศวร
     มเหศวร ราเมศวร ปรเมศวร พิฆเณศวร นเรศวร สิเนศวร ทัพเพศวร พุทเธศวร สักกาเรหิ โสตถิสาโภ ชัยโย นิจจัง ชัยยะตุ ภะวัง สัพพะศัตรู วินาสสันติ สัพพะ ทุกขะวินาสสันตุ  สัพพภัยยะ  วินาสสันติ สัพพะโรคะ วินาสสันติ ฯ 

     ต่อไปนี้จะกล่าวสรุปคำสอนของหลวงพ่อเงิน  ที่ได้พูดได้เขียนไว้เท่าที่มีผู้จดจำไว้ได้   รวมทั้้งบทประพันธ์ บทกวี ทีหลวงพ่อแต่งไว้  
๑. รู้จักพอก่อสุขทุกสถาน
๒. กรรมเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานได้
๓. ถึงตัวเราตายแล้ว  กรรมที่เราทำไว้ยังเป็นมรดกที่ยังเหลืออยู่
๔. ถ้าหากรักลูกรักหลาน  รักญาติรักมิตร ก็อย่าประกอบกรรมชั่วอย่างใดเลย  เพราะมันจะตกทอดถึงเขาด้วย
๕. จงอย่าเป็นคนติด   จงเป็นผู้ก้าวหน้า
๖. การศึกษาเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้
     ความรู้เป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์
     การงานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์
     ทรัพย์เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข
     ความสุขเป็นยอดปรารถนาของบุคคล
๗. จิตหาญ ใจพ้นทุกข์  สุขด้วยธรรม
๘. การใช้จ่ายโดยไม่มีประโยชน์เลย  ก็เท่ากับประมาท ดูหมิ่นดูแคลนทรัพย์  ทรัพย์ก็จะค่อยๆหนีเราไปจนหมด  ถ้ารักทรัพย์จะมีมากมีน้อยก็จะมาอยู่เป็นคู่สุขไปกับเราไปตลอดชาติ
๙. คนกะพี้ คือไม่มีแก่น คือความดีที่น่าปรารถนา
๑๐. คนรกในบริษัท ถ้ามีคนชนิดนี้อยู่ในหมู่ใดคณะใด  หรือในประเทศใด ชาติใด  ก็จะรกหมู่รกคณะรกประเทศรกชาตินั้น  ที่สุดก็จะรกโลกนั่นเอง
๑๑. "เราย่อมไม่เล็งเห็น แม้ซึ่งธรรมข้อหนึ่ง  ชนิดอื่นที่เป้นไปเพื่อความฉิบหายอย่างใหญ่หลวง  เป็นเหตุยังอกุศล คือความชั่ว ซึ่งยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น   หรือยังกุศลคือความดี ซึ่งเกิดขึ้นแล้วให้เสือมไปรอบเหมือนกับความเกียจคร้าน   ดังนี้แลภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเกียจคร้านอยู่ในธรรมวินัยอันเราตถาคตกล่าวดีแล้ว  ผู้นั้นย่อมเป็นทุกข์"
๑๒. ถ้าบุคคลเกิดเกียจคร้านขึ้นเวลาใด  คุณสมบัติหรืออะไรอันมีอยู่ เป็นต้องวอดวายไปในเวลานั้น   คนที่มีความรู้ศิลปวิทยาเครื่องดำรงตน  ถ้าเกียจคร้านไม่หมั่นฝึกฝนซักซ้อม  หรือประกอบใช้อยู่เนืองนิจ ความรู้ก็ต้องวิปริตเลอะเลือนเสื่อมคลายจนใช้การไม่่ได้ สมดังนัยพระพุทธภาษิตว่า อสชฺฌาย มลามนฺตา มนต์คือความรู้ทั้งหลาย เป็นมลทินเลอะเลือน  เพราะไม่สังวัธยาย  คือไม่ฝึกซ้อมประกอบใข้อยู่เสมอๆ
๑๓. เชื่อเถอะว่า  คนที่มาลักของๆเราไป  เขาเตรียมตัวไว้สำหรับไปเกิดเป็นบริวารของเราในชาติหน้า ฉันกลัวอย่างเดียวว่า เราจะยากจนไม่มีอะไรจะให้เขาลักขโมยเท่านั้น  ชาติหน้าเราก็จะไม่มีบริวาร เพราะกรรมมันไม่แต่งให้เขามาเป็นบริวารของเรา
๑๔. สังขารคือร่างกายนั้น ก็เหมือนรถยนต์  คนขับก็เหมือนจิต  ถ้าคนขับดี  รถยนต์ก็ปลอดภัยดี  ไม่คว่ำ ไม่ชน ไม่ตกเหว คนขับไม่ดีก็มีอันตราย ฉันใดฉันนั้น  สังขารร่างกายของเรา ซึ่งมีจิตเป็นผู้ขับ  ถุ้าใครจิตไม่ดี ก็อาจจะพาสังขารไปเป็นอันตราย
๑๕. กายยนต์ผุพังชำรุด  จิตก็ต้องไปหากายใหม่ขับขี่ เหมือนคนขับรฃถ เมื่อรถชำรุดผุพังใช้การไม่ได้แล้ว ก็ต้องทิ้งเป็นเศษเหล็ก กระเสือกกระสนไปหารถคันใหม่ขับแทน  ถ้าผู้นั้นมีเงินมีทรัพย์ก็สามารถหารถดีๆ มาขับขี่่ได้อีก ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีทรัพย์ ก็ไม่มีรถคันใหม่มาใช้ หรือมีแต่น้อยก็ต้องหารถเลวๆ ราคาถูกๆ มาขับขึ่ อุปมาเหมือนจิตที่มิได้สร้างกุศลผลบุญไว้เลย  เมื่อออกจากกายยนต์คันเก่าไปแล้ว คือตายจากสังขารเก่า ก็จะหาสังขารใหม่ไม่ได้ หรือถ้าหากจะได้ ก็ได้สังขารเลว เช่นว่า ไม่สวยงาม ไม่แข็งแรงและขี้โรค  สามวันดีสี่วันไข้
๑๖. ธรรมะนั้นจะสอนให้ใครก็ต้องให้เขารับด้วย  ถ้าเขาไม่ยอมรับฟังหรือจดจำ เอาไปปฎิบัติด้วยศรัทธาความเชื่อถือ เพียงแต่เขานิ่งฟังเพราะยังมีความนับถือเท่านั้น  ธรรมะช่วยอะไรไม่ได้เลย เปรียบเเสมือนหนึ่งเราเป็นหมอ เขาเป็นคนไข้ บอกยาให้เขาต้มกิน เขาก็ไม่ต้มกิน  เราสงสารเขาอุตส่าหฺ์ไปต้มมาให้เขาก็ไม่กิน  เราสงสารกลัวเขาจะตายกรอกยาลงไปในปากเขา  เขาบ้วนทิ้งเสียฉะนี้แล้ว  จะไปช่วยคนไช้ได้อย่างไร  ก็ต้องปล่อยให้เขาตายไปตามกรรม
๑๗. ป่าในใจ คือ โลภโกรธหลง  ป่าทั้งสามอย่างนี้มีในใจของใคร ผู้น้ันก็จะกลายเป็นคนไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี  มีความป่าเถื่อน  ถึงกับสิงเอาความโหดร้ายเข้าไว้ในตน  ดุจเอาวิญญาณของเสือสิงห์สัตว์เดรัจฉานทีมีแต่ความดุร้ายไว้ในตน ปล้นฆ่า ลักขโมย ปราศจากคุณงามความดีและอภัยทานใดๆทั้งสิ้น
๑๘.หนอนดอกไม้  ก็ว่าเกสรดอกไม้อร่อยดี  หนอนในส้วมก็ว่าอุจจาระอร่อยหอมหวานดี
๑๙. ถ้าหากลูกเขาจะฆ่ากันเอง  ก็นึกเสียว่าเป็นกรรมเก่าของเขาทั้งสองสร้างกันไว้ไม่ดี เคยให้ทุกขืกันมาแต่ปางก่อน
๒๐. อย่าเกี่ยวแฝกมุงป่าพาฉิบหาย
       เงินทองของมีค่าอย่ามักง่าย
       ยามจนใครจะช่วยเจ้าก็เปล่าตาย
๒๑. ยามมั่งมีพวกพ้องนั่งมองหน้า
       ใครก็ว่าเราดีมีศักดิ์ศรี
       เมื่อยามจนแม้คนที่เคยรัก
       ก็ยังผลักเรากระเด็นเห็นหรือยัง
๒๒. ต้นไม้ก็เหมือนจิตมนุษย์เรา  ลิงบนต้นไม้ก็เหมือน ปาก นัยน์ตาและหู ถ้าต้นไม้ใดมีวานรท้ัง ๓ นี้ไว้ ไม่เชื่องซุกซนกระวนกระวายแล้วไซร้  ต้นไม้น้ันย่อมมีแต่ความอับเฉาตลอดเวลา
๒๓. การที่เหล็กจะมีสนิมหรือไม่  มันอยู่ที่สถานที่เก็บต่างหาก เหล็กดีๆ เอาไปแช่น้ำครำพักเดียวก็สนิมจับ
๒๔. การกระทำความดี  กระทำบุญกุศลอะไรๆ ขอให้กระทำด้วยเจตนาหรือความตั้งใจจริงๆ อยาทำตามๆเขาไป
๒๕. หนึ่งทำนาทำสวน  สองค้าขายหรือรับจ้าง  สามรับราชการ  ใครถนัดทางไหน ก็ต้ังใจทำเถอะ  ร่ำรวยไม่จนหรือ ได้มาก็รู้จักใช้ รู้จักเก็บ  อย่าใช้ในสิ่งที่ไมจำเป็น  แล้วตั้งตัวได้ทุกคน
๒๖. ๑. เคารพวิชาที่เราเล่าเรียนฝึกฝนมา ทำอะไรอย่าทำชุ่ยๆ ทำให้ดีขึ้นเป็นลำดับ
       ๒. ทำอะไรให้คนอื่นก็ต้องทำให้ดี ให้เรียบร้อยสวยงาม เหมือนทำให้กับตัวเราเอง
       ๓. เมตตาสงสารเขา อย่าขูดเลือดเนื้อกันนัก  เอาแต่พอสมควร
       ๔. ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น รักษาน้ำใจ รักษาเวลา  และรักษาคุณภาพของกิจการไว้ให้ดีเสมอ
๒๗.ของขลังน้ันมันเกิดจากความตั้งใจ เมื่อเรามีความตั้งใจ รวมพลัง ๕ พร้อมกันเมื่อไร ก็เกิดพลังขึ้นเรียกว่า "พลธรรม"  ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา  สามารถประกอบกิจการใดๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้  นี่แหละคือความขลัง  คนเราถ้าขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องไปพึ่งพาสิ่งภายนอกแล้วก็ไม่ขลัง  ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่นายโต  จะทำนาค้าขาย จะม่ั่งมีทรัพย์สมบัติล้วนขึ้นอยู่กับพลธรรม ๕ นี้
๒๘. เจอของตกก้มิให้เก็บ  เพราะชาติหน้าต้องไปใช้หนึ้เป็นบริวารเขา
๒๙. เข้าไปในนา ก็ไม่ให้เหยียบข้าวของเขา  จะบาปต้องไปใช้หนึ้เขาในชาติหน้า
๓๐.ลักขโมยของเขาเป็นบาป   ชาติหน้าต้องไปใช้หนี้เป็นขี้ข้าเขา
๓๑. ทรัพย์สมบัติของสถานที่สาธารณะไม่ว่าอะไร  ถ้าเราเอามาละก็เป็นบาปทั้งน้ัน  แม้แต่ดินที่ติดอยู่กับฝ่าเท้า  เวลาจะออกจากวัดก็บาป  เพื่อป้องกันบาปขาเข้าวัด ให้นำดินมาถมวัดก้อนหนึ่ง  แม้จะเล็กเท่าลูกกระสุนหรือเล็กกว่าน้ันก็ยังดี
๓๒. หากมีอาวุธเข้าไปในวัด  จะเป็นมีด ไม้ หรือเป็นอย่างใดก็ตาม ต้องเอาผ้าปิดเสียให้มิดชิด แสดงคารวะสถานที่ธรณีสงฆ์ว่าเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์
๓๓. แม้จะเดินในวัดวา  ก็ต้องมีกิริยาเรียบร้อยสุภาพ นุ่งโสร่ง นุ่งหยักรั้งถกเขมนเข้าวัดนั้นไม่่ดี ไม่เคารพพระพุทธศาสนา ไม่เชิดชูพระพุทธศาสนา เป็นบาป  พูดจาในวัดก็ต้องระมัดระวัง  จะหยาบคายไม่ได้
๓๔. เข้าวัดเห็นโบสถ์วิหาร พระเจดีย์ ต้นโพธฺิ  ให้ภาวนาคาถาว่า
"วันทามิ อามาเม พัทธเสมายัง เจติยัง สัพพังสัพพฐาเน สุปะติฎฐิตัง สารีริกะธาตุ มหาโพธิง พุทธะรูปัง  สักการัง สทา วันทามิ พุทธัง สังฆัง วันทามิ ฯ"

๓๕. ขากลับออกจากวัดให้มองดู พบมูลฝอยสิ่งใดทำให้วัดสกปรก ต้องเก็บติดมือออกไปทิ้งนอกวัด การทำดังนี้ ลูกหลานจะได้บุญ ทั้งชาตินี้ชาติหน้า  จะมีร่างกายสะอาด สวยงาม ผิวพรรณผุดผ่อง
๓๖. พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อม  มิได้อยู่ที่มีวัดน้อยวัดมาก หรือมีคนบวชมาก อยู่ที่คนเข้าใจศาสนา มีการศึกษา มีการปฎิบัติอย่างถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญ
๓๗. เราพากันบวชเรียนเยอะแยะ แต่บวชแล้วมิได้เล่าเรียนศึกษา  หาความรู้ความเข้าใจหลักธรรม แล้วใครเล่าจะเป็นผู้ค้ำจุนศาสนา ก็เท่่ากับศาสนาของเรามีแต่เปลือก มีแต่กระพี้  หาแก่นสารอะไรมิได้
๓๘.ความดีที่เราทำแล้วเขาไม่รู้นี่แหละวิเศษนัก  เพราะเรารู้เองว่าเราทำดีหรือทำชั่วแก่เขา  ความสุขสบายใจเกิดจากใจของคนอื่นเมื่อไรเล่า มันจะสุขใจ ทุกข์ใจ ดีใจ เสียใจ ก็อยู่ที่หัวใจเราต่างหาก
๓๙. ในถิ่นกำแพงแสน  และวัดสามง่ามนั้น  ถ้าไม่มีพระอย่างหลวงพ่อเต๋อยู่ละก็  น่ากลัวคนไทยจะหันเข้าไปพึ่งโรงพยาบาลฝรั่งกันหมด นานไปศาสนาพุทธก็จะไม่มีใครนิยมนับถือ  เพราะเราไม่มีอะไรจะดึงดูด จูงใจให้เขานับถือ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ตอนที่ ๓๑ ตำแหน่งสมณศักดิ์



๓๑ ตำแหน่งสมณศักดิ์

     พ.ศ.๒๔๕๙   เป็นรองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม 
     พ.ศ.๒๔๖๖   เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม
     พ.ศ. ๒๔๗๒  เป็นพระครูปลัดของพระครูทักษิณานุกิจ   เจ้าคณะอำเภอเมือง 
     พ.ศ. ๒๔๗๓  เป็นเจ้าคณะตำบล
                           เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ 
     พ.ศ.๒๔๗๔   เป็นพระครูทักษิณานุกิจ  เจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม 
     พ.ศ. ๒๔๙๖   เป็นเผยแผ่ของจังหวัด 
     พ.ศ. ๒๔๙๗  เป็นพระธรรมวาทีคณาจารย์
     พ.ศ. ๒๕๐๕   เป็นพระราชธรรมาภรณ์
(โปรดติดตามตอนต่อไป)